‘จีน’ ส่ง C919 รุกตลาดการบินโลกไม่ง่าย เสี่ยงอุปสรรค ‘ภูมิรัฐศาสตร์‘

‘จีน’ ส่ง C919 รุกตลาดการบินโลกไม่ง่าย เสี่ยงอุปสรรค ‘ภูมิรัฐศาสตร์‘

“จีน” เผชิญอุปสรรคครั้งใหญ่ เมื่อแผนส่งออกเครื่องบิน C919 ทะยานสู่ตลาดโลก อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเสี่ยงความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และซัพพลายเชน

จีนเปิดตัวเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ลำแรก C919  บินขึ้นทะยานอวดสายตาชาวโลก ในงานแสดงอากาศยานด้านการบินใหญ่ที่สุดในเอเชีย “สิงคโปร์ แอร์โชว์ ปี 2024 ” (Singapore Airshow 2024) ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สร้างความฮือฮาให้กับเครื่องบินที่จีนผลิตในประเทศตนเอง

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปีกเครื่องบิน C919 ยังขาดการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินที่เป็นชาติตะวันตก

“นั่นเป็นขั้นตอนสำคัญมากๆ ถ้าไม่ผ่านจุดนี้ ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้เครื่องบินลำนี้ในประเทศอื่น นอกจากจีน” เบรนแดน โซบี นักวิเคราะห์และที่ปรึกษา Sobie Aviation กล่าวกับชาแนล นิวส์เอเชีย

นอกเหนือเรื่องนี้ ยังมีปัจจัยเพิ่มอุปสรรคกับเครื่องบิน C919 นั่นคือความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากปัจจุบันจีนยังต้องพึ่งพาส่วนประกอบนำเข้าจากต่างประเทศ

ท่ามกลางความคาดหวังว่า เครื่องบิน C919 จะทะยานสูงขึ้นสู่ระดับแนวหน้า พอที่จะเข้ามาชิงตลาดเครื่องบินโดยสารรุ่นพี่อย่างแอร์บัส และโบอิงได้หรือไม่ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่ง ล้วนครองตลาดเครื่องบินขนาดใหญ่ถึง 99%

ด้านแอร์บัสไม่คิดว่า C919 ไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับการแข่งขันตลาดการบิน ขณะที่โบอิงมองว่า พร้อมเสมอทุกการแข่งขัน

 

  • ยิ่งใหญ่ เปิดตัวบนเวทีระดับโลก

เครื่องบิน C919 ผลิตโดยบริษัท COMAC  (Commercial Aircraft Corporation of China) หรือบรรษัทการบินพาณิชย์จีน ซึ่งได้รับการผลิตและพัฒนาในประเทศ ให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 158 - 192 ที่นั่ง ขึ้นอยู่กับจัดวางโครงสร้างภายใน

การผลิตเครื่องบิน C919 เริ่มขึ้นครั้งแรกปี 2011 และได้นำขึ้นทำการบินเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเที่ยวบินเซี่ยงไฮ้ ไปยังปักกิ่ง

จีนส่ง C919 ขึ้นทะยานสู่ท้องฟ้าเพื่อบินร่วมงานสิงคโปร์แอร์โชว์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นการบินนอกประเทศจีนครั้งแรก และได้ขึ้นทำการบินแสดงในงานฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา  ซึ่งการเปิดตัว C919 นอกประเทศครั้งนี้ ได้สร้างความฮือฮาอย่างมากให้กับเครื่องบินลำนี้ที่ผลิตในจีน

บริษัท COMAC ต้องการให้เครื่องบิน C919 เป็นอีกทางเลือกแทนเครื่องบินโดยสารของแอร์บัส และโบอิง ในระหว่างที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งพยายามอย่างหนักในการพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะโบอิงกำลังต่อสู้กับปัญหาด้านความปลอดภัย

‘จีน’ ส่ง C919 รุกตลาดการบินโลกไม่ง่าย เสี่ยงอุปสรรค ‘ภูมิรัฐศาสตร์‘

นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านความปลอดภัยของโบอิง ได้เป็นโอกาสให้กับเครื่องบิน C919 ได้อย่างไร   

เครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ได้รับคำสั่งพักการบินเกือบ 2 ปีใน 2019 และปี 2020 หลังเกิดอุบัติเหตุ 2 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนรวม 346 ราย

ล่าสุด ประตูเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ของสายการบินอลาสก้าแอร์ไลน์ส หลุดกลางอากาศ หลังบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ไม่นาน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานกำกับดูแลการบินของสหรัฐ สั่งระงับบินเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ 9 ลำไว้ชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย

“ถ้าจะให้มองในเวลานี้ สายการบินต่างๆทั่วโลกกำลังพิจารณาทางเลือกที่สามมากขึ้น รวมถึงมองไปที่เครื่องบิน C919” โซบีกล่าว

  • อุปสรรค ก้าวไปสู่ตลาดการบินโลก

นักวิเคราะห์มองว่า อุปสรรคด้านกฎระเบียบเป็นจุดยาก และชี้ว่า เครื่องบิน C919  ไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลการบินของสหรัฐ และยุโรป จนถึงขณะนี้มีเพียงหน่วยงานกำกับดูแลการบินของจีนเท่านั้นที่รับรองการบินของ C919 เมื่อเดือน ก.ย. 2022

การได้รับอนุมัติจากหน่วยงานทั้งสหรัฐและยุโรป เหมือนได้รับการยอมรับและไฟเขียวให้ดำเนินงานทั่วโลกในน่านฟ้าสากล

รอยเตอร์รายงานว่า หน่วยงานการบินของจีนเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า ในปีนี้สำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องบิน C919 ตามกระบวนการที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2018

อุตสาหกรรมการบินจับตาดูเรื่องนี้ ไม่ว่าผลการรับรอง หรือการปฏิบัติตามคำสั่งซื้อ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ

สิ่งสำคัญหนึ่งที่บริษัท COMAC ต้องเผชิญคือ C919 ต้องเผชิญความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์  และตามมาด้วยปัญหาซัพพลายเชน เพราะการพึ่งพาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศ

บทวิเคราะห์สถาบัน Center for Strategic and International Studies ของสหรัฐ เมื่อปี 2020 ได้ประเมินว่า ซัพพลายเออร์ส่งส่วนประกอบหลักประมาณ 80% ของเครื่องบิน C919 มาจากสหรัฐและยุโรป

“การนำเข้าส่วนประกอบเกือบทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลทำให้เครื่องบิน C919 มีเครื่องยนต์ และระบบการบินทั้งหมด เป็นแบบตะวันตก” ริชาร์ด อาบูลาเฟีย กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านการบิน AeroDynamic Advisory กล่าว

“หากต้องการเครื่องบินแบบ (จีน) อย่างแท้จริง พวกเขาต้องพึ่งพาตนเองได้ด้วยเหตุผลบางประการ แต่ก็ต้องใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ และใช้เวลานานหลายปี มากกว่าที่ลงทุนกับเครื่องบิน C919 ไปแล้ว” อาบูลาเฟียกล่าว

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ขณะที่ COMAC กำลังทำงานหวังชิงส่วนแบ่งเพิ่ม ในการจัดหาชิ้นส่วนประกอบเครื่องบินในประเทศ แต่การดำเนินงานคงต้องใช้เวลามากพอสมควร ซึ่งแอร์บัส และโบอิงได้ผ่านจุดนี้มาแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง บทบรรณธิการโกบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อจีน ตีพิมพ์เมื่อวันอังคาร (20 ก.พ.)ว่า จีนวางตำแหน่งเครื่องบิน C919 ในฐานะผู้เข้าร่วมตลาดการบินต่างประเทศ ไม่ใช่ผู้ท้าชิง เพราะ C919 ยังเพิ่งเริ่มต้น และมีหนทางดำเนินการอีกยาวไกล

แม้บรรยากาศตลาดการบินระหว่างประเทศดูจะมืดครึ้มสำหรับ C919 แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ตลาดการบินภายในจีนมีแนวโน้มสดใสขึ้น

"หลังบริษัท COMAC เข้าร่วมงานสิงคโปร์แอร์โชว์ได้รับคำสั่งซื้อเครื่องบิน C919 มากกว่า 1,000 ลำ ส่วนใหญ่มาจากสายการบิน และผู้ให้เช่าเครื่องบินของจีน" สื่อจีนรายงาน

เจ้าหน้าที่บริษัท COMAC เผยเตรียมลงทุนหลายหมื่นล้านหยวนในช่วงสองสามปีข้างหน้า เพื่อขยายกำลังการผลิตเครื่องบิน C919

อย่างไรก็ตาม การส่งออกเครื่องบินจีนคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งมอบเครื่องบินทั่วโลกในอีก 2 ทศวรรษข้าวหน้า ตามรายงานโบอิงคาดการณ์แนวโน้มตลาดการบินเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว

ที่มา : CNA