วิกฤติอสังหาฯสหรัฐ ลามเกาหลีใต้ 5 แบงก์ยักษ์เสี่ยงขาดทุน 749 ล้านดอลลาร์

วิกฤติอสังหาฯสหรัฐ ลามเกาหลีใต้ 5 แบงก์ยักษ์เสี่ยงขาดทุน  749 ล้านดอลลาร์

วิกฤตอสังหาฯสหรัฐ ลามเกาหลีใต้ 5 แบงก์ยักษ์เสี่ยงขาดทุน 749 ล้านดอลลาร์ เพิ่มความกังวลนักลงทุนเกาหลีได้หลังมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์สหรัฐลดลง และความเสี่ยงหนี้เสียกลุ่มน็อนแบงก์เพิ่มขึ้นหลังจากที่ สหกรณ์เครดิตปิดสาขาเมื่อปีที่แล้ว

Keypoint:

  • ความเสี่ยงของภาคอสังหาริมทรัพย์จากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงทั่วโลก
  • ลุกลามมายังเกาหลีใต้ เสี่ยง 5 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ จ่อขาดทุน  749 ล้านดอลลาร์
  • นักลงทุนเกาหลีใต้กังวลปัญหาหนี้เสียของกลุ่มน็อนแบงก์ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น หลัง  MGCCC สหกรณ์เครดิตต้องปิดสาขาเมื่อเดือน ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานถึง ธนาคารและบริษัททางการเงินที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งของเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ เสี่ยงขาดทุนประมาณ 1 ล้านล้านวอน หรือราว 749 ล้านดอลลาร์ จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ จากทั้งหมดมูลค่า 20 ล้านล้านวอน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงของภาคอสังหาริมทรัพย์จากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงทั่วโลก

เมื่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์สหรัฐลดลง ได้ส่งแระสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และความต้องการอสังหาฯซบเซาทำให้ราคาสินทรัพย์ตกต่ำ

ข้อมูลจาก หยาง คยอง-ซูค (Yang Kyung-sook ) ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (Democratic Party of Korea) เผย 5 อันดับแรก ของสถาบันการเงินเกาหลีใต้ที่การถือครองอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศมากที่สุด

วิกฤติอสังหาฯสหรัฐ ลามเกาหลีใต้ 5 แบงก์ยักษ์เสี่ยงขาดทุน  749 ล้านดอลลาร์

นำโดย 1.ฮานา ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Hana Financial Group Inc.) เป็นกลุ่มการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับสามในเกาหลีใต้ ซึ่งมีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากที่สุด โดยมีการลงทุนนอกประเทศมากกว่า 6.2 ล้านล้านวอน

 

ตามด้วย 2. เคบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป  (KB Financial Group Inc.) มีการลงทุน 5.7 ล้านล้านวอน ในขณะที่ 3.ชินฮัน ไฟแนนเชียล กรุ๊ป  (Shinhan Financial Group Co., Ltd.) สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ของเกาหลีใต้ ลงทุน 4 ล้านล้านวอน ด้านอันดับที่ 4. วูริ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Woori Financial Group Inc.) และ 5.ธนาคารนงฮยอบ (Nonghyup Financial Group Inc. ) 

ทำให้นักลงทุนในเกาหลีกำลัง"จับตา"ดูสัญญาณของปัญหาจากผลกระทบวิกฤตอสังหาสหรัฐที่กำลังลุกลามมายังเกาหลี หลังจากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงหนี้เสียของกลุ่มน็อนแบงก์ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นหลังจากที่ “MG Community Credit Cooperatives” หรือ MGCCC สหกรณ์เครดิตซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้กู้รายใหญ่ในเกาหลีใต้ ที่มีขนาดใกล้เคียงกับธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศต้องปิดสาขาเมื่อเดือน ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

เนื่องจากผลประกอบการขาดทุน 60,000 ล้านวอน หรือราว 1,575 ล้านบาท จากสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ลูกค้าที่ฝากเงินกับ MGCCC แห่ถอนเงินออก

ตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ในสหรัฐยังคงตกอยู่ในความปั่นป่วนนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ความตื่นตระหนกหลังจากธนาคาร New York Community Bancorp และธนาคาร Aozora Bank ของญี่ปุ่น ขาดทุนจากการให้สินเชื่ออสังหาฯเชิงพาณิชย์สหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ บ่งชี้ว่านักลงทุนในอสังหาฯดังกล่าวอาจได้รับความเจ็บปวดในอนาคต

การลงทุนเดิมของบริษัททั้ง 5 แห่งจำนวน 10.44 ล้านล้านวอนที่ใช้ไปในการลงทุนทางเลือก เช่น ใบรับรองผู้รับผลประโยชน์และกองทุน ปัจจุบันมีมูลค่า 9.34 ล้านล้านวอน ซึ่งสะท้อนถึงการขาดทุน 10.5% ตามรายงานของ Korea Herald และรายงานของสื่อเกาหลีอื่นๆ

เพิ่มเงินสำรองรับความเสี่ยงภาคอสังหา

ชินฮัน ไฟแนนเชียล กรุ๊ป สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ของเกาหลีใต้ จึงได้เพิ่มเงินสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ และยังเชื่อมั่นว่าบริษัทสามารถฟื้นตัวได้ ท่ามกลางกระแสความกังวลด้านสินเชื่อ ที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนอสังหาฯทั่วโลก

จิน อ๊กดง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ชินฮัน ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า บริษัทลงทุนในอสังหาฯเชิงพาณิชย์ของสหรัฐและแคนาดามูลค่ารวมราว 2.4 ล้านล้านวอน (1.8 พันล้านดอลลาร์) โดยมีความเสี่ยงประมาณ 1.4 ล้านล้านวอน ส่วนสินทรัพย์ที่รอขายทอดตลาดมีมูลค่า 208,000 ล้านวอน

อ้างอิง bloomberg