ทำไม 'จีน' ซื้อทองยาวต่อเนื่อง 17 เดือน จับสัญญาณแบงก์ชาติแห่ตุนทอง

ทำไม 'จีน' ซื้อทองยาวต่อเนื่อง 17 เดือน จับสัญญาณแบงก์ชาติแห่ตุนทอง

ทำไม 'จีน' เดินหน้าซื้อทองเพิ่มขึ้น 17 เดือนติดต่อกัน อะไรทำให้แบงก์ชาติจีนต้องวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย และการตุนทองจะยังไปต่อหรือไม่ในยุคราคาทุบสถิติ All-time high

ธนาคารกลางทั่วโลก เข้าซื้อ ทองคำสำรอง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากเรื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้ ราคาทองคำโลก พุ่งสูงทุบสถิติใหม่รายวันในช่วงนี้ 

ทว่าที่น่าจับตาเป็นพิเศษก็คือ "ธนาคารกลางจีน" (PBOC) ที่ซื้อทองในปริมาณ "มากที่สุด" และซื้อ "ต่อเนื่องยาวนานที่สุด" ในรอบ 17 เดือนมานี้ 

'จีน' ซื้อ ทองคำ มากแค่ไหน

จากข้อมูลของ สภาทองคำโลก (WGC) พบว่า แบงก์ชาติจีน เข้าซื้อทองคำสำรองต่อเนื่องมานับตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 มาจนถึงเดือนมี.ค.2567 โดยซื้อติดต่อกันทุกเดือนรวมแล้วเป็นเวลา 17 เดือน จากระดับราคาทองในตอนนั้นที่ยังไม่ถึง 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ มาจนถึงราคาที่ทะลุระดับ 2,300 ดอลลาร์/ออนซ์ ไปแล้วในวันนี้   

ณ สิ้นปี 2565 จีนมีทองคำสำรองอยู่ประมาณ 2,010 ตัน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,264 ตัน โดยส่วนใหญ่มาจากการซื้อเพิ่มในปีที่แล้ว เพียงปีเดียวถึง 225 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 1 ใน 4 ของแบงก์ชาติทั่วโลกที่ซื้อทอง 1,037 ตันในปี 2566

ส่วนในปี 2567 นี้แม้ว่าราคาทองจะแพงขึ้นทุบสถิติใหม่ All-time high ทุกเดือน แต่แบงก์ชาติจีนก็ยังคงซื้อต่อเนื่องทุกเดือนเช่นกัน เฉพาะ 2 เดือนแรกก็ซื้อไปประมาณ 22 ตันแล้ว 

ที่ผ่านมาอาจมีแบงก์ชาติหลายประเทศที่ทยอยซื้อตุนทองคำเก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อตุนในช่วงที่ทองราคาถูก และมีการเว้นช่วงบ้าง หรือขายออกไปบ้าง ไม่เหมือนจีนที่เป็นการซื้อติดต่อกันทุกเดือนมานานเกือบ 1 ปีครึ่ง ในช่วงที่ "ทองราคาแพง" และเป็นการซื้อในปริมาณสูง 

 

ทำไมจีนถึงเดินหน้าตุนทองคำ

โดยหลักแล้ว การซื้อทองคำของธนาคารกลางเป็นการกระจายสมดุลของทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปแบบหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินท้องถิ่น และลดความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์โลก และเงินเฟ้อ แม้ว่าทองคำจะยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในทุนสำรองก็ตาม

แต่ในกรณีของจีนนั้น บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องของความพยายาม "ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ" หรือ De-dollarization ทั้งในแง่การทำธุรกรรม และทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมาจากความเสี่ยงหลายด้านทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ไปจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ที่ผ่านมา จีนพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักในการทำการค้ากับทั่วโลก โดยมีทุนสำรองระหว่างมากที่สุดในโลกถึงกว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ (มี.ค.2567) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์ เช่น เงินสด เงินฝาก พันธบัตร และตั๋วเงิน และจีนยังถือครองตราสารหนี้สหรัฐมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น

ทว่า "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐกับจีนที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาจนถึงปัจจุบันในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และยังขยายวงไปถึงอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมสีเขียว ทำให้จีนเริ่มลดการพึ่งพาดอลลาร์ตลอดช่วงหลายปีมานี้ทั้งในแง่ของการทำการค้า และในแง่ของทุนสำรองฯ  

ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนก.พ.2565 ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนเห็นถึงการใช้มาตรการคว่ำบาตร และอายัดทรัพย์สินของรัสเซียอย่างแสบสันต์ รวมถึงการตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (Swift) ทำให้จีนที่มีทั้งประเด็นสงครามการค้ากับสหรัฐ และมีประเด็นร้อนเรื่องไต้หวัน ยิ่งต้องลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐลง 

จอห์น รีแอด หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดของ WGC เคยให้มุมมองกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กก่อนหน้านี้ว่า การคว่ำบาตรรัสเซีย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แบงก์ชาติหลายประเทศต้องมานั่งทบทวนอย่างรอบคอบเรื่องสินทรัพย์ที่ถือครองในทุนสำรองระหว่างประเทศ

จีนเริ่มทยอยลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐจนในเดือนพ.ค.2565 ลดลงเหลือไม่ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 และช่วงปลายปีเดียวกันในเดือนพ.ย.2565 แบงก์ชาติจีนจึงเริ่มการลุยซื้อทองเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 32 ตัน และยังคงทยอยซื้อต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะซื้อน้อยลงมากเพราะราคาทองที่แพงทุบสถิติใหม่ก็ตาม

การซื้อทองที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 17 เดือนติดต่อกันแม้จะเป็นช่วงราคาแพง และหลายประเทศทยอยเทขาย ยังสามารถสะท้อนว่าจีนดำเนินการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ และอาจดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วย โดยปัจจุบัน ทองคำยังมีสัดส่วนแค่ประมาณ 4% ของทุนสำรองฯ จีนเท่านั้น   

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์