แบงก์ทั่วโลก แห่โรดโชว์ กล่อมนักลงทุนเข้า’อินเดีย‘ หลัง JP Morgan เพิ่มลงทุน

แบงก์ทั่วโลก แห่โรดโชว์ กล่อมนักลงทุนเข้า’อินเดีย‘ หลัง JP Morgan เพิ่มลงทุน

ธนาคารทั่วโลกส่งเสริมตลาด พันธบัตรอินเดีย แห่โรดโชว์ กล่อมนักลงทุนเข้าลงทุนใน’อินเดีย‘ หลัง หลังเจพีมอร์เเกนจ่อนำอินเดียเข้า EM Market Bond Index ในเดือน มิ.ย.ปีนี้ คาดฟันด์โฟลว์สะพัด 4 หมื่นล้านดอลลาร์

keypoint:

  • JP Morgan ประกาศเพิ่มอินเดียในดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่
  • ตราสารหนี้ของอินเดียเข้ารวมในการคำนวณดัชนี GBI-EM ในวันที่ 28 มิ.ย.2567 เป็นระยะเวลา 10 เดือน
  • กองทุนทั่วโลกได้เริ่มเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอินเดีย กว่า 8 พันล้านดอลลาร์

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานถึงเหล่าธนาคารยักษ์ใหญ่ทั่วโลกกำลังเดินหน้าโรดโชว์การลงทุนในอินเดียเต็มกำลัง จากเม็ดเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่กำลังไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้เกิดใหม่อย่าง”อินเดีย“  ภายหลังการประกาศเพิ่มอินเดียในดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ 

ไม่ว่าจะเป็น Morgan Stanley, Barclays Plc., Citigroup Inc. และ Deutsche Bank AG ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถาบันที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณากับนักลงทุนระดับโลกที่อาจลงทุนเงินจํานวนมากในอินเดีย ตามที่แหล่งข่าวเปิดเผยกับบลูมเบิร์ก

บาร์คลีส์ (Barclays) ธนาคารยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ เป็นเจ้าภาพนักลงทุนในอินเดียสําหรับการประชุมเพื่อกําหนดนโยบาย และอยู่ในระหว่างการเตรียมจัดโรดโชว์กับกระทรวงการคลังของอินเดีย และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางในมุมไบและนิวเดลีในสัปดาห์นี้

ในขณะที่ มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) แบงก์เจ้าใหญ่ในสหรัฐจะจัดขึ้นในลอนดอน หลังจากเสร็จสิ้นการจัดโรดโชว์การลงทุนในอินเดียให้กับนักลงทุนในเอเชีย 

ด้านซิตี้แบงก์ได้จัดโรดโชว์หลายครั้งทั่วญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับขั้นตอนการดําเนินงานในการลงทุนในประเทศอินเดีย

ความเคลื่อนไหวของเหล่าธนาคารยักษ์ใหญ่เกิดขึ้นหลังจากที่ “เจพีมอร์แกน” เปิดเผยว่า ธนาคารจะนำตราสารหนี้ของอินเดียเข้ารวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ หรือ Government Bond Index-Emerging Markets (GBI-EM) ในเดือนมิถุนายน 2567 

โดยจะเริ่มนำตราสารหนี้ของอินเดียเข้ารวมในการคำนวณดัชนี GBI-EM ในวันที่ 28 มิ.ย.2567 เป็นระยะเวลา 10 เดือน ถึง มี.ค. 2568

เพราะสถานการตอนนี้ มีนักลงทุนชาวต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลอินเดียมากกว่า 2% ทําให้มีที่ว่างเพียงพอสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอินเดีย

ส่วนใหญ่พันธบัตรรัฐบาลอินเดียถือโดยนักลงทุนในท้องถิ่น และธนาคารต่างประเทศ จุดนี้สะท้อนน้ำหนักการลงทุนที่มีความน่าสนใจเทียบเท่ากับจีน

เป็นการเคลื่อนไหวที่อาจดึงดูดฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามายังอินเดีย โดยคาดว่าอินเดียจะมีน้ำหนักสูงถึง 10% ของดัชนี ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าจะมีเม็ดเงินจากกองทุนที่อิงตามดัชนี เข้าตลาดตราสารหนี้อินเดียประมาณ 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำให้กองทุนทั่วโลกได้เริ่มเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอินเดีย ที่คาดว่าจะถูกเพิ่มเข้าไปในดัชนี ตั้งแต่การประกาศของ JPMorgan ซึ่งในเดือนกันยายน พบว่ากองทุนทั่วโลกเพิ่มการถือครองเป็นมูลค่ากว่า 665 พันล้านรูปี หรือราว 8 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลจาก Clearing Corp.

ในขณะที่นักลงทุนสถาบันต่างชาติรายใหญ่จํานวนมากได้คว้าโอกาสในตลาดเกิดใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กองทุนขนาดเล็กพยายามโรดโชว์ด้วยการ ประชุมแบบตัวต่อตัว เพื่อล่อนักลงทุนยากทั้ง ฮ่องกง ลอนดอน สิงคโปร์ ดูไบ และนิวยอร์ก 

ไม่เพียงแค่ธนาคารเท่านั้น ข้อมูลจากสำนักหักบัญชี ประเทศอินเดีย พบว่า นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอินเดียเพิ่มขึ้น ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 เป็นมูลค่า 3.5 แสนล้านรูปี (1.4 แสนล้านบาท) ผลักดันให้มูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิในพันธบัตรรัฐบาลอินเดียทั้งปี อยู่ที่ 5.9 แสนล้านรูปี (2.4 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560

อย่างไรก็ดี การนำตราสารหนี้ของอินเดียเข้ารวมในการคำนวณดัชนี GBI-EM ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำหนักสำหรับตราสารหนี้ของประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากการถูกปรับลดน้ำหนักตราสารหนี้ในการคำนวณดัชนีถึง 1.65%