มองเมืองต่างมุม : แผนปฏิรูปสุขาแห่งชาติ

มองเมืองต่างมุม : แผนปฏิรูปสุขาแห่งชาติ

เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว หากใครชวนไปเมืองจีน 9 ใน 10 คนจะส่ายหน้าทันที เพราะไม่ว่าทิวทัศน์จะสวยงามแค่ไหน สินค้าจะราคาถูก เชิญชวนให้จับจ่ายใช้สอย มากเพียงใด แต่ต่างก็เข็ดขยาดเรื่องห้องน้ำ ที่ทั้งเหม็น สกปรก ไม่มีน้ำ ไม่มีประตู ไม่มีอุปกรณ์ชำระ เต็มไปด้วยกองสิ่งปฏิกูล

ปัญหานี้จีนได้รับเสียงสะท้อนจากทั่วโลก เท่าที่สืบค้นได้ ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีบทความทั้งในจีนเอง และจากประเทศต่าง ๆ นับหมื่นบทความวิพากษ์วิจารณ์ห้องน้ำของจีน ประกอบกับรัฐบาลเองก็เห็นว่าปัญหาด้านการสุขาภิบาล โดยเฉพาะห้องน้ำสาธารณะ

ไม่เพียงกระทบต่อเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ลามไปถึงชีวอนามัยของคนจีนเอง ที่ป่วยจากโรคติดต่อเกี่ยวกับสุขาภิบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยพบว่า ยอดเด็กเสียชีวิตจากโรคท้องเสียในขณะนั้นสูงกว่า 1.5 ล้านคนต่อปีทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา อินเดีย และจีน

 แผนปฏิรูปสุขาแห่งชาติ ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิงจึงเกิดขึ้น ในปี 2015 โดยบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน รับเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ โดยสี จิ้นผิงได้ลงมากำชับเรื่องนี้เองอย่างจริงจังถึงสองครั้งในการประชุมแห่งชาติ

ทำให้ห้องน้ำของจีนพลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งในแง่ของปริมาณที่ทำให้มีสุขาสาธารณะเพิ่มขึ้นกว่าแสนแห่งในเวลา 5 ปี และในแง่คุณภาพ ที่มีการแบ่งเกรดห้องน้ำเป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณนักท่องเที่ยวและประชากร

โดยระดับสูงสุดที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ นั้น กำหนดให้มีขนาดไม่น้อยกว่าห้องละ 5 ตร.ม. แผงกั้นต้องสูงถึงเพดาน อุปกรณ์ชำระต้องครบ และรูปแบบสถาปัตยกรรมต้องกลมกลืนกับแหล่งท่องเที่ยว ทั้งยังต้องมีห้องน้ำที่ไม่ระบุเพศ (Gender Neutral)

 

ถึงแม้ว่า ห้องน้ำระดับพรีเมี่ยมนี้จะยังมีสัดส่วนไม่มาก แต่ทั้ง 3 ระดับ ก็เป็นห้องน้ำที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย โดยคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติรายงานจำนวนห้องน้ำที่สร้างขึ้นตามหลักสุขาภิบาลทั้ง 3 ระดับ เพิ่มขึ้นจากปี 1993 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 7.5 เป็น ร้อยละ 80 ในปี 2016

หรือเพียงหนึ่งปีหลังจากสี จิ้นผิง ประกาศวาระสุขาแห่งชาติราวกับเนรมิต อีกทั้งยังมีเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ภายในปี 2030 ซึ่งไม่น่าเกินกำลังพญามังกรอย่างจีนแน่นอน 

    แผนปฏิรูปสุขาแห่งชาติของสี จิ้นผิง ได้รับงบประมาณตั้งต้น 20,000 ล้านหยวน หรือราว 100,000      ล้านบาทและในแต่ละปี จีนตั้งงบประมาณในการปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะ 7,000 ล้านหยวน หรือราว 35,000 ล้านบาท

โดยมองว่าเม็ดเงินงบประมาณที่มากขนาดนี้คุ้มค่า และสามารถชดเชยได้อย่างง่ายดายด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว และงบประมาณรายจ่ายที่ลดลงด้านสาธารณสุข ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากโรคที่เกิดจากปัญหาสุขาภิบาล

วันนี้จีนก้าวไปอีกระดับถึงขนาดให้เมืองชิงเต่า แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจีน เป็นท้องถิ่นนำร่องในการพัฒนาการจัดการสุขาในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership – PPP) รวมไปถึง ให้กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ร่วมกับ ไป่ตู้ (Baidu) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนพัฒนาแอปพลิเคชั่นแผนที่ห้องน้ำสาธารณะดิจิทัลสำหรับนักท่องเที่ยว

นอกจากจีนแล้ว ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก สืบเนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกต่างมาจากรากฐานอารยธรรมที่ใกล้เคียงกัน

ดังนั้น ในอดีตวัฒนธรรมทางสุขาภิบาลของคนรุ่นก่อนๆในญี่ปุ่นก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ภาพจำของห้องน้ำสาธารณะในเมืองหลวงของญี่ปุ่นอย่างกรุงโตเกียว ก็ไม่ต่างอะไรกับห้องน้ำสาธารณะในประเทศจีน

มองเมืองต่างมุม : แผนปฏิรูปสุขาแห่งชาติ

ห้องน้ำทรงลูกบาศก์กระจกโปร่งใส

 

โครงการ The Tokyo Toilet เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยใช้วิธีการ PPP ในการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนกับเมือง ซึ่งผสานเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และศิลปะ มาเป็นเครื่องมือในการจัดการห้องน้ำสาธารณะ

โดย โคจิ ยาไน ผู้บริหาร Fast Retailing (เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Uniqlo) เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากความรู้สึกที่ว่าโตเกียว ยังเป็นเมืองที่มีอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการ และจากความเชื่อของเขาที่ว่า “ห้องน้ำสาธารณะ หนึ่งในสถาปัตยกรรมสาธารณะที่เล็กที่สุด ก็สามารถเปลี่ยนโลก และทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มหัศจรรย์และไม่เหมือนใครได้เช่นกัน”

เขาจึงถือโอกาสเลือกใช้การพัฒนาห้องสุขาสาธารณะเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้พิการ แต่ขยายผลไปยังคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และถือเป็นโอกาสให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในการต้อนรับกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพด้วย 

“The Tokyo Toilet” ได้ฤกษ์นับหนึ่ง โดย มูลนิธิสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม Nippon Foundation ร่วมมือกับท้องถิ่นชิบูยะ ดำเนินการออกแบบและปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะ 17 แห่งใหม่ทั้งหมด โดยเขตชิบูยะถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของประเทศ และเป็นที่ตั้งของสถานีชินจูกุและชิบูยะอันโด่งดัง

สำหรับการออกแบบห้องน้ำแต่ละหลังนั้น โคจิได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาอาชีพมาช่วยกัน ทั้งสถาปนิก นักออกแบบผลิตภัณฑ์ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ นักตกแต่งภายใน ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ และอาจารย์มหาวิทยาลัย

ที่ระดมคนจากหลากหลายวงการขนาดนี้ เพราะเขาต้องการให้ Tokyo Toilet เป็นแลนด์มาร์คของญี่ปุ่น หรือถ้าจะใช้คำร่วมสมัยของไทยวันนี้ว่า “ซอฟต์พาวเวอร์แห่งสุขา” ก็คงจะไม่ผิดอะไร

เพราะห้องน้ำแต่ละแห่งมีลักษณะที่โดดเด่น แปลกตา ต่างจากห้องน้ำสาธารณะทั่วไป และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเทคโนโลยีที่นำมาใช้อำนวยความสะดวก และความหมายที่แฝงอยู่ในการออกแบบ

มองเมืองต่างมุม : แผนปฏิรูปสุขาแห่งชาติ

สถาปัตยกรรมรูปทรงกลมสีขาว

หากใครได้ไปโตเกียวในช่วงนี้ คงมีโอกาสได้พบจุดเช็คอินแห่งใหม่และตื่นตาตื่นใจกับห้องน้ำทรงลูกบาศก์กระจกโปร่งใส 3 ห้องเรียงต่อกัน ที่จะเปลี่ยนเป็นกระจกทึบเมื่อกดล๊อค เพื่อให้ผู้ใช้ได้สำรวจความสะอาด ก่อนตัดสินใจเข้าไปใช้ และสามารถตรวจสอบอันตรายภายนอกก่อนออกจากห้อง โดยห้องน้ำนี้ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ Yoyogi Fukamachi และ Haru-no-Ogawa ออกแบบโดย ชิเงรุ บัง เจ้าของรางวัล Pritzker Prize

หรือห้องน้ำในสวนสาธารณะ Nanago Dori ที่ออกแบบโดย คาซู ซาโตะ ที่เป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงกลมสีขาว ติดตั้งเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงเต็มรูปแบบ ลดการสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ

รวมถึง อีกหนึ่งห้องที่ออกแบบโดย นาโอะ ทามูระ ก็นำวิธีพับกระดาษห่อของขวัญแบบ “โอริงาตะ” ของญี่ปุ่นมาออกแบบรูปทรงอาคารสีแดงสด เปรียบเสมือนเป็นของขวัญที่มอบให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน

เป้าหมายระยะยาวของโครงการนี้ คือการสร้างมาตรฐานสุขาสาธารณะใหม่ ต่อยอดไปยังเมืองอื่น ๆ   โดยภายในเดือนมีนาคมนี้ ภารกิจในการบริหารจัดการ The Tokyo Toilet จะถูกถ่ายโอนให้แก่ท้องถิ่นชิบูยะดำเนินการต่อ ทำให้โครงการนี้กลายเป็นของเมืองอย่างเต็มตัว

ทั้งกรณีชิงเต่าของจีน และชิบูยะของญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายระหว่างท้องถิ่นกับภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาและพัฒนาบริการสาธารณะร่วมกัน

มองเมืองต่างมุม : แผนปฏิรูปสุขาแห่งชาติ

ห้องน้ำในสวนสาธารณะอาคารสีแดงสด

แน่นอนว่าปัจจุบันหน่วยงานราชการในหลายประเทศต่างเดินทางไปดูงานเรื่องการจัดการสุขาสาธารณะของญี่ปุ่นมากมาย แต่สำหรับจีนแล้ว ในอดีตคงไม่ใช่ประเทศยอดนิยมในการไปศึกษาดูงานของราชการไทยเป็นแน่ แต่หากต้องการไปดูงานจริงๆ (ไม่ใช่ดูงานเน้นสันทนาการ) โดยต้องการไปเพื่อศึกษาศักยภาพในการพัฒนาประเทศด้านการจัดการสุขาสาธารณะ รวมทั้งด้านอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

จีนถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ควรปักหมุด สำหรับหลักสูตรอบรมของสถาบันพระปกเกล้าในปัจจุบัน หากกำหนดให้มีการศึกษาดูงาน มักกำหนดให้ไปที่จีน ซึ่งอาจขัดใจผู้เข้าอบรมหลายคนอยู่บ้าง

แต่สถาบันเชื่อว่าองค์ความรู้ที่ได้ แม้แต่เรื่องที่เล็กแต่ไม่เล็กอย่างสุขา จะเป็นหนึ่งในกลจักรสำคัญให้รัฐไทย บรรลุแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่วาดหวังให้ GDP ด้านการท่องเที่ยว ต่อ GDP รวม เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ภายในปี 2570 ได้อย่างแน่นอน.

มองเมืองต่างมุม : แผนปฏิรูปสุขาแห่งชาติ
คอลัมน์ มองเมืองต่างมุม

อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล
สถาบันพระปกเกล้า