กระแสตีกลับ ‘สหรัฐ’ ถล่มกลุ่มเอี่ยวอิหร่าน ในอิรัก - ซีเรีย เพราะเดินเกมผิด?

กระแสตีกลับ ‘สหรัฐ’ ถล่มกลุ่มเอี่ยวอิหร่าน ในอิรัก - ซีเรีย  เพราะเดินเกมผิด?

หนึ่งวันผ่านไป หลายฝ่ายรุมประณาม สหรัฐโจมตีกองกำลังที่อิหร่านหนุน ในซีเรียและอิรัก ไม่เพียงเสี่ยงสร้างสงคราม แต่จุดไฟเผาความสัมพันธ์ เทน้ำมันราดกองไฟในตะวันออกกลาง

Key Points :

  • กองทัพอิหร่านเรียกการโจมตีของสหรัฐ ต่อกองกำลังติดอาวุธในอิรักและซีเรีย  เป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดมาก 
  • ทางการซีเรีย และอิรัก ประสานเสียงชี้การโจมตีครั้งนี้ เพื่อจุดไฟสร้างความขัดแย้งในตะวันออกลาง ทั้งยังละเมิดอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน
  • ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การที่สหรัฐโจมตีกลับล่าช้าเกือบหนึ่งสัปดาห์ อาจต้องการให้อิหร่านถอนกำลังพลออกจากพื้นที่ และหลีกเลี่ยงขยายวงความขัดแย้ง
  • รองกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องความสงบสุขคืนสู่ภูมิภาค เพราะตะวันออกลางเหมือนกาต้มน้ำร้อน พร้อมระเบิดเมื่อไหร่ก็ได้ 

 

สหรัฐกำลังเผชิญการประณามจากอิหร่าน อิรัก ซีเรียและเสียงเตือนจากพันธมิตร แม้ครั้งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากลอนดอน ภายหลังการโจมตีทางอากาศในอิรักและซีเรีย เพื่อตอบโต้เหตุโดรนติดอาวุธโจมตีฐานทัพสหรัฐในจอร์แดน ซึ่งได้คร่าชีวิตทหารสหรัฐ 3 นายเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว 

กองทัพอิหร่านออกแถลงการณ์เรียกการโจมตีของสหรัฐ ต่อกองกำลังติดอาวุธในอิรักและซีเรีย เป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดมาก 

 

 

สหรัฐ เขย่าความมั่นคงตะวันออกกลาง

"การโจมตีซีเรียและอิรักเมื่อคืนนี้ ถือเป็นปฏิบัติการสุ่มเสี่ยง และเดินยุทธศาสตร์ผิดพลาดครั้งหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งไม่ส่งผลอะไรนอกจากความตึงเครียดและสั่นคอนความมั่นคงรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง" นัสเซอร์ คานาอานี โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่านกล่าววันเสาร์ (3ก.พ.)

สหรัฐได้เปิดฉากโจมตีกลับเป้าหมายเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ของวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ก.พ.) โดยมุ่งเป้าหมาย 85 จุดใน 6 แห่ง รวมถึงศูนย์บัญชาการ คลังอาวุธ และห้องหลบภัยใต้ดินของกลุ่มติดอาวุธ

การโจมตีของสหรัฐ ไม่ได้มุ่งไปที่อิหร่านหรือผู้นำอาวุโสนักรบคุดส์ ของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (IRGC) โดยตรง แต่มุ่งไปที่กลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนอยู่นอกดินแดน ท่ามกลางคำยืนยันจากรัฐบาลเตหะรานว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรืออยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีฐานทัพสหรัฐชื่อทาวเวอร์22 ในจอร์แดน

 

จับตาอิหร่าน เติมไฟสงคราม

อิหร่านและกองกำลังติดอาวุธจะตอบสนองการโจมตีครั้งนี้อย่างไร เป็นสิ่งที่ทั่วโลกหวาดหวั่นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหรือไม่

"จะไม่มีภัยคุกคามใดๆ ไม่ได้รับคืนสนอง" พล.ต.ฮูสเซน ซาลามี ผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์ปฏิวัติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนลี กล่าวเมื่อวันพุธ (31 ม.ค.) ก่อนที่ปฏิบัติการตอบโต้ของสหรัฐเริ่มต้นขึ้น

คำพูดของเขามีขึ้นหนึ่งวันหลังอามีร์ ซาอีด อิราวานี เอกอัครราชทูตถาวรอิหร่าน ประจำสหประชาชาติบอกกับนักข่าวในนิวยอร์กว่า "จะดำเนินการตอบโต้อย่างเด็ดขาด" ต่อการโจมตีอิหร่าน ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม

หากแต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า สหรัฐโจมตีกลับล่าช้าเกือบหนึ่งสัปดาห์ อาจต้องการให้อิหร่านถอนกำลังพลออกจากพื้นที่ และหลีกเลี่ยงขยายวงความขัดแย้ง

 

"หากคุณรู้กำลังตกเป็นเป้าหมาย ก็แค่หายตัวไป" เจ้าหน้าที่ระดับสูงอิรักกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลางเชื่อว่า อิหร่านจะตอบสนองเหตุการณ์นี้ ด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกับการที่สหรัฐลอบสังหารนายพลคาเซ็ม ซูลีมานี ผู้บัญชาการกองกำลังรบพิเศษคุดส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ IRGC เพียง 5 วันหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐในซีเรีย หลังแจ้งสหรัฐให้รู้ล่วงหน้าไม่กี่ชั่วโมง

  

ซีเรียไม่ทน โดนละเมิดอธิปไตย

แถลงการณ์ของกองทัพซีเรียระบุว่า การโจมตีของสหรัฐได้คร่า "ชีวิตพลเรือนและทหาร" ไปจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บอีกมาก และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะหลายแห่ง 

"การที่กองกำลังสหรัฐเข้ามาถือครองพื้นที่ซีเรียบางส่วน ตอนนี้ไม่อาจดำเนินต่อไปได้" กองทัพซีเรียยืนยัน และประกาศกร้าวว่า เรามุ่งมั่นจะปลดปล่อยดินแดนซีเรียทั้งหมดจากการก่อการร้ายและการยึดครองของฝ่ายใดๆ ก็ตาม 

กระทรวงการต่างประเทศซีเรียกล่าวว่า การโจมตีนี้ก็เพื่อจุดไฟความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และยังละเมิดอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนซีเรีย

"ซีเรียขอประณามสหรัฐ ละเมิดอธิปไตยอย่างโจ่งแจ้ง และขอปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อข้ออ้างและคำโกหกทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐ เพื่อใช้แก้ต่างในการโจมตีครั้งนี้ 

รามี อับดุลราห์มาน ผู้อำนวยการองค์กรสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอ้างว่า การโจมตีทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย ส่วนหนึ่งเป็นผู้ดูแลสถานที่ที่เป็นเป้าหมายของสหรัฐครั้งนี้ 

ส่วนในอิรักก็ได้รับความเสียหายไม่แพ้กัน โมฮัมเหม็ด ชี อัล-ซูดานี รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีอิรัก กล่าวในวันเสาร์ (3 ม.ค.)ว่า มีผู้เสียชีวิต 16 ราย ในจำนวนนั้นเป็นพลเรือนและบาดเจ็บ 25 รายจากการโจมตีดังกล่าว

 

อิรัก จับโกหกสหรัฐ

รัฐบาลอิรักได้เรียกอุปทูตสหรัฐ ประจำกรุงแบกแดด เพื่อแสดงการประท้วงและไม่พอใจอย่างเป็นทางการ

ในแถลงการณ์อิรักได้ประณามการโจมตีดังกล่าวว่า เป็นการรุกรานครั้งใหม่ต่ออธิปไตยอิรัก ทั้งยืนยันว่า

รัฐบาลแบกแดดไม่เคยได้รับการประสานจากวอชิงตันให้รู้ปฏิบัติการโจมตีล่วงหน้า และขอเรียกคำกล่าวใดๆของสหรัฐว่าเป็นคำ "โกหก" 

"การที่ยังมีกลุ่มพันธมิตรทางทหารนำโดยสหรัฐ ในภูมิภาคนี้ ได้กลายเป็นเหตุผลสร้างการคุกคามและเสถียรภาพในอิรัก โดยเฉพาะใช้เป็นข้ออ้างดึงอิรักเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ" แถลงการณ์อิรักระบุ

 

ฮามาส มองสหรัฐสุ่มไฟตะวันออกกลาง

กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านยังได้ร่วมประณามด้วย โดยระบุว่า สหรัฐต้องรับผิดชอบต่อผลการโจมตีไล่รุกหลายสิบเป้าหมาย ในอิรักและซีเรีย

"สหรัฐกำลังเทน้ำมันใส่กองไฟ รับรองเลยว่า ภูมิภาคนี้จะไม่พบกับ ความมั่นคงหรือสันติภาพ จนกว่าการอ้างเหตุผลเพื่อใช้รุกราน และอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดินแดนของตะวันออกกลางหลายแห่ง รวมถึงชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาจะยุติลง" แถลงการณ์กลุ่มฮามาสระบุ

 

อังกฤษ ยืนหนึ่งหนุนสหรัฐใช้สิทธิโต้กลับ

หากแต่ตอนนี้ มีเพียงรัฐบาลอังกฤษแสดงการสนับสนุนวอชิงตัน ในการโต้กลับโจมตีดังกล่าว

"สหราชอาณาจักรและสหรัฐเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เราไม่ขอแสดงความเห็นต่อปฏิบัติการของสหรัฐ แต่จะสนับสนุนสิทธิที่สหรัฐพึงมีในการตอบสนองหลังโดนโจมตี" โฆษกรัฐบาลอังกฤษระบุในแแถลงการณ์

เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐและอังกฤษได้เปิดฉากโจมตีกลุ่มฮูตีพร้อมกันทั่วเยเมน หลังจากกบฏฮูตี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ได้โจมตีเส้นทางขนส่งทางเรือในทะเลแดง เพราะต้องการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาวปาเลสไตน์ต่อต้านอิสราเอล

จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันเสาร์ (3 ก.พ.) กองทัพสหรัฐและอังกฤษได้เปิดฉากโจมตีอีกครั้ง มุ่งไปยังเป้าหมาย 36 แห่งในเยเมน ซึ่งเป็นฐานลับของกลุ่มกบฏฮูตี ทั้งนี้ปฏิบัติการของสหรัฐครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองในสัปดาห์นี้ หวังรุกไล่กลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุนอยู่

 

อียู เตือนตะวันออกกลางพร้อมระเบิด

ขณะที่ โจเซฟ บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ในฐานะรองประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงเหตุการณ์บานปลายในตะวันออกกลาง

"ทุกฝ่ายควรพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปกว่านี้" บอร์เรลล์กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียู ที่กรุงบรัสเซลส์

แม้ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สหรัฐโจมตีในอิรักและซีเรียโดยตรง แต่รองประธานกรรมาธิการยุโรป ย้ำเตือนว่า "ตะวันออกกลางเหมือนกาต้มน้ำร้อน พร้อมระเบิดเมื่อไหร่ก็ได้"

ราเดค ซิกอร์สกี้ รัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์กล่าวในระหว่างการไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูว่า กลุ่มกองกำลังที่อิหร่านให้การสนับสนุนเหล่านี้ ก่อเหตุความรุนแรงมานานหลายปี ตอนนี้ถึงเวลาทุกฝ่ายได้รับผลการกระทำ

 

เช็กกำลังทหารสหรัฐ ในอิรักและซีเรีย

มีรายงานว่า ขณะนี้มีทหารสหรัฐประจำการในอิรัก ประมาณ 2,500 นาย และในซีเรียประมาณ 900 นาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งแนวร่วมมีขึ้นปี 2557 เพื่อต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) โดยปีนั้นกลุ่มนักรบญิฮาดเข้ายึดครองพื้นที่ประมาณ 1 ในสามของอิรัก

นับตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุโดรนติดอาวุธและจรวดโจมตีกองกำลังพันธมิตรในอิรัก และซีเรีย มากกว่า 165 ครั้ง โดยส่วนใหญ่ถูกกลุ่ม IRGC อ้างเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ

อย่างไรก็ตาม กองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านบางส่วน ถูกจัดอยู่ในลิสต์ภัยคุกคามต่อฐานทัพสหรัฐมาหลายปี แต่กลุ่มนี้ได้ยกระดับปฏิบัติการโจมตีที่เข้มข้นขึ้น หลังอิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ส่งผลมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน และอีก 253 คนยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน

ที่มา : Times of Israel , BBC , Reuters