ขาลงราคา'นิกเกิล-ลิเทียม' ฉุดออสเตรเลียชวดผู้นำอุตฯแร่

ขาลงราคา'นิกเกิล-ลิเทียม' ฉุดออสเตรเลียชวดผู้นำอุตฯแร่

การเพิ่มขึ้นของอุปทานแร่นิกเกิล ยิ่งทำให้ราคาแร่ดิ่งและยากที่จะจำหน่ายในราคาสูง โดยเฉพาะนิกเกิลเกรด “Class I” ของออสเตรเลียที่ครองซัพพลาย 6% ของตลาดนิกเกิลทั่วโลก

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า ราคาวัสดุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำความท้าทายในการขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียวระดับโลกของออสเตรเลีย ทำให้เหมืองนิกเกิลหลายแห่งในออสเตรเลียประกาศชะลอการผลิตหรือระงับการผลิตไปหลายแห่งในเดือนม.ค. นี้

นักวิเคราะห์บอกว่า ตลาดแร่แบตเตอรี่กำลังเผชิญกับอุปสรรค เนื่องจากการผลักดันใช้พลังงานหมุนเวียนเริ่มชะลอตัว และการปรับใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้คนยังคงมีความระมัดระวังอยู่

“จัสติน สเมิร์ก” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากเวสต์แพก เผยว่า อุตสาหกรรมอีวีมีการลงทุนมหาศาล ขณะที่การเติบโตของอีวีแข็งแกร่งและได้รับความสนใจมาก แต่การเติบโตนี้ยังไม่แข็งแกร่งเท่าที่่ผู้คนคาดไว้ แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงอาจเป็นผลดีต่อการเติบโตของตลาดอีวี

ภาวะตลาดอีวีถดถอย กลายเป็นความท้าทายที่บริษัททรัพยากรท้องถิ่นออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากธุรกิจต่างกำลังแข่งขันเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ
 

ขณะที่ความท้าทายในการผลิตแร่นิกเกิลรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการสนับสนุนของรัฐบาลและจีนเข้าไปลงทุนอย่างหนัก ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่ต้องการในตลาด และได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมที่ช่วยให้แร่ราคาต่ำกว่า หรือที่เรียกว่า “Class II” นำไปถลุงและใช้ในแบตเตอรี่ได้ และตอนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีซัพพลายแร่นิกเกิลประมาณ 55% ของแร่นิกเกิลทั่วโลก

การเพิ่มขึ้นของอุปทานแร่นิกเกิล ยิ่งทำให้ราคาแร่ดิ่งและยากที่จะจำหน่ายในราคาสูง โดยเฉพาะนิกเกิลเกรด “Class I” ของออสเตรเลียที่ครองซัพพลาย 6% ของตลาดนิกเกิลทั่วโลก

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า อุปสรรคด้านพลังงานสะอาดมีราคาแพงและต้นทุนแรงงานสูง, ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน, จีนมีบทบาทโดดเด่นในการแปรรูแร่ธาตุที่สำคัญและเชี่ยวชาญผลิตแบตเตอรี่ ล้วนเป็นปัญหาที่ออสเตรเลียต้องฝ่าฟันให้ได้เช่นกัน

“ทิโมธี ฮอฟฟ์” นักวิเคราะห์เหมืองจาก Canaccord Genuity เผยว่า อุตสาหกรรมออสเตรเลียพลาดโอกาสการลงทุนพัฒนาเหมืองและพัฒนากระบวนการแยกผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ (downstream processing) เพื่อจำหน่ายแร่ในราคาที่สูงขึ้น และอุตสาหกรรมเหมืองของออสเตรเลียยังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างอีกด้วย

ขาลงราคา\'นิกเกิล-ลิเทียม\' ฉุดออสเตรเลียชวดผู้นำอุตฯแร่

ฮอฟฟ์เตือนด้วยว่า ตลาดลิเทียมอาจเกิดอุปทานส่วนเกิน ทำให้ราคาลิเทียมตกต่ำ หลังมีแหล่งอุปทานใหม่ในอเมริกาใต้, แอฟริกา, ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งข้อมูลจาก Benchmark Mineral Intelligence เผยว่า ราคาลิเทียมทั่วโลกดิ่งแรง 80% ในปี 2566

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีแหล่งลิเทียมมากที่สุดในโลก และจัดหาแร่นี้ให้ตลาดมากกว่า 50% ของโลก ทั้งยังเป็นซัพพลายเออร์โคบอลต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และมีแร่หายากมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งแร่ทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นแร่สำคัญสำหรับเทคโนโลยีสีเขียวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

เนื่องด้วยประเทศอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรแร่ “แมดเดอลีน คิง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร จึงได้พบกับผู้เล่นในตลาดลิเทียมและนิกเกิลรายใหญ่หลายบริษัท เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการรับสิทธิสนับสนุนจากรัฐบาล

คิง เผยกับสื่อว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป อย่างเช่น ท่าเรือ ระบบราง และถนน และจะหารือเกี่ยวกับสิทธิลดหย่อนภาษีกับกระทรวงการคลังร่วมด้วย

ขณะที่หน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรจากเวิสเทิร์นออสเตรเลีย มุ่งสนับสนุนการทำเหมืองใหม่ และจะสำรวจความเป็นไปได้ของการปรับลดและปฏิรูปค่าภาคหลวง ซึ่งปกติเหมืองในออสเตรเลียต้องจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐบาล สำหรับการสกัดแร่ที่ไม่ใช่แร่พลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมีจุดแข็งในฐานะที่ประเทศมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ต้องการผลิตแร่นิกเกิลสีเขียว

อย่างไรก็ตาม “เบรนต์ แมคอินเนส” ผู้อำนวยการศูนย์ธรณีโลหะวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคอร์ตินในเวสต์เทิร์นออสเตรเลีย บอกว่า ความพยายามเพิ่มความโปร่งใสในการผลิตอีวีของออสเตรเลีย ยังเผชิญกับความท้าทายจากจีน ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการแปรรูปแร่และผลิตแบตเตอรี่

ออสเตรเลียขุดแร่สปอดูมีนซึ่งเป็นแหล่งแร่สำคัญในการผลิตลิเทียม ขณะที่จีนผลิตลิเทียมผ่านการถลุงแร่เลปิโดไลต์สำรองในประเทศ ซึ่งเป็นแร่คุณภาพต่ำที่ต้องผ่านการสกัดหลายระดับ เพื่อให้ได้ลิเทียมในปริมาณที่ใกล้เคียงกับการสกัดแร่จากสปอดูมีน

แมคอินเนสย้ำ การกระตุ้นให้เกิดการผลิตแร่ที่สะอาดมากขึ้นผ่านการตรวจสอบความโปร่งใส่ของซัพพลายเชนเป็นความคิดที่ดี และมีความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั่วโลก

ทั้งนี้ ทีมงานของแมคอินเนส เป็นผู้พัฒนาเครื่องมือติดตามซัพพลายเชนผ่านบล็อกเชน ซึ่งสามารถติดตามได้ว่าลิเทียมแต่ละชนิดมาจากประเทศใด และโครงการของแมคอินเนส เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากศูนย์วิจัยสหกรณ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่แห่งอนาคต ที่นำผู้เล่นในอุตสาหกรรมแร่ รัฐบาล และนักวิจัยมาพูดคุยกัน 

ศูนย์นี้คาดการณ์ด้วยว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่อาจหนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของออสเตรเลียโตเพิ่ม 55,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ภายในปี 2573 และสร้างงานมากกว่า 60,000 ตำแหน่ง