ตรวจทางเลือก 'ไบเดน-ทรัมป์' ไม่ลงเลือกตั้งประธานาธิบดี

ตรวจทางเลือก 'ไบเดน-ทรัมป์' ไม่ลงเลือกตั้งประธานาธิบดี

เป็นที่คาดหมายกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เดือน พ.ย.นี้ อาจเป็นการรีแมตช์ระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนใดคนหนึ่งไม่ได้ลงแข่งขันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

KEY

POINTS

  • เป็นที่คาดหมายกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เดือน พ.ย.นี้ อาจเป็นการรีแมตช์ระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์
  • แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนใดคนหนึ่งไม่ได้ลงแข่งขันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
  • สาเหตุหนึ่งคืออายุ แม้ว่าทั้งคู่ไม่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่สถิติชี้ว่าทั้งสองคนเสี่ยงเสียชีวิตหรือมีปัญหาสุขภาพมากขึ้นเนื่องจากอายุมากไปทุกวัน

เป็นที่คาดหมายกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เดือน พ.ย.นี้ อาจเป็นการรีแมตช์ระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนใดคนหนึ่งไม่ได้ลงแข่งขันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและความเห็นผู้เชี่ยวชาญถึงแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น ก่อนอื่นต้องพิจารณากันก่อนว่า การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 81 ปีจากพรรคเดโมแครต หรืออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วัย 77 ปีจากพรรครีพับลิกันไม่ลงเลือกตั้งมีสาเหตุใดได้บ้าง แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือเรื่องของอายุ ไม่ว่าใครชนะแล้วเข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค.2568 พวกเขาต่างเป็นประธานาธิบดีสูงวัยที่สุดของสหรัฐ

แม้ว่าทั้งคู่ไม่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่สถิติชี้ว่าทั้งสองคนเสี่ยงเสียชีวิตหรือมีปัญหาสุขภาพมากขึ้นเนื่องจากอายุมากไปทุกวัน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วไบเดนหรือทรัมป์จะสมัครใจถอนตัวได้หรือไม่ ราเชล ไบต์คอเฟอร์ นักกลยุทธ์การเมืองพรรคเดโมแครตมองว่า นี่เป็นเรื่องเพ้อฝันอย่างมาก ตัวอย่างเช่น แม้พรรครีพับลิกันต้องการเปลี่ยนกฎเกณฑ์และเปลี่ยนตัวผู้สมัคร เนื่องจากการเลือกตั้งมีขึ้นหลังการตัดสินคดีของทรัมป์ แต่ทรัมป์ก็ไม่ถอนตัว “เพราะนั่นคือการทำลายฐานเสียง”

ขณะที่ไบเดนอ้างเสมอมาว่า เขาคือผู้สมัครที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมที่สุด แม้โพลชี้ว่า วัยของเขาทำให้โหวตเตอร์เบือนหน้าหนี

“คุณจะพูดอะไรเหรอ จะให้พูดว่า โอ้...เขาแข็งแรง พรุ่งนี้เขาจะไปแข่งวิ่งไตรกีฬาอย่างนั้นเหรอ เขาอายุ 81 ปีแล้ว แต่ไม่มีใครตัดสินใจลงแข่งกับเขา เราก็เลยเป็นแบบนี้” อดัม สมิธ สมาชิกสภาคองเกรสพรรคเดโมแครตอธิบาย

ขณะที่ทรัมป์ยืนยันว่าลงเลือกตั้งแน่แม้อาจโดนคดีอาญา ที่ในทางทฤษฎีแล้วส่อเค้าเจอโทษจำคุกหลายสิบปี

หากตัวแทนพรรคถอนตัว

ในการเลือกผู้สมัครอย่างเป็นทางการของพรรค คณะตัวแทนจากแต่ละรัฐต้องร่วมการประชุมใหญ่เพื่อเสนอชื่อแคนดิเดตที่ได้มาจากการหยั่งเสียงเบื้องต้น (ไพรมารีโหวต)

ถ้าไบเดนหรือทรัมป์ถอนตัวไปก่อนสิ้นสุดการหยั่งเสียงเบื้องต้น การตัดสินใจต้องอยู่ที่การประชุมใหญ่อยู่ดี

เอเลน คามาร์ก จากสถาบันบรุคกิงส์ กล่าวว่า คณะตัวแทนจำนวน 8,567 คน คือชาวอเมริกันสามัญชนผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองแข็งขัน

เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยนับตั้งแต่ประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน ประกาศช็อกโลกเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2511 ท่ามกลางสงครามเวียดนามว่า ตนจะไม่ลงเลือกตั้งอีก นับจากนั้นการประชุมใหญ่เป็นไปอย่างราบรื่น ทราบผลล่วงหน้าตั้งแต่ไพรมารีโหวต

แต่ปีนี้ คามาร์กมองว่า เป็นการประชุมใหญ่ที่อาจไม่ทราบผลล่วงหน้า "เป็นการประชุมที่คุมอะไรไม่ได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นระหว่างปี 2374-2511” และผู้สมัครอาจถอนตัว 

 แล้วถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับตัวแทนพรรคคนใดคนหนึ่งหลังได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการแล้วล่ะ คำตอบก็คือองค์กรบริหารพรรคไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเดโมแครตหรือคณะกรรมการบริหารพรรครีพับลิกันจะจัดการประชุมนัดพิเศษเสนอชื่อตัวแทนพรรคคนใหม่

ในฝั่งรีพับลิกัน กำลังอยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร โดยทรัมป์เสนอให้ยก “ลารา” ลูกสะใภ้ขึ้นมามีบทบาทนำ ซึ่งจะทำให้ค่ายทรัมป์มีอิทธิพลอย่างมากว่าจะเลือกใครมาแทน

ใครจะขึ้นมาแทนที่

แคนดิเดตที่ชัดเจนว่าจะขึ้นมาแทนที่ไบเดนคือรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ที่ร่วมหาเสียงกับไบเดนอยู่แล้ว แต่ใช่ว่าเธอจะแทนที่ได้เลยโดยอัตโนมัติ ยังมีนักการเมืองตัวแกร่งคนอื่นๆ ของพรรค

ไม่ว่าจะเป็น แกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย, เกรตเชน วิตเมอร์ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน และจอช ชาปิโร ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย ที่อาจขึ้นมาแทนได้ 

ด้านทรัมป์ยังไม่ประกาศว่าจะเลือกใครเป็นรองประธานาธิบดี แฮนส์ โนเอล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า ทรัมป์ดูถูกดาวเด่นคนอื่นๆ ของพรรคตลอดการหาเสียง ที่เด่นที่สุดคือรอน เดอแซนทิส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ที่เคยวิจารณ์ทรัมป์ไม่หยุดหย่อนก่อนเขาสิ้นวาระประธานาธิบดี

ตัวเก็งอีกคนคือนิกกี เฮลีย์ คนเดียวที่ยังเหลือรอดมาแข่งกับทรัมป์ในสนามไพรมารี

“นิกกี เฮลีย์ อาจเป็นตัวเลือกที่ดีก่อนหน้านี้” โนเอลกล่าวและว่า แต่ยิ่งต่อสู้ชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคต่อไปเธอยิ่งสูญเสียการสนับสนุนจาก “ทุกคนที่ชอบทรัมป์”

แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีผู้สมัครทางเลือกที่ 3 ที่แข็งแกร่งพอ ซึ่งนับถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้สมัครอิสระคนใดจะมาทำลายระบบสองพรรคเด่นของสหรัฐได้

ในปี 2535 รอส เพโรต์ อภิมหาเศรษฐีรัฐเท็กซัส เคยลงสมัครอิสระได้คะแนนป็อปปูลาร์โหวตเกือบ 19% แต่สุดท้ายด้วยระบบเลือกตั้งสุดประหลาดของสหรัฐ เพโรต์ไม่ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง 538 คนเลย ซึ่งคณะผู้เลือกตั้งนี่เองที่เป็นคนตัดสินว่าใครคือผู้ชนะ