‘ทายาทรุ่นใหม่’ ไม่ง้อรับช่วงกิจการต่อ เปิด ‘ธุรกิจรักษ์โลก’แทนสร้างกำไร

‘ทายาทรุ่นใหม่’ ไม่ง้อรับช่วงกิจการต่อ เปิด ‘ธุรกิจรักษ์โลก’แทนสร้างกำไร

‘ทายาทรุ่นใหม่’ ไม่ง้อรับช่วงกิจการต่อ เปิด ‘ธุรกิจรักษ์โลก’แทนเน้นสร้างกำไร โดยเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ด้วยการเน้นย้ำถึงความจำเป็นของบริษัทในการดำเนินงานให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับสิ่งแวดล้อม

ตั้งแต่มาเลเซียจนถึงสิงคโปร์และฟิลิปินส์ ธุรกิจครอบครัวรุ่นสองและสามในเอเชียต่างมีแนวทางดำเนินธุรกิจที่ต่างไปจากบรรพบุรุษเนื่องจากพวกเขาสนใจการลงทุนที่เน้นสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและมีความยั่งยืนมากกว่า

แม้ทายาทธุรกิจรุ่นมิลเลนเนียลบางคนดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น แต่ช่องว่างระหว่าง “ชีวิตที่สะดวกสบาย” ที่ทำให้พวกเขามีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการมีจิตสำนึกต่อสังคมจากผลกระทบของการลงทุน และ “ประสบการณ์การเติบโตจากความยากจน” ของพ่อแม่ ทำให้ทายาทบางคนมีความคิดที่ขัดแย้งกับครอบครัว

อาเบ ลิม ชาวมาเลเซียวัย 27 ปี เติบโตภายใต้การดูแลของครอบครัวอย่างดี ซึ่งต่างกับพ่อของเธอ ที่ต้องออกจากโรงเรียนในช่วงวัยรุ่นเพื่อทำงานเป็นช่างหาเลี้ยงครอบครัว

พ่อของลิมได้ก่อตั้งธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่น สบู่และน้ำยาล้างจาน และจ้างลิมให้ทำงานในบริษัท โดยตั้งความหวังว่าสักวันเธอจะกุมบังเหียน แต่อุดมการณ์ของลิมขัดแย้งกับโมเดลธุรกิจของพ่อที่ให้ความสำคัญกับการสร้างกำไรแบบเดิม ๆ

ลิม เผยกับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า “ฉันอยากทำอะไรบางอย่างที่ให้ผลกระทบมากกว่านี้ ธุรกิจของพ่อดำเนินด้วยวิธีแบบเก่า ๆ ที่โฟกัสแต่กำไรเป็นพื้นฐาน แทนที่ให้ความสำคัญกับรายได้ทางการเงิน ฉันอยากให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่นี่เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ สำหรับคนรุ่นก่อน”

ขณะทำงานในบริษัทพ่อ ลิมแนะนำให้พ่อก่อตั้งฝ่ายวิจัยและพัฒนาเพื่อทดลองเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ พ่อของเธอเห็นด้วยและลงทุนตามคำแนะนำของเธอ

“เมื่อผลทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าทำได้ แต่ในเชิงเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้ พ่อเลยล้มเลิก” ลิม กล่าว

นอกจากนี้ เธอกับพ่อยังมีความเห็นต่างกันในเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่พ่อโทษว่าเป็น “การโฆษณาชวนเชื่อของชาติตะวันตก” ลิมจึงตัดสินใจออกจากบริษัทพ่อ และออกไปตามเส้นทางของตนเอง

กิจการแรกของเธอที่ได้รับเงินทุนจากนักลงทุนอิสระ เป็นธุรกิจตลาดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์มือสอง มีจุดประสงค์ช่วยลดขยะด้วยการสนับสนุนใช้สิ่งของรีไซเคิล แต่ลิมบอกว่า ธุรกิจไม่สามารถคงอยู่ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากตลาดยังไม่เติบโตมากพอ และธุรกิจนี้ยังเผชิญกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่แพร่หลายในวัฒนธรรมเอเชีย เพราะบางคนยังเชื่อว่าเฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ มีผีสิง

จากนั้นในปี 2564 ลิมได้ก่อตั้งบริษัทเพอร์โพสพลาสติก เป็นธุรกิจที่นำพลาสติกมารีไซเคิลเป็นของตกแต่งบ้าน ตัวหมากรุก เฟอร์นิเจอร์ ไพ่นกกระจอก หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย

“เราได้กำไรแล้ว คำสั่งซื้อจำนวนมากถือเป็นของขวัญดี ๆ สำหรับองค์กรของเราเสมอ เราไม่อยากพูดว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะฉันหวังว่ามันจะสำเร็จสักวันหนึ่ง สำหรับธุรกิจที่จะร่วมลงเรือและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืน ต้องมีแรงจูงใจรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จึงจะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้” ลิม ย้ำ

นอกจากนี้ บัณฑิตกฎหมายอย่างลิมยังลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐสลังงอร์ เมื่อเดือน ส.ค. 2566 โดยเน้นเผยแพร่นโยบายรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แม้เธอไม่ได้รับเลือก แต่เธอจะลงสมัครใหม่อีกครั้ง

ลิม สมาชิก Malaysian United Democratic Alliance พรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ ทิ้งท้ายว่า “ตอนนี้ฉันอยากให้ความสำคัญกับการปลูกฝังด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประชน จากนั้นค่อยเพิ่มการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเป็นนักการเมืองไม่ใช่แค่การถูกรับเลือกเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการจัดหาโซลูชันที่สนับสนุนวิถีชีวิตของผู้คนในระยะยาวด้วย”

ด้านโกมาล ซาฮู สมาชิกเครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมแห่งเอเชีย (Asian Venture Philanthropy Network) หรือเอวีพีเอ็น เผยว่า เจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ด้วยการเน้นย้ำถึงความจำเป็นของบริษัทในการดำเนินงานให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับสิ่งแวดล้อม

“นักธุรกิจรุ่นใหม่ตระหนักดีว่าความมั่งคั่งของครอบครัวสามารถเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และตอบสนองความต้องการของสังคม นอกเหนือจากความช่วยเหลือของรัฐบาล”ซาฮู กล่าว

ซาฮู บอกว่า ทายาทธุรกิจรุ่นสองรุ่นสาม ต่างน้อมรับแนวคิดการมีจิตสำนึกต่อสังคม เพื่อแสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนทางการเงินมาจะพร้อมกับการบรรลุเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และย้ำว่า ไม่ควรมองว่ามีแต่ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดธุรกิจของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเท่านั้น

“ความขัดแย้งระหว่างรุ่นไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป ในบางกรณี คนรุ่นก่อนก็เป็นหนึ่งในคนที่สนับสนุนแนวทางที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และและมีแนวคิดที่สร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจหรือความพยายามสร้างจิตสำนึกต่อสังคมประสบความสำเร็จต่อเนื่อง” ซาฮู ย้ำ