ทูตอินเดียเล่าประวัติพระบรมสารีริกธาตุ มรดกพุทธเสาหลักสัมพันธ์อินเดีย-ไทย

ทูตอินเดียเล่าประวัติพระบรมสารีริกธาตุ มรดกพุทธเสาหลักสัมพันธ์อินเดีย-ไทย

ข่าวการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุได้รับการอัญเชิญมาจากอินเดียเมื่อวันพฤหัสบดีมาประดิษฐานชั่วคราว ณ ประเทศไทย ถือเป็นข่าวใหญ่สำหรับพุทธศาสนิกชน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างอินเดียและไทยโดยมีมรดกพุทธศาสนาเป็นเสาหลัก

นายนาเกซ ซิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เผยว่า   เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสอันเป็นมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษาและเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างประชาชนชาวอินเดียและไทย 

พระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวก พระอรหันต์สารีบุตรและพระอรหันต์มหาโมคคัลลานะได้รับการอัญเชิญมาจากอินเดียเมื่อวันพฤหัสบดี (22 ก.พ.) เพื่อนำมาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อให้ประชาชนได้สักการะ เป็นเวลา 25 วัน ใน 4 จังหวัดของไทย เริ่มต้นจากสนามหลวง กรุงเทพฯ  ทูตอินเดียเล่าประวัติพระบรมสารีริกธาตุ มรดกพุทธเสาหลักสัมพันธ์อินเดีย-ไทย

ไม่อนุญาตให้อัญเชิญออกนอกอินเดีย 

โดยปกติอินเดียจะไม่อนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุไปจัดแสดงนอกประเทศ   เนื่องจากโบราณวัตถุมีความละเอียดอ่อนและเปราะบาง แต่ครั้งนี้ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุมาจากประเทศอินเดียเป็นกรณีพิเศษตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย ซึ่งการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุไปประดิษฐานในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย จะทำให้ศาสนิกชนจากประเทศเพื่อนบ้านได้มีโอกาสสักการะด้วยเช่นกัน 

เมื่อปี พ.ศ. 2538 เคยมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียมาประดิษฐานที่ประเทศไทยเพื่อให้ประชาชนได้สักการะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ทูตอินเดียเล่าประวัติพระบรมสารีริกธาตุ มรดกพุทธเสาหลักสัมพันธ์อินเดีย-ไทย

สัมพันธ์สองพันปี อินเดีย-สุวรรณภูมิ

อินเดียและไทยมีความสัมพันธ์ทางศาสนา วัฒนธรรม และการค้ามายาวนานกว่าสองพันปี ในวรรณคดีอินเดียโบราณ ประเทศไทยถูกเรียกว่า สุวรรณภูมิ หรือ ดินแดนทองคำ พระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่มาสู่ประเทศไทยเมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราชในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย พระโสณเถระและพระอุตตรเถระถูกส่งตัวไปยังดินแดนสุวรรณภูมิโดยพระเจ้าอโศกมหาราช พระสงฆ์ทั้งสองรูปได้มาถึงพื้นที่ที่เรียกว่านครปฐม (นครปฐม ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “ เมืองแรก ”)

 สิ่งที่น่าสนใจคืออิทธิพลของทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธที่มีร่วมกันในประเทศไทย ในลักษณะที่มีเอกลักษณ์ผสมผสานกัน สะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมทางศาสนา ศิลปะ และสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ความเชื่อในตำนานและการตีความของมหากาพย์รามเกียรติ์อินเดียแบบไทย และหลักคำสอนอันเป็นนิรันดร์ของพระพุทธเจ้าเชื่อมสัมพันธ์ผู้คนของอินเดียและไทยเข้าด้วยกัน 

 การบูชาพระธาตุศักดิ์สิทธิ์มีความสำคัญทางศาสนาอย่างมากในประเพณีของพุทธศาสนิกชน ทั้งในอินเดียและในไทย 

ที่มาพระบรมสารีริกธาตุ

พระพุทธเจ้าประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแห่งราชวงศ์ศากยะในอาณาจักรกบิลพัสดุ์โบราณ ซึ่งปัจจุบันเป็นหมู่บ้านปิปราห์วา ในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จเข้าสู่มหาปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา ที่ตั้งอยู่ในเขตเดโอเรีย รัฐอุตตรประเทศ มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินาราถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ โดยมีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล 

หลังจากการถวายพระเพลิง ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาเก็บรักษา โดยได้แบ่งออกเป็น 8 ส่วน ให้แก่ราชอาณาจักรต่างๆ และหนึ่งในนั้นได้อัญเชิญไปยังพระบรมศากยวงศ์แห่งราชอาณาจักรกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้านั่นเอง

 ในปี ค.ศ. 1898 ผอบของพระบรมศากยวงศ์ได้รับการค้นพบที่บริเวณสถูปในหมู่บ้านปิปราห์วา คำจารึกบนผอบระบุเป็น ว่าพระอัฐินี้เป็นพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าที่เป็นส่วนของพระบรมศากยวงศ์

ส่วนหนึ่งของพระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้ที่ได้รับการขุดพบที่หมู่บ้านปิปราห์วาได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ของประเทศไทยในปี ค.ศ. 1899 ถือเป็นเหตุบังเอิญอันเป็นมงคลที่ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากผอบที่พบในหมู่บ้านปิปราห์วามาจากอินเดีย เพื่อนำจัดแสดงในประเทศไทย

รัฐบาลของรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งของพุทธศาสนสถานที่สำคัญหลายแห่งในอินเดีย รวมถึงกบิลพัสดุ์และกุสินารา กำลังจัดนิทรรศการและกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่นำเสนอประสบการณ์อันน่าหลงใหลของมรดกทางพุทธศาสนาที่สนามหลวง กรุงเทพมหานคร

ความสำคัญของพระอรหันตธาตุ

พระอรหันตธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน พระเถระทั้งสองท่านมีบทสำคัญในการก่อตั้งคณะสงฆ์ ทั้งสองนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ใกล้กับเมืองราชคฤห์ของอินเดียโบราณ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในรัฐพิหาร พระอรหันตธาตุของทั้งสองรูปถูกขุดพบขึ้นมาในปี ค.ศ. 1851 จากสาญจี โดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษ และถูกนำไปประดิษฐาน ณ ประเทศอังกฤษ 

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา สมาคมวัดมหาโพธิ์แห่งอินเดีย ภายใต้การนำของตุลาการ อาศุโตษ มุขรจี ผู้ก่อตั้งสมาคม ได้เริ่มดำเนินการเพื่อนำพระอรหันตธาตุธาตุศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้กลับคืนสู่อินเดีย พระมหากษัตริย์แห่งสยามได้ให้การสนับสนุนอันมีค่าในการต่อสู้ครั้งนี้ 

ในปี ค.ศ. 1948 รัฐบาลอินเดียสามารถนำพระอรหันตธาตุกลับคืนมาจากอังกฤษได้สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1952 ดร. ศยามาประสาท มุขรจี นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพผู้ยิ่งใหญ่ บุตรชายของ อาศุโตษ มุขรจี ได้สร้างธรรมยาตราครั้งประวัติศาสตร์โดยพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและมหาโมกัลลานะ และได้อัญเชิญพระอรหันตธาตุเหล่านี้มายังประเทศไทย

พัฒนาพื้นที่มรดกพุทธ

การอนุรักษ์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่มรดกทางพุทธศาสนาได้รับความสนใจอย่างมากจากรัฐบาลอินเดียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2564 นายกรัฐมนตรี นายนเรนทรา โมดีได้เปิดสนามบินนานาชาติที่กุสินาราขึ้น ในเดือนพฤษภาคม ปีพ.ศ. 2565 นายกรัฐมนตรีของอินเดียและเนปาลเปิดตัวโครงการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมพุทธนานาชาติแห่งอินเดียที่ลุมพินี

นอกเหนือจากสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแล้ว ยังมีมรดกทางพุทธศาสนาอีกมากมายให้สำรวจในอินเดีย ซึ่งรวมถึงความงดงามของถ้ำอชันตาและถ้ำเอลโลราในรัฐมหาราษฏระ เขาตอลี หรือ เดาลี คีรี และหมู่พุทธสถานแห่งลลิตคีรีในรัฐโอริสสา และอารามหิมาลัยที่ทอดยาวตั้งแต่ลาดักห์ไปจนถึงรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งมีการสืบสานประเพณีมายาวนานหลายศตวรรษ 

โครงการพระธาตุเทวนี โมรี ในรัฐคุชราต ที่ริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรี นายนเรนทรา โมดี เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการบูรณะพุทธศาสนสถานโบราณที่ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบจากวิหารโบราณที่มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 จะถูกประดิษฐานอีกครั้งในเจดีย์ที่ออกแบบอย่างวิจิตรงดงาม สถานที่แห่งนี้มีพื้นที่ให้ศาสนิกชนจากหลากหลายประเทศ มานั่งสมาธิปฏิบัติธรรมในปะรำพิธีทางพุทธศาสนาแห่งนี้

ปัจจุบัน พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของทุกๆ คน หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องการเดินทางสายกลาง เพื่อการดำรงอยู่อย่างสันติและปรองดองนั้นหยั่งรากลึกอยู่ในโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมของทั้งอินเดียและไทย การจัดแสดงโบราณวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ทางประวัติศาสตร์นี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งประวัติศาสตร์และคุณค่าอันมีร่วมกัน ที่จะนำเราไปสู่ความร่วมมือระหว่างอินเดียและไทยที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต