กลุ่มประเทศ EU เผยเดือนก.พ.66 ทุบสถิติร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

กลุ่มประเทศ EU เผยเดือนก.พ.66 ทุบสถิติร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

กลุ่มประเทศ EU เปิดเผยในวันนี้ (7 มี.ค.67) ว่าเดือนก.พ.ปี 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก ถือเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันแล้ว ที่โลกมีอุณหภูมิสูงทำลายสถิติ

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับพายุถล่มหลายระลอก ภัยแล้งที่ทำลายผลผลิตเกษตร และเพลิงไหม้รุนแรง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ แล้วยังมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างเอลนีโญมาซ้ำเติม ส่งผลให้อุณหภูมิโลกอาจจะร้อนที่สุดในรอบกว่า 1 แสนปี

หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป (C3S) ระบุในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาว่า ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนก.พ.2566 ถึงม.ค.2567 ถือเป็นครั้งแรกที่โลกต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน และเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ก็มีอุณหภูมิร้อนกว่าค่าประมาณการในช่วงปี 2393-2443 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.77 องศาเซลเซียส

หลายพื้นที่ทั่วโลกมีอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นในเดือนก.พ. ตั้งแต่ไซบีเรียไปจนถึงอเมริกาใต้ ขณะที่ยุโรปก็เผชิญกับฤดูหนาวที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ที่เคยบันทึกสถิติมา

C3S ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือนก.พ. อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันทั่วโลก "สูงเป็นพิเศษ" โดยมี 4 วันติดต่อกันที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียส เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่โลกได้จารึกวันแรกที่อุณหภูมิสูงกว่าระดับดังกล่าว

นายคาร์โล บวนเทมโป ผู้อำนวยการ C3S กล่าวว่า นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดที่อุณหภูมิสูงกว่า 2 องศาเซลเซียส พร้อมเสริมว่าสภาพอากาศครั้งนี้ "ร้อนเป็นพิเศษ"

ทั้งนี้ C3S เก็บสถิติข้อมูลตรงจากทั่วทั้งโลกมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 แต่นายบวนเทมโป กล่าวว่า หากพิจารณาจากสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทราบเกี่ยวกับอุณหภูมิในอดีต "อารยธรรมของพวกเราไม่เคยต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศแบบนี้มาก่อน"

"ในแง่นี้ ผมคิดว่าคำว่า 'สถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน' นั้นเหมาะสมแล้ว" นายบวนเทมโป กล่าวกับทางเอเอฟพี พร้อมเสริมว่า ภาวะโลกร้อนเป็นความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับ "เมืองของเรา วัฒนธรรมของเรา ระบบขนส่งของเรา ระบบพลังงานของเรา"

นอกจากนี้ C3S ยังระบุว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในเดือนก.พ.สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยทำลายสถิติความร้อนสูงสุดเดิมที่เคยบันทึกไว้ในเดือนส.ค.2566 ด้วยค่าสูงสุดใหม่ที่เกิน 21 องศาเซลเซียส ในช่วงปลายเดือนก.พ.

ทั้งนี้ มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นหมายถึงความชื้นในบรรยากาศมากขึ้น นำไปสู่สภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น เช่น ลมแรง และฝนตกหนัก

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์