จับตาความยิ่งใหญ่ เลือกตั้งอินเดีย ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเกือบพันล้านคน !

จับตาความยิ่งใหญ่ เลือกตั้งอินเดีย ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเกือบพันล้านคน !

เปิด 5 ประเด็นที่เป็นความยิ่งใหญ่ของการ "เลือกตั้งอินเดีย" ประเทศที่ได้รับขนานนามว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปีนี้มีประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 1,000 ล้านคน !

"อินเดีย” ประเทศที่ได้รับขนานนามว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เตรียมจัดการเลือกตั้งในเดือนเม.ย. นี้ โดยจะจัดขึ้นเป็นเวลานานถึง 2 เดือนครึ่ง

สำนักข่าวอัลจาซีราห์ รายงานว่า ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของประเทศ ไปจนถึงทางตอนใต้บริเวณมหาสมุทรอินเดีย จากผู้คนในหุบเขาทางตะวันออกไปจนถึงทะเลทรายในตะวันตก และคนในเมืองใหญ่ไปจนถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ เมื่อนับรวมกันแล้ว คาดว่ามีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงราว 969 ล้านคน

กรุงเทพธุรกิจพามาส่องความยิ่งใหญ่ของการ “เลือกตั้งอินเดีย" ที่ทั่วโลกต้องจับตาดู !

เลือกตั้ง 84 วัน แบ่งเป็น 7 ช่วง

กระบวนการเลือกตั้งที่เริ่มต้นตั้งแต่วันเสาร์ (16 มี.ค.) จะดำเนินการทั้งสิ้นเป็นเวลา 82 วัน และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะแบ่งเป็น 7 ช่วง ตั้งแต่ 19 เม.ย. ถึง 1 มิ.ย. จากนั้นจะเริ่มนับคะแนนในวันที่ 4 มิ.ย. ซึ่งในระหว่างที่จัดการเลือกตั้ง รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ไม่มีสิทธิออกนโยบายใหม่ที่อาจหนุนการเพิ่มคะแนนเสียง

การเลือกตั้งที่แบ่งเป็น 7 ช่วง ได้แก่ วันที่ 19 และ 26 เม.ย., 7 13 30 และ 25 พ.ค. และวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งบางรัฐในอินเดียอาจลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้นภายในวันเดียว ขณะที่รัฐอื่น ๆ อาจแบ่งการลงคะแนนเสียงออกเป็นหลายช่วง

หลายปีที่ผ่านมาระยะเวลาเลือกตั้งขยายเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ จากระยะเวลาที่สั้นที่สุดแค่ 4 วันในปี 2523 สู่ 39 วัน ในปี 2562 และเพิ่มเป็น 44 วันในปี 2567

ส่วนสาเหตุเบื้องต้นที่ต้องขยายระยะเวลาเลือกตั้งและแบ่งออกเป็นหลายช่วง เพราะต้องจัดหาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนมากมาตรวจสอบความเรียบร้อย ตั้งแต่ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ไปจนถึงการกระทำทุจริตต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เอ็นบาสการ์ ราว ผู้อำนวยการศูนย์สื่อศึกษาในกรุงนิวเดลี และผู้ริเริ่มการวิจัยการเลือกตั้งอินเดียบอกว่า การเลือกตั้งที่จัดขึ้นหลายช่วง ไม่ได้รับประกันว่าการเลือกตั้งจะเป็นอิสระและยุติธรรม เพราะเขามองว่า ระยะเวลาหาเสียงที่ยาวนานมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น

จ้างเจ้าหน้าที่ 15 ล้านคน ดูแลคนใช้สิทธิ 969 ล้านคน

จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ มีจำนวนมากกว่าประชากรในประเทศยุโรปรวมกันทั้งทวีปเสียอีก 

ด้วยจำนวนคนมหาศาล คณะกรรมการการเลือกตั้งจะจัดจ้างเจ้าหน้าที่ประมาณ 15 ล้านคน รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อดูแลการเลือกตั้ง โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องเดินทางไปทุกหนแห่งในประเทศ ทั้งข้ามน้ำธารน้ำแข็งและทะเลทราย ขี่ช้าง ขี่อูฐ ล่องเรือ และขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทุกคนได้ใช้สิทธิอย่างทั่วถึง

โดยการเลือกตั้งจะใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ 5.5 ล้านเครื่อง ให้บริการใน 1.05 ล้านหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ

เงินสะพัดช่วงเลือกตั้งราว 5 แสนล้านบาท

การเลือกตั้งของอินเดีย คาดว่าเป็นการเลือกตั้งที่ใช้งบประมาณมากสุดในโลก โดย “ราว” ผอ.ศูนย์สื่อศึกษา คาดว่า การใช้จ่ายของพรรคต่าง ๆ และแคนดิเดตนายกฯ รวมถึงผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงนั้น อาจมีมูลค่ามากกว่า 1.2 ล้านล้านรูปี (5.19 แสนล้านบาท) ซึ่งมากกว่าการใช้จ่ายในการเลือกตั้งอินเดียในปี 2562 ที่ระดับ 600,000 ล้านรูปี 

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในการเลือกตั้งของอินเดียส่วนใหญ่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ จึงไม่มีข้อมูลว่าแคนดิเดตนายกฯใช้จ่ายเงินเพื่อดึงดูดหรือติดสินบนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงด้วยวิธีต่าง ๆ ไปเท่าไร

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาของสหรัฐในปี 2563 มีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับการเลือกตั้งอินเดียปีนี้ ที่ระดับ 14,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.189 แสนล้านบาท)

ทุกเสียงมีค่า ต้องฝ่าทุกอุปสรรคให้ผู้คนได้เลือกตั้ง

หน่วยเลือกตั้งบางแห่งถือเป็นโจยท์หินสำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลหน่วยอย่างมาก

ในปี 2562 เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งต้องเดินทาง 482 กิโลเมตรเป็นเวลา 4 วัน เพื่อข้ามถนนบนภูเขาที่คดเคี้ยวและแม่น้ำ เพื่อไปจัดหน่วยเลือกตั้งให้กับผู้ลงคะแนนเสียงเพียง 1 คน ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศจีน

รัฐบาลปักกิ่งอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจีน และว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นที่นั่นมีความสำคัญต่อรัฐบาลนิวเดลีในการแสดงให้เห็นถึงอำนาจอธิปไตยเหนือภูมิภาค

นอกจากนี้ เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งยังได้นำไปใช้ในหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในหมู่บ้านทางตอนเหนือของรัฐหิมาจัลประเทศ ซึ่งสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,650 เมตร และได้กลายเป็นหน่วยเลือกตั้งที่สูงที่สุดในโลก

ส่วนการตั้งหน่วยเลือกตั้งในเกาะอันดามันและนิโคบาร์ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย เจ้าหน้าที่ต้องผ่านป่าทึบและหนองน้ำป่าชายเลนที่เต็มไปด้วยจระเข้

ขณะที่เมืองมัลกังคีรีในรัฐโอดิชา เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้า 15 กิโลเมตรผ่านพื้นที่ป่าและหุบเขาที่กลุ่มลัทธิเหมาอาศัยอยู่ และต้องปกป้องเครื่องลงคะแนนเสียงให้ปลอดภัยจากกลุ่มกบฏ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้า เนื่องจากหน่วยข่าวกรองออกมาเตือนว่า การใช้รถอาจทำให้เจ้าหน้าที่ตกเป็นเป้าได้

อินเดียมีพรรคการเมืองให้เลือกนับพัน

อินเดียมีพรรคการเมืองที่ลงทะเบียนราว 2,660 พรรค และในการแข่งขันแต่ละพรรคจะมีสัญลักษณ์บ่งบอกแตกต่างกันไป ซึ่งมีตั้งแต่ช้าง จักรยาน ไปจนถึงหวีและลูกศร ตัวอย่างเช่น พรรคภารตียชนตาของนายกฯโมดีเป็นรูปดอกบัว ส่วนพรรคคองเกรสที่เป็นฝ่ายค้าน มีสัญลักษณ์เป็นรูปมือ เป็นต้น

ทั้งนี้ พรรคที่มีตราสำคัญจากสภานิติบัญญัติของรัฐต่าง ๆ ถือเป็นพรรคในระดับรัฐ ส่วนพรรคที่มีอิทธิผลในหลายรัฐจะถือเป็นพรรคระดับชาติ

ในปี 2562 มี 36 พรรคที่สามารถได้ที่นั่งในโลกสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรของอินเดียตั้งแต่ 1 ที่นั่งขึ้นไป ซึ่งโดยรวมแล้วในการเลือกตั้งปีนั้นมีผู้ลงสมัครสภาผู้แทนราษฎร 8,054 คน แบ่งเป็นผู้สมัครอิสระ 3,461 คน

และในปีดังกล่าวผู้ลงสมัคร 397 คน จาก 543 คน ที่มีที่นั่งในสภาฯนั้น มาจากพรรคระดับชาติ ขณะที่ 136 คน มาจากพรรคระดับรัฐ ส่วนอีก 6 คนมาจากพรรคที่ไม่มีคนรู้จัก และอีก 4 คน เป็นผู้สมัครอิสระ

ในการเลือกตั้งปี 2562 มีประชาชนมาลงคะแนนเสียง 612 ล้านคน จาก 912 ล้านคน ซึ่งถือเป็นการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็นสัดส่วน 67.4% และการเข้าร่วมเลือกตั้งของผู้หญิงก็เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 67.18%

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งปี 2567 นายกฯโมดีตั้งเป้ามีที่นั่งในสภาให้ได้ 370 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 67 ที่นั่ง และคาดว่าจะร่วมกับพรรคพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ 400 ที่นั่ง

หากโมดีชนะเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัย เขาจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียที่ครองตำแหน่งนานที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในประวัติศาสตร์ รองจากชวาหระลาล เนห์รู ที่ดำรงตำแหน่งได้นาน 16 ปี 9 เดือน และอินทิรา คานธี ลูกสาวของเนห์รู ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯนานถึง 15 ปี 11 เดือน