‘อินเดีย’ ไฟเขียวต่างชาติ รวมถึงบริษัทไทย สร้าง 3 โรงงานชิป หมื่นล้านดอลล์

‘อินเดีย’ ไฟเขียวต่างชาติ รวมถึงบริษัทไทย สร้าง 3 โรงงานชิป หมื่นล้านดอลล์

“รัฐบาลอินเดีย” อนุมัติการสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ 3 แห่ง เป็นเงินลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ก้าวตามแผนศูนย์กลางผลิตชิปให้อุตสาหกรรมโลก

อินเดียหวังจะเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ให้กับสายการผลิตของสหรัฐ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวมทั้งชักจูงให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน และดำเนินธุรกิจในอินเดีย

แถลงการณ์รัฐบาลอินเดียระบุว่า ทาทาอิเล็กทริกส์ จะร่วมมือกับพาวเวอร์ชิป เซมิคอนดักเตอร์ เมนูเฟคเจอริ่ง คอร์ป หรือพีเอสเอ็มซี ของไต้หวันสร้างโรงงานหนึ่งแห่งในเมืองโธเลรา ทางตอนใต้ของเมืองอาห์เมดาบัด ด้วยการลงทุนเกือบ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ 

โรงงานแห่งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การผลิตชิปเทคโนโลยี 28 นาโนเมตร ป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการป้องกันประเทศ ทั้งนี้ ชิปดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีใหม่ และสมบูรณ์มากในตอนนี้ ขณะที่ชิปทั่วไปจัดเป็นชิปรุ่นเก่า

“ทาทา เซมิคอนดักเตอร์ เอสแซมบี้ แอนด์ เทสพีวีที จะจัดตั้งโรงงานแห่งที่สองในเมืองโมริกัว รัฐอัสสัม มูลค่า 3.26 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในท้องถิ่น รวมถึงฟลิปชิป อีวี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย" แถลงการณ์อินเดีย ออกเมื่อวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) ระบุ  

ขณะที่ ซีจี พาวเวอร์ ร่วมมือกับเรเนซัส อิเล็กทรอนิกส์ คอร์ปอเรชั่นของญี่ปุ่น และสตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของไทย จะเปิดโรงงานแห่งที่ 3 ในเมืองสนัน คุตชาราต รวมมูลค่าเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตชิปส่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ และพลังงาน

โรงงานทั้ง 3 แห่งนี้จะเริ่มก่อสร้างภายใน 100 วันข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่า อินเดียอนุมัติให้บริษัทไมครอนของสหรัฐ สามารถจัดตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ได้เมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว

ที่มา : CNBC  

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์