สาระและข้อคิด คดีสตรีสวิสชนะรัฐบาล | ไสว บุญมา

สาระและข้อคิด คดีสตรีสวิสชนะรัฐบาล | ไสว บุญมา

ท่ามกลางภาวะร้อนระอุเป็นประวัติการณ์ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ตัดสินให้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์แพ้คดีที่กลุ่มสตรีอาวุโสยื่นฟ้องเมื่อ 9 ปีก่อน แต่ผลในเชิงปฏิบัติจะเป็นอย่างไรยังไม่มีความแน่ชัด

คดีเกิดจากสตรีสวิสกว่า 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกิน 70 ปี กล่าวหารัฐบาลว่าไม่ดำเนินนโยบายตามกติกาสำหรับป้องกันมิให้ภูมิอากาศร้อนขึ้นไปจนเป็นอันตรายโดยเฉพาะแก่พวกตน ความบกพร่องของรัฐบาลเป็นการละเมิดสิทธิของสตรีสูงวัยในด้านการมีสุขภาพที่ดีและการมีชีวิตที่ยืนยาว

ศาลตัดสินให้ฝ่ายผู้ยื่นฟ้องชนะเนื่องจากประเมินว่า มาตรการของรัฐบาลในด้านลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะโลกร้อนไม่เป็นไปในระดับที่ควรจะเป็น 

คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์เนื่องจากศาลตัดสินคดีเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเป็นครั้งแรก ตามกติกาของศาลระหว่างประเทศแห่งทวีปยุโรปอันสำคัญยิ่งแห่งนี้ การตัดสินถือเป็นการสิ้นสุดของคดี รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ และศาลในประเทศสมาชิกต้องรับไปพิจารณาใช้เป็นบรรทัดฐาน

ศาลมีสมาชิก 46 ประเทศและตั้งอยู่ในฝรั่งเศส ในระหว่างรอการตัดสินคดีเมื่อวันอังคาร มีชาวยุโรปทุกวัยที่สนใจในด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชนเดินทางไปรับฟัง รวมทั้ง “เกรตา ธันเบิร์ก” เยาวชนชาวสวีเดนซึ่งเริ่มรณรงค์ให้รัฐบาลดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ครั้งเธอยังเป็นเด็กแรกรุ่น

คดีก่อให้เกิดข้อคิดหลากหลาย เริ่มจากกลุ่มสตรีอาวุโสชาวสวิสกว่า 2,000 คนผู้ยื่นฟ้องและติดตามคดีจนถึงวันตัดสิน แม้จะใช้เวลาถึง 9 ปีก็ตาม สตรีกลุ่มนี้มองตัวเองว่ามีค่าและน่าจะมีบทบาทต่อไปแม้จะสูงวัยและคงไม่ได้รับผลดีก็ตาม 

มุมมองนี้ตรงข้ามกับของคนที่มองว่าตนชราแล้ว ควรจะพักผ่อนด้วยการนั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน หรือไม่ก็ช่วยเลี้ยงหลาน โดยไม่ตระหนักว่า การนั่งๆ นอนๆ นั้นมีผลร้ายอย่างไรต่อตัวเองและสังคม 

การคิดในแนวนี้มีมากในหมู่ของผู้ที่ตีความหมายของคำคมที่ว่า “อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน” เพี้ยนไป ยิ่งกว่านั้น การเลี้ยงหลานแม้จะเป็นการดี แต่ถ้าผิวโลกมีความร้อนมากขึ้นจนเกิดผลเสียหายร้ายแรง ชีวิตของหลานย่อมประสบปัญหาสาหัส

เกรตา ธันเบิร์ก อายุ 21 ปี มีประสบการณ์ในด้านการต่อสู้กับรัฐบาลอย่างโชกโชน แม้จะถูกจับหลายครั้ง เธอก็ยังไม่ท้อถอย เป็นที่ประจักษ์ว่า เธอมีความคิดและกิจกรรมตรงข้ามกับเยาวชนผู้ก่นจ้องอยู่ที่หน้าจอโทรศัพท์แทบตลอดเวลา

เธอมีผู้ร่วมอุดมการณ์จำนวนหนึ่งซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ก็ไม่มากหากเทียบกับจำนวนเยาวชนกว่า 2.6 พันล้านคนผู้ซึ่งจะต้องอยู่บนผิวโลกต่อไปไม่ว่ามันจะร้อนขึ้นถึงในระดับตับแตกหรือไม่ก็ตาม

น่าตั้งข้อสังเกตว่า ผู้จุดประกายให้เกิดคดีและผู้ที่ไปร่วมรับฟังการตัดสินของศาลตามรายงานเป็นสตรี จึงมีคำถามว่า ผู้ชายหายไปไหนกันหมด? ในโลกยุคใหม่ ผู้ชายกลายเป็นช้างเท้าหลังและเป็นผู้ไม่ใส่ใจในความเป็นไปของภาวะรอบตัวโดยสัมบูรณ์แล้วหรือ?

หลังการตัดสินของศาลเผยแพร่ออกมา มีรายงานสั้นๆ ว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์แถลงว่ายังไม่ทราบรายละเอียดความเห็นของศาล แต่ประเด็นหลักอยู่ที่รัฐบาลจะทำอะไรต่อไปเนื่องจากอุทธรณ์ไม่ได้ในกรณีที่ไม่เห็นด้วย คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีก่อนที่กลุ่มสตรีเจ้าของคดีจะทราบผลงานอันแท้จริงของตน 

ชาวโลกคงหวังว่ารัฐบาลของประเทศก้าวหน้ามากเช่น สวิตเซอร์แลนด์ จะทำตามความเห็นของศาล ตรงข้ามกับรัฐบาลเผด็จการในประเทศล้าหลังซึ่งมักยึดหลักการทำงานที่ว่า ศาลตัดสินอย่างไรก็เป็นเรื่องของศาล รัฐบาล (จะทำอะไรก็ได้เพราะ) เป็นฝ่ายมีปืน

นอกจากนั้น ศาลและรัฐบาลในประเทศสมาชิกอีก 45 ประเทศจะนำผลของคดีไปใช้อย่างไร เป็นประเด็นสำคัญมาก แม้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์จะทำตาม แต่รัฐบาลอื่นไม่ทำ การป้องกันมิให้โลกร้อนขึ้นจนเกิน 1.5 เซลเซียสย่อมไร้ผล ยิ่งกว่านั้น แม้ยุโรปทั้งทวีปจะทำตาม หากประเทศนอกยุโรปไม่ทำ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ผลดีย่อมมีเพียงจำกัด

“ขอให้สุขภาพดีตลอดปีใหม่”