ผู้นำออสซีชี้แจงวุ่น ยันนายกฯ ไทยไม่ได้ขอผ่อนปรน กม.รถยนต์สีเขียวตามข่าว

ผู้นำออสซีชี้แจงวุ่น ยันนายกฯ ไทยไม่ได้ขอผ่อนปรน กม.รถยนต์สีเขียวตามข่าว

ไม่เหมือนที่คุยกัน! ผู้นำออสเตรเลียชี้แจงสื่อ นายกฯ เศรษฐาไม่ได้ร้องขอให้ออสเตรเลียใช้กฎหมายรถยนต์สีเขียวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามที่ให้ข่าวกับสื่อไทย

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า นายกรัฐมนตรีแอนโทนี แอลบาเนซี ของออสเตรเลีย ได้ชี้แจงกับสื่อในประเทศเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ไม่ได้ร้องขอให้รัฐบาลออสเตรเลียใช้กฎหมายรถยนต์สีเขียวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามที่ให้ข่าวกับสื่อไทยก่อนหน้านี้
 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ว่า ในการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ในโอกาสที่ผู้นำไทยเดินทางเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ ได้มีการพูดคุยกันในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่อง "ร่างกฎหมายกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์" (New Vehicle Efficiency Standard: NVES)

รัฐบาลระบุว่า ไทยได้ขอให้ออสเตรเลียนำมาตรฐานใหม่มาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยมีเวลาเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาป โดยปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลียราว 200,000 คันต่อปี และมีรถกระบะเป็นสินค้าส่งออกหลักฃ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีแอลบาเนซี ได้ตอบคำถามสื่อเมื่อวันที่ 6 มี.ค. โดย "ปฏิเสธ" รายงานข่าวดังกล่าวว่า นายกฯ เศรษฐาไม่ได้ร้องขอให้ออสเตรเลียชะลอการใช้มาตรฐานใหม่ดังกล่าว และไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยระหว่างการหารือด้วยซ้ำ

"ผมได้พบกับท่านนายกรัฐมนตรีของไทย และสิ่งที่ผมพอจะบอกได้ก็คือ เราไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กัน ผมเข้าใจว่ามีบางสื่อที่มองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ แต่ชัดเจนว่าเขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่พอที่จะหยิบยกขึ้นมาคุยกัน" นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าว

"ออสเตรเลียจะมุ่งดูแลผลประโยชน์ชาติของออสเตรเลีย และผมขอเตือนทุกคนว่ามีเพียง 2 ชาติ 2 ประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ยังไม่มีมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในนั้นคือออสเตรเลีย และอีกประเทศหนึ่งก็คือรัสเซีย ของวลาดิมีร์ ปูติน ผมไม่ต้องการอยู่ในหน้าเดียวกับรัสเซียในเรื่องนี้หรือประเด็นอื่นใด"  แอลบาเนซีกล่าวเสริม

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายใหม่ของออสเตรเลียที่ออกมาเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา คาดว่าจะกำหนดให้ประเทศต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 369 ล้านตัน ภายในปี 2050 หรือเทียบเท่ากับการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ขนาดเล็กในออสเตรเลียตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายคนได้ส่งสัญญาณเตือนอย่างต่อเนื่องว่า บรรดาบริษัทรถยนต์กำลังปฏิบัติกับออสเตรเลียเป็นเหมือนที่ทิ้งขยะไว้รองรับรถยนต์ที่มีการปล่อยมลพิษสูง เพราะออสเตรเลียไม่มีกฎหมายลงโทษในด้านนี้ 

ขณะที่รถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในออสเตรเลียนั้น มีการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉลี่ย 6.9 ลิตรต่อ 100 กม. ซึ่งสูงเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับรถยนต์ใหม่ในยุโรปที่ใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ย 3.5 ลิตร และสหรัฐที่ 4.2 ลิตร