‘อินวิเดีย’ ขึ้นแท่น ‘นิว เทสลา’ เมื่อตลาดเปลี่ยนขั้วจาก อีวี สู่ เอไอ

‘อินวิเดีย’ ขึ้นแท่น ‘นิว เทสลา’ เมื่อตลาดเปลี่ยนขั้วจาก อีวี สู่ เอไอ

บริษัทผลิตชิป “อินวิเดีย” กำลังได้ชื่อว่าเป็น “นิว เทสลา” ในตลาดหุ้นสหรัฐวันนี้ เมื่อทิศทางอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนขั้วความสนใจ จากตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปยังเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

KEY

POINTS

  • ตลาดหุ้นสหรัฐมองว่าหุ้น 'Nvidia' กำลังจะเป็นนิว 'Tesla' ที่เคยสร้างปรากฎการณ์ให้วงการมาแล้วเมื่อ 7 ปีก่อน
  • ราคาหุ้นอินวิเดียปรับขึ้นไป 3 เท่าเมื่อปีที่แล้ว และขึ้นต่ออีก 66% ในปีนี้
  • นักวิเคราะห์เตือนความไฮป์ของหุ้นอินวิเดียขณะนี้เสี่ยงที่จะซ้ำรอยเทสลา แม้ว่าพื้นฐานและรูปแบบการเติบโตของทั้งสองบริษัทจะแตกต่างกันมากก็ตาม 

บริษัทผลิตชิป “อินวิเดีย” กำลังได้ชื่อว่าเป็น “นิว เทสลา” ในตลาดหุ้นสหรัฐวันนี้ เมื่อทิศทางอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนขั้วความสนใจ จากตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปยังเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทอินวิเดีย คอร์ป (Nvidia) กำลังเป็นโฟกัสดาวรุ่งตัวใหม่ในตลาดหุ้นสหรัฐและทำให้ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม ความไฮป์ของอินวิเดียที่ราคาหุ้นพุ่งไปมากกว่า 260% ภายในระยะเวลา 12 เดือนมานี้ ก็ยังมีข้อควรระวังสำหรับนักลงทุนด้วยว่า ความฝันที่บริษัทจะพุ่งทะยานไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ อาจดิ่งกลับมาสู่พื้นโลกในสักวันหากความหวังกลายเป็นความน่าผิดหวัง ซึ่งนักลงทุนต่างเคยพบมาแล้วกับหุ้นของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า “เทสลา อิงค์” (Tesla)

เทสลาซึ่งก่อตั้งโดย “อีลอน มัสก์” เคยสร้างปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นมาแล้วเมื่อปี 2560 เมื่อนักลงทุนต่างเดิมพันว่าเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาเปลี่ยนโลก ในครั้งนั้นเทสลาถือเป็นปรากฏการณ์เมื่อสามารถโค่นบรรดาค่ายรถเก่าแก่ที่เป็นเจ้าตลาดเดิม เช่น เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) และฟอร์ด มอเตอร์ส (Ford) ในแง่มูลค่าตลาดจนขึ้นมาเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐได้

ในครั้งนั้น บรรดานักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งต่างมองข้ามช็อตไปแล้วและเรียกเทสลาว่าเป็น “แอปเปิ้ลรายต่อไป”

ทว่าสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นราคาหุ้นของเทสลาร่วงลงไปแล้วมากกว่า 50% จากราคาสูงสุดเมื่อปี 2564 เช่นเดียวกับหุ้นบริษัทรถอีวีรายอื่นๆ ที่ปรับตัวลงหนักเช่นกัน ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตแบบเดียวกันกับอินวิเดีย หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากกว่า 3 เท่าในปี 2566 และยังขึ้นต่ออีก 66% ในปี 2567 นี้

“เราเคยเห็นมานับครั้งไม่ถ้วนว่า เมื่อนักลงทุนตกหลุมรักแนวคิดนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวันนี้ พวกเขาจะโยนตรรกะทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ และเมื่ออารมณ์ความรู้สึกมาก่อน การลงทุนก็ไม่มีขีดจำกัดอีก” อดัม ซาร์ฮัน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทลงทุน 50 พาร์ค อินเวสต์เมนท์ กล่าว

  • เดิมพันกับการเติบโต

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเติบโตระหว่างอินวิเดียกับเทสลานั้นก็มีความแตกต่างกันหลายอย่าง นับตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ไปจนถึงบุคลิกของคีย์แมนผู้ขับเคลื่อนบริษัท ซึ่งเป็นทางคู่ขนานที่น่าสนใจทั้งคู่

การเติบโตของหุ้นอินวิเดียจากบริษัทแบบนีช มาร์เก็ต จนกลายมาเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกนั้น อยู่บนพื้นฐานการเติบโตของยอดขายในปีที่แล้วที่สูงในระดับเป็นปรากฏการณ์และยังคงแข็งแกร่งอยู่

‘อินวิเดีย’ ขึ้นแท่น ‘นิว เทสลา’ เมื่อตลาดเปลี่ยนขั้วจาก อีวี สู่ เอไอ

ส่วนเทสลาซึ่งราคาหุ้นเริ่มทะยานร้อนแรงตั้งแต่ปี 2563 และทำให้มูลค่าบริษัทพุ่งทะยานไปอยู่ที่กว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์นั้น มาจากสมมติฐานว่าทั่วโลกจะปรับใช้อีวีอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ซึ่งจะทำให้เทสลากลายเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่ได้

ทว่าความเป็นจริงทำให้สมมติฐานนี้ต้องตกไป เมื่อความต้องการใช้รถอีวีเริ่มชะลอตัวลงหลังจากที่ผ่านช่วงเวฟแรกของกลุ่มผู้สนใจรถอีวีที่ต่างก็ซื้อหาจับจองรถกันไปแล้ว ส่วนผู้บริโภคที่เหลือก็ยังไม่มั่นใจพอที่จะเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปมาใช้รถอีวีตาม อีกทั้งยังมีความกังวลในเรื่องราคาที่สูงอีกด้วย จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ราคาหุ้นของเทสลาปรับตัวลงถึง 31% จากราคาสูงสุดครั้งก่อนหน้าในเดือน ก.ค. 2566 และกลายเป็นหนึ่งในหุ้นที่ปรับตัวลงมากที่สุดของกลุ่มดัชนี “Nasdaq 100” ในปีนี้

‘อินวิเดีย’ ขึ้นแท่น ‘นิว เทสลา’ เมื่อตลาดเปลี่ยนขั้วจาก อีวี สู่ เอไอ

สำหรับอินวิเดีย ยังเร็วเกินไปที่จะเห็นสัญญาขาลงในวัฏจักรของความคาดหวังที่เกินธรรมดา (hype cycle) บริษัทสามารถทำผลประกอบการได้ยอดเยี่ยมมา 4 ไตรมาสติดต่อกัน โดยคาดว่าเป็นผลมาจากความต้องการชิปที่ไม่เคยพอเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) สำหรับการทำปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง หรือ เจนเอไอ เช่น แชทจีพีที ของบริษัทโอเพนเอไอ

หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นถึง 3 เท่ามาแล้วในปีก่อน ในปี 2567 นี้ อินวิเดียยังคงขึ้นแท่นเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีผลประกอบการดีที่สุดอีกครั้งในหุ้นเอสแอนด์พี 500 โดยบวกขึ้นไปแล้ว 66% และเมื่อวันศุกร์ที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ราคาปิดตลาดที่พุ่งขึ้นยังทำให้อินวิเดียมีมูลค่าทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นรองเพียงแค่ “แอปเปิ้ล อิงค์” และ “ไมโครซอฟท์ คอร์ป” เท่านั้น

บลูมเบิร์กระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้อินวิเดียและกระแสเอไอต่างออกไปจากยุค “ฟองสบู่ดอตคอม” ที่ทุกคนต่างพูดถึงกระแสการเปลี่ยนโลกโดยอินเทอร์เน็ตในขณะนั้นก็คือ บริษัทเทคโนโลยีในขณะนั้นเผาเงิน แต่อินวิเดียทำเงินและกำไรได้จริงจากการขายของ บริษัทมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่า 500% ไปอยู่ที่เกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2566 และเป็นที่คาดว่าจะทำรายได้เพิ่มได้เป็นเท่าตัวในปีนี้

  • ความเสี่ยงที่ถูกซุกซ่อน

บลูมเบิร์กระบุว่าไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีอีวีและเอไอนั้น เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญและกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโลกจริงๆ แต่การแห่ลงทุนอย่างล้นหลามตามกระแสในวันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรต้องระวังเช่นกัน โดยเฉพาะการซื้อในช่วงที่แพง และความเสี่ยงอื่นๆ ที่แฝงอยู่

แม้จะมีตัวเลขที่ยอดเยี่ยมในเกือบทุกด้าน ทว่าสิ่งหนึ่งที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเตือนให้ระวังก็คือ P/E Ratio หรือ “ราคาตลาดต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น” ซึ่งค่าพีอีของอินวิเดียนั้นสูงถึง 18 เท่า และสูงที่สุดในบรรดาหุ้นทั้งหมดของเอสแอนด์พี 500 ไปแล้ว

ปัจจุบันอินวิเดียถือเป็นผู้นำในกลุ่มชิปหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ที่ถือเป็นมันสมองสำคัญในการพัฒนาโมเดลเอไอ แต่บริษัทผู้ผลิตชิปรายอื่นๆ ก็กำลังเร่งขยับตัวขึ้นมาแข่งขันในยุคทองของเอไอเช่นเดียวกัน โดยบริษัทแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ (AMD) เพิ่งเปิดตัวไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ และแม้แต่ลูกค้าของอินวิเดียอย่าง ไมโครซอฟท์ ก็กำลังเร่งพัฒนาชิปเอไอเป็นของตนเองเช่นเดียวกัน