'3 บิ๊กเทคจีน' ผนึก OpenAI และ Nvidia ของสหรัฐ ออก 'AI สแตนดาร์ด'ฉบับแรกของโลก

'3 บิ๊กเทคจีน' ผนึก OpenAI และ Nvidia ของสหรัฐ ออก  'AI สแตนดาร์ด'ฉบับแรกของโลก

'3 บิ๊กเทคจีน' แอนท์ กรุ๊ป, ไป่ตู้ และเทนเซ็นต์ ผนึก โอเพนเอไอ, ไมโครซอฟท์ และ อินวิเดีย ของสหรัฐ ออก "AI สแตนดาร์ด" 2 ฉบับแรกของโลก มาตรฐานและวิธีการทดสอบ-ความปลอดภัย

"AI สแตนดาร์ด" ฉบับแรกของโลก ที่ออกโดยบริษัทเทคโนโลยีของจีนและสหรัฐ นำโดย 3 บริษัทชั้นนำของจีนอย่าง แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group), ไป่ตู้(Baidu) และเทนเซ็นต์ (Tencent) ได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐ  เช่น  โอเพนเอไอ (OpenAI) , ไมโครซอฟท์ (Microsoft)  และ อินวิเดีย (Nvidia)  เพื่อเผยแพร่มาตรฐานสากล 2 ฉบับเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (Generative AI: GenAI) และ โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models: LLMs)

กลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้เผยแพร่มาตรฐาน 2 ฉบับ  ในระหว่างการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นในเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ดังนี้

  • มาตรฐานการทดสอบและตรวจสอบความปลอดภัยของแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์
  • วิธีการทดสอบความปลอดภัยของโมเดลภาษาขนาดใหญ่

โดยมาตรฐานสากลฉบับแรกที่ครอบคลุม GenAI และ LLM "โดยเฉพาะ" ซึ่งทั้ง 2 เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ขับเคลื่อน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทั้งใน  ChatGPT ของ OpenAI และ Copilot ของ Microsoft , Ernie Bot แชทบอท AI ของ Baidu รวมทั้ง LLM โมเดลภาษาของ Tencent และ Ant Group

จีนเขียน สหรัฐตรวจสอบ

มาตรฐาน GenAI ฉบับใหม่นี้เขียนขึ้นโดยนักวิจัยจาก Nvidia, Meta Platforms (บริษัทแม่ของ Facebook) และบริษัทอื่น ๆ โดยได้รับการตรวจสอบจากบริษัทต่างๆ รวมถึง Amazon.com, Google, Microsoft, Ant Group, Baidu และ Tencent

แนวทางของ LLM  เขียนโดยพนักงานของ Ant Group จำนวน 17 คน  และได้รับการตรวจสอบโดย Nvidia, Microsoft, Meta และบริษัทอื่น ๆ  พร้อมระบุวิธีการโจมตีที่หลากหลายเพื่อทดสอบความทนทานต่อการถูกแฮ็คของ LLM  

ตามรายละเอียดของเอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ WDTA (World Digital Technology Academy) ระบุว่า มาตรฐาน GenAI  นี้  กำหนดกรอบการทดสอบและตรวจสอบความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน GenAI

WDTA ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ภายใต้การดูแลของของสหประชาชาติ  มีวัตถุประสงค์เพื่อ “เร่งกระบวนการจัดตั้งบรรทัดฐานและมาตรฐานในโดเมนดิจิทัล” 

เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (GenAI) มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและถูกนำไปใช้งานโดยธุรกิจและผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อให้เทคโนโลยีนี้มีความปลอดภัย

แซม อัลท์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OpenAI กล่าวว่า การ "ลงทุนในความพยายามด้านความปลอดภัยแบบเต็มรูปแบบ" จะเป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญของบริษัท หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน หลังจากถูกปลดออกจากตำแหน่งไปช่วงสั้น ๆ

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2566 จีนกลายเป็นประเทศแรกที่ออกมาควบคุม GenAI และบริการที่เกี่ยวข้อง โดยออกกฎระเบียบที่กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องยึดมั่นใน "ค่านิยมสังคมนิยมหลัก" นอกเหนือจากข้อกำหนดอื่น ๆ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางการจีนได้อนุมัติให้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง รวมถึง Ant, Baidu และ Tencent เปิดให้ใช้งาน LLM เพื่อการค้า

ในขณะที่การควบคุมและออกกฎระเบียบเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่งจะมาบูมกับเทคโนโลยี GenAI แต่จริงๆ แล้ว มาตรฐานและกฎระเบียบระหว่างประเทศเกี่ยวกับ AI มีอยู่ก่อนแล้ว

ยูเนสโก องค์การของสหประชาชาติที่ดูแลด้านวัฒนธรรม ได้นำเสนอ “คำแนะนำว่าด้วยจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์” ในปี 2564 ซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 193 ประเทศได้ยอมรับ

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการมาตรฐาน (ISO) ซึ่งเป็นกลุ่มนอกภาครัฐที่ตั้งอยู่ในเจนีวา มีหน้าที่จัดทำมาตรฐานครอบคลุมสาขาที่หลากหลายตั้งแต่ความปลอดภัยในสถานที่ทำงานไปจนถึงความปลอดภัยด้านไอที ได้เผยแพร่แนวทางที่เกี่ยวข้องกับกี่ยวกับการจัดการระบบ การบริหารความเสี่ยง และระบบที่ใช้เครื่องจักร การเรียนรู้ ระหว่างปี 2565 ถึง 2566

อ้างอิง scmp