MSCI ถอดหุ้น'จีน' 66 บริษัทออกจากดัชนี พร้อมเพิ่มน้ำหนัก ตลาดหุ้น'อินเดีย'

MSCI ถอดหุ้น'จีน' 66 บริษัทออกจากดัชนี พร้อมเพิ่มน้ำหนัก ตลาดหุ้น'อินเดีย'

MSCI ถอดหุ้น 66 บริษัทของจีนออกจากดัชนี ดัชนี MSCI China หลังมูลค่าตลาดหุ้นจีนร่วงลงหลายล้านล้านดอลลาร์ สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจีนที่กำลังอ่อนแอ และเพิ่มน้ำหนักให้หุ้นอินเดีย ทำให้หุ้นอินเดียมีน้ำหนักสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในดัชนี MSCI Global Standard เป็นรองจีน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานถึง MSCI ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำดัชนีตลาดหุ้นระดับโลก ประกาศตัดบริษัทจีนหลายสิบแห่งออกจากเกณฑ์มาตรฐานระดับโลก หลังจากที่หุ้นจีนหลายตัวมีมูลค่าบริษัทร่วงลงหลายล้านล้านดอลลาร์

MSCI ถอดหุ้น 66 บริษัทของจีนออกจากดัชนี ดัชนี MSCI China ในรายงานทบทวนประจำเดือนก.พ.  ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 2 ปี ที่มีการถอดหุ้นจีนออก โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังจากตลาดปิดทำการซื้อขายในวันที่ 29 ก.พ.

ขณะเดียวกัน MSCI เพิ่มน้ำหนักของ หุ้นอินเดีย ในดัชนี Global Standard สู่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 18.2% ซึ่งอาจนำไปสู่การไหลเข้าประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์ ทำให้การถ่วงน้ำหนักของหุ้นอินเดียในดัชนีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ปัจจุบันอยู่ที่ 17.9% ทำให้หุ้นอินเดียมีน้ำหนักสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในดัชนี MSCI Global Standard รองจากจีน

โดยหุ้นจีนที่ถูกถอดออก เป็นบริษัทหลายแห่ง ตั้งแต่เทคโนโลยี หุ้นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Gemdale Corp. และ Greentown China Holdings Ltd. รวมถึง China Southern Airlines Co. และ Ping An Healthcare and Technology Co. และการค้าปลีก ไปจนถึงกลุ่มสุขภาพ 

รายงานดังกล่าว สะท้อนประเด็นกระแสด้านลบของหุ้นจีนได้เป็นอย่างดี หลังจากการลงทุนในประเทศลดลง เพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงความไม่มั่นคงทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ และที่สำคัญที่สุดคือ ความเสี่ยงของประเทศ ไคล์ ร็อดด้า (Kyle Rodda) นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ Capital.Com Inc. กล่าว

ไม่ได้มีเพียงการตัดหุ้นออกจาก ดัชนี MSCI China เท่านั้น ขณะเดียวกันได้เพิ่มหุ้น 5 บริษัทของจีนเข้าสู่ดัชนี MSCI China Index ด้วย ซึ่งรวมถึงบริษัท Midea Group Co. ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และบริษัท Giant Biogene Holding Co. บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรักษาโรคผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม MSCI คำนึงถึงปัจจัยหลายประการในการเพิ่มในดัชนีมาตรฐาน ซึ่งรวมถึงการพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ Free Float  และการปรับตัวขึ้นของราคา
 

อ้างอิง bloomberg reuters