'Trash to Treasure' นำพา 'สิ่งไร้ค่า' สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน | World Wide View

'Trash to Treasure' นำพา 'สิ่งไร้ค่า' สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน | World Wide View

กระทรวงการต่างประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการจีดการขยะล้น โดยเฉพาะขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ จึงได้จัดงาน Towards a Greener Future: Thailand’s Zero Waste Practices ขึ้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค. เพื่อรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะมห้เหลือศูนย์

ขยะ” เป็นคำเรียกของเสีย ของที่เราไม่ต้องการ หรือของเหลือทิ้ง เมื่อเราทิ้งขยะออกไปจากตัว ของเสียนั้นก็พ้นไปจากเรา แต่มันพ้นไปจากเราจริงหรือ

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี 2565 ขยะในประเทศไทยมีปริมาณ 25.7 ล้านตัน คิดเป็นวันละ 70,000 ล้านตัน หรือโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยสร้างขยะวันละ 1 กิโลกรัม/คน ขยะปริมาณมหาศาลเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกจัดการโดยการนำไปฝังกลบ ซึ่งต้องใช้พื้นที่มหาศาล และร้อยละ 35 ของบ่อฝังกลบมีการจัดการไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้มีน้ำเน่าเสียไหลซึมจากบ่อขยะเข้าสู่พื้นที่โดยรอบกองขยะ และปล่อยก๊าซมีแทนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลร้ายต่อชั้นบรรยากาศมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ปริมาณขยะมหาศาลและผลกระทบจากขยะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ไทย 

ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ซึ่งผู้บริโภคหันมาเลือกสั่งสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น ขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกจึงมีปริมาณสูงขึ้นมาก เมื่อขยะเหล่านี้ถูกทิ้งหรือหลุดรอดไปในทะเลก็จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลตามที่เราพบเจอในข่าวอยู่บ่อยๆ 

พลาสติกเหล่านี้เมื่อโดนความร้อน โดนน้ำนานๆ จะแตกตัวออกเป็นไมโครพลาสติก เมื่อแพลงตอนและสัตว์ทะเลกินไมโครพลาสติกเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร และโดยที่พลาสติกใช้เวลา 450 ปีในการย่อยสลาย พลาสติกเหล่านี้จึงกลับมาอยู่บนจานอาหารของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวมถึงไทยเห็นว่า ปัญหาจากขยะปริมาณมหาศาลเหล่านี้ควรได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี จึงได้เห็นพ้องให้วันที่ 30 มี.ค.ของทุกปีเป็นวันสากลแห่งการจัดการให้ขยะไม่เหลือไปยังบ่อฝังกลบ (International Day of Zero Waste) เพื่อรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะให้เหลือศูนย์ 

\'Trash to Treasure\' นำพา \'สิ่งไร้ค่า\' สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน | World Wide View

กระทรวงการต่างประเทศเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme: UN-Habitat) จัดงาน Towards a Greener Future: Thailand’s Zero Waste Practices ขึ้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีคณะทูตานุทูต หน่วยงานคู่ร่วมมือเพื่อการพัฒนา หน่วยงานภาครัฐ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่อง zero waste เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

\'Trash to Treasure\' นำพา \'สิ่งไร้ค่า\' สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน | World Wide View

น.ส. บุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงานร่วมกับผู้อำนวยการบริหารของ UNEP และรักษาการผู้อำนวยการบริหารของ UN-Habitat ซึ่งได้ส่งข้อความผ่านระบบออนไลน์ โดยรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การจัดการขยะและนำขยะมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุดนั้นสอดคล้องกับ Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model ที่ไทยให้ความสำคัญและยังส่งเสริมการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้หลายด้านพร้อมกัน 

ได้แก่ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 สภาพภูมิอากาศ และย้ำว่า การจัดการขยะให้เหลือศูนย์นั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน และทุกๆ วันควรเป็นวันแห่ง zero waste ไม่ใช่เพียงวันที่ 30 มีนาคมของทุกปีเท่านั้น

ติดตามตอนต่อไป... เราสร้างขยะกันทุกคนและทุกวัน ขยะมหาศาลเหล่านี้ไม่ต้องไปบ่อฝังกลบได้จริงเหรอ?