‘มังงะ’ สินค้าวัฒนธรรม เสริมพาวเวอร์ให้ญี่ปุ่น

‘มังงะ’ สินค้าวัฒนธรรม เสริมพาวเวอร์ให้ญี่ปุ่น

กัปตันซึบาสะ ตัวละครใน ‘มังงะ’ แห่งโลกคู่ขนาน ที่ศิลปินญี่ปุ่นสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเรา สร้างจินตนาดึงดูดความสนใจจากเด็กทั่วโลก และยังเสริมพาวเวอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ให้ญี่ปุ่น

มังงะ (Manga) ซึ่งเป็นคำเรียก “การ์ตูนช่อง” ของญี่ปุ่น มีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนานเกือบ 100 ปี โดยเป็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่ผสมผสานตำนาน นิทานพื้นบ้าน และวัฒนธรรมป๊อปเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ส่งเสริมให้มังงะกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์สำคัญของญี่ปุ่น เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นตลาดมังงะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท (ปี 2021) นอกจากในประเทศแล้ว มังงะยังครองใจผู้อ่านทั่วโลก สร้างความสนใจใคร่รู้ในวัฒนธรรม ปรัชญา แนวคิด และวิถีความเป็นญี่ปุ่นผ่านลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์
 

เราสามารถแบ่งประเภทของมังงะได้จากเพศและอายุของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งมังงะสำหรับเด็กผู้ชาย (โชเน็น) และสำหรับเด็กผู้หญิง (โชโจะ) ส่วนมังงะที่ตอบโจทย์กลุ่มเพศทางเลือกก็มีเช่นเดียวกัน มีหลายคำเรียก ตัวอย่างเช่น โชเน็น-ไอ (Shounen-ai) หรือ Boys Love (BL) ในกลุ่มเนื้อหานี้กำลังเป็นที่นิยมในไทย รับรู้ได้จากความนิยมที่ถูกค้นใน Google Trends ความหลากหลายนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของมังงะญี่ปุ่น ด้วยโลกที่เปิดกว้างขึ้นศิลปินและสำนักพิมพ์ต่างพยายามนำเสนอตัวละครและธีม LGBTQ+ ในมังงะกระแสหลักเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายในสื่อญี่ปุ่น

เนื้อเรื่องในมังงะญี่ปุ่น หลายเรื่องดึงเอาตำนาน นิทานพื้นบ้าน และวรรณกรรมคลาสสิกมาเป็นแกน โดยตีความและเล่าเรื่องใหม่ให้ป๊อปขึ้น เช่น เรื่อง “Kamisama Kiss” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่กลายมาเป็นเทพประจำท้องถิ่นและทำงานร่วมกับปีศาจจิ้งจอกเพื่อทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของเธอ เป็นการผสมผสานระหว่างความโรแมนติกและเรื่องเหนือธรรมชาติ เน้นหนักไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ ตามความเชื่อของศาสนาชินโต

ไทยเองก็มีความเชื่อ เรื่องเล่า และตำนานพื้นบ้านมากมายไม่แพ้ญี่ปุ่น ทำอย่างไรจะเล่าให้ร่วมสมัยและตอบโจทย์จริตผู้อ่านรุ่นใหม่

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ของ CEA ได้จัดโครงการ Creative & Design Showcase ภายใต้หัวข้อ “Thai Manga Spotlight” จัดแสดงผลงานมังงะจากศิลปินไทย 24 รายให้เห็นถึงศักยภาพของศิลปินมังงะไทยให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการออกแบบและการพัฒนาผลงานสร้างสรรค์การ์ตูนไทยสู่ระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมา ไทยเองก็มีศิลปินมังงะที่ได้รับรางวัลจากเวทีโลกอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในงาน “The Japan Inter national MANGA Award” ยกตัวอย่างผลงาน“Before Becoming the Buddha” โดย ADISAK DAS PONGSAMPAN ได้รับรางวัลชมเชย (Bronze Award) ในปี 2023 ที่นำเรื่องราวพุทธประวัติมาเขียนในรูปแบบมังงะ โดยลายเส้นและการออกแบบตัวละครได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปยุคคันธาระ

กลยุทธ์ที่ช่วยให้ศิลปินมังงะไทยสามารถขยายผลงานสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น อาจเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ความชอบและพฤติกรรมของผู้อ่านทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์และโดนใจกลุ่มเป้าหมาย การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเผยแพร่ผลงาน สร้างการเข้าถึงผู้ชมอย่างทั่วถึง ลงทุนในการแปลภาษาของผลงานทำให้ผู้ชมจากทั่วโลกสามารถเข้าใจผลงานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างและรักษาฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นผ่านโซเชียลมีเดีย การจัดกิจกรรม และสินค้าที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมและผูกพันกับผลงาน สุดท้ายการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้งานถูกละเมิดและสร้างความมั่นใจให้กับศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป (CEA เชิญชวนรักษาสิทธิในผลงาน ผ่านการทำ Timestamp ใช้บริการฟรี ได้ที่ https://cap.cea.or.th/)