รู้จัก BYD ซอฟต์พาวเวอร์จีนที่‘อีลอน มัสก์’ เคยหัวเราะเยาะ

รู้จัก BYD ซอฟต์พาวเวอร์จีนที่‘อีลอน มัสก์’ เคยหัวเราะเยาะ

เมื่อปี 2011 อีลอน มัสก์ เคยให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก หัวเราะเยาะสินค้าของ BYD แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมากแล้ว เมื่อค่ายรถจีนรายนี้ทำยอดขายแซงหน้าเทสลาได้

Key Points:

  •  ปี 2011 อีลอน มัสก์ เคยหัวเราะเยาะสินค้าของ BYD ยักษ์ใหญ่จากจีน และไม่มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อเทสลา
  • BYD โค่นบัลลังก์เทสลาในไตรมาสสี่ที่ผ่านมา ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตอีวีเบอร์หนึ่ง ด้วยยอดขายมากกว่าคู่แข่งสหรัฐอย่างเทสลา 
  •  บีวายดีเติบโตจากผู้ผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ มาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใหญ่สุดรายหนึ่งบนผืนพิภพ และตอนนี้กำลังรุกขยายตัวไปต่างประเทศ 

“คุณเคยเห็นรถของเขาเหรอ” มัสก์แซะ BYD ผ่านการให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กเมื่อหลายปีก่อน 

“ผมไม่คิดว่าจะน่าสนใจ เทคโนโลยีไม่ได้ดีมาก และ BYD ในฐานะบริษัทก็มีปัญหาค่อนข้างหนักในจีน ผมคิดว่านะ พวกเขาน่าจะโฟกัสทำไงให้รอดได้ในจีน”

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ถึงวันนี้ BYD ไม่ได้ล้มหายตายจาก แต่กลับโค่นบัลลังก์เทสลาได้ในไตรมาสสี่ ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถอีวีอันดับหนึ่ง ขายยานยนต์พลังงานแบตเตอรีได้มากกว่าเทสลา คู่แข่งจากสหรัฐ

“เป้าหมายของพวกเขาคือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของจีน และทำให้จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์โลก” เทย์เลอร์ โอแกน ซีอีโอสโนว์บูลแคปิตอล กล่าวถึงความฝันอันยาวนานของบีวายดี

น่าสนใจว่าบริษัทที่เริ่มต้นจากการผลิตแบตเตอรีโทรศัพทือกลายเป็นยักษ์ใหญ่รถไฟฟ้าได้อย่างไร

ย้อนประวัติ BYD

แม้รู้จักกันดีในฐานะยักษ์ใหญ่รถยนต์ไฟฟ้า แต่ธุรกิจของ BYD มีมากมายหลายสาขาตั้งแต่แบตเตอรี่ไปจนถึงการทำเหมืองและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นเหตุผลใหญ่เบื้องหลังความสำเร็จ

นักเคมีนาม “หวัง ฉวนฟู่” ก่อตั้ง BYD ในปี 1995 ที่เมืองเสิ่นเจิ้น ศูนย์กลางเทคโนโลยีทางภาคใต้ของจีน ด้วยพนักงาน 20 คน เงินลงทุน 2.5 ล้านหยวน หรือ 351,994 ดอลลาร์ ณ อัตราแลกเปลี่ยนวันนี้

ปี 1996 BYD เริ่มผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-อิออน ที่ใช้กันในสมาร์ทโฟนทันสมัย ด้วยการเติบโตของโทรศัพท์มือถือ BYD ได้จัดหาแบตเตอรี่ให้กับ โมโตโรลาในปี 2000 และโนเกียในปี 2002 บริษัที่เป็นสองยักษ์ใหญ่โทรศัพท์มือถือในเวลานั้น

เข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์

ปี 2003 BYD ซื้อบริษัทผลิตรถยนต์รายเล็กXi’an Qinchuan Automobile สองปีต่อมาเปิดตัวรถคันแรกรุ่น F3 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สันดาป หลังจากนั้นในปี 2008 เปิดตัว F3DM รถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน

ปีเดียวกันเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ลงทุน 230 ล้านดอลลาร์ใน BYD ช่วยเติมฝันรถยนต์ไฟฟ้าให้กับ BYD

บริษัทเดินหน้าเข้าสู่ภาคส่วนอีวีอย่างต่อเนื่อง และประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทผลิตแบตเตอรี่เข้ามาในวงการ ปี 2020 BYD เปิดตัวแบตเตอรี่เบลด ที่หลายคนกล่าวว่า ช่วยหนุนการเติบโตของ BYD ในแวดวงอีวี

เบลดเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (แอลเอฟพี) ที่ตอนนั้นผู้ผลิตแบตเตอรี่หลายรายอยากเลิกผลิตด้วยมองว่ามีข้อด้อยหลายอย่าง อาทิ น้ำหนักมากเกินไปเมื่อเทียบกับพลังงานที่ให้

แต่ BYD อวดว่าเบลดคือความล้ำหน้าไม่มีใครเหมือน ให้พลังงานสูงและปลอดภัยมาก บริษัทให้คำมั่นใช้เบลดกับ Han รถสปอร์ตซีดานเปิดตัวในปี 2020 และถูกมองว่า เป็นคู่แข่งกับโมเดลเอสของเทสลา จากนั้น BYD ใช้เบลดกับรถรุ่นถัดๆ ไป

โอแกนกล่าวว่า ความเข้มข้นของพลังงานในระดับเซลล์และชุดแบตเตอรี่ของเบลด เอาเข้าจริงสูงกว่าที่ BYD เปิดตัวในตอนแรก “เล่นเอาทุกคนทึ่ง”

ความน่าทึ่งพิจารณาได้จากยอดขาย ปี 2020 บีวายดีขายรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ได้ 130,970 คน ปี 2566 บริษัทขายได้ 1.57 ล้านคัน

เบื้องหลังความสำเร็จ BYD

ความสำเร็จไม่มีใครเหมือนกับเบลดตอกย้ำความสำเร็จของ BYD ในอุตสาหกรรมอีวี ทั้งในแง่การลงทุนเชิงยุทธศาสตร์และข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทมีธุรกิจมากกว่าแค่รถยนต์

“BYD เรียนรู้การเป็นซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมไฮเทค เสริมสร้างความยืดหยุ่นด้วยการจัดหาแบตเตอรี่ให้กับบริษัทจู้จี้อย่างแอปเปิ้ล” ทู เล จากชิโนออโตอินไซต์กล่าวกับซีเอ็นบีซี

“เมื่อ หวัง ฉวนฟู่ มีเครื่องมือซื้อแบรนด์รถยนต์จีนล้มละลาย และสามารถโฟกัสกับนวัตกรรมเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ก็มากพอที่จะขายให้กับบริษัทรถยนต์รายอื่น ถ้ายังไม่พอพวกเขาก็มุ่งหน้าปรับปรุงดีไซน์ งานวิศวกรรม และคุณภาพรถยนต์ของตนอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นเราไม่รู้หรอก แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นตลอด 15-20 ปีที่มาเห็นผลก็ตอนที่แซงเทสลาได้ในไตรมาสสี่ ปี 2566”

มื่อตอนเริ่มต้น BYD ไม่ได้โดดลงไปทำอีวีล้วนๆ บริษัทยังคงขายรถไฮบริด ที่อัลวิน หลิว นักวิเคราะห์จากบริษัทแคนาลิส กล่าวว่า เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ BYD ในช่วงแรก

“ในช่วงแรกของตลาดอีวีจีน BYD เลือกเปิดตัวรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (บีอีวี) และไฮบริดปลั๊กอิน (พีเอชอีวี) ไปพร้อมๆ กัน ยุทธศาสตร์นี้เปิดให้ BYD ชนะตลาดในช่วงที่สถานีชาร์จยังมีไม่มากนัก และผู้ใช้ยังไม่แน่ใจถึงข้อได้เปรียบของอีวี คุณลักษณะของพีเอชอีวี เช่น ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูง ไม่ต้องกังวลเรื่องระยะทาง มีบทบาทสำคัญช่วยให้ BYD เอาชนะตลาด” หลิวกล่าวและว่า BYD วางตำแหน่งตนเองในตลาดระดับกลาง ที่มีคู่แข่งน้อยกว่าในจีน ซึ่งช่วยหนุนการเติบโต นอกจากนี้ BYD สร้างแบรนด์ได้ดี สร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ย่อยๆ เพื่อจัดการกับความแตกต่างของราคาในตลาด ตัวอย่างเช่น เดนซา แบรนด์อีวีระดับกลางถึงไฮเอนด์ของ BYD

ปักกิ่งสนับสนุนอีวี

นอกเหนือจากกลวิธีของ BYD เองแล้ว การเติบโตของบริษัทยังได้รับการสนับสนุนอย่างมหาศาลของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนภาคส่วนอีวีของประเทศด้วย ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งให้เงินอุดหนุนจูงใจผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนอุตสาหกรรม มาตรการเหล่านี้เริ่มต้นราวปี 2009 ในช่วงที่ BYD พยายามรุกผลักดันอีวี

โรเดียมกรุ๊ปประเมินว่าระหว่างปี 2015-2020 BYD ได้รับการสนับสนุนจากรัฐประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์

“BYD เป็นบริษัทที่ปรับตัวดี มีนวัตกรรมสูง แต่การเติบโตก็ผูกโยงกับการปกป้องและสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งอย่างแยกไม่ออก ถ้าไม่ได้ปักกิ่งหนุนหลัง BYD ไม่มีทางเป็นมหาอำนาจโลกได้ในวันนี้” เกรเกอร์ เซบาสเตียน นักวิเคราะห์อาวุโสบริษัทโรเดียมกล่าวกับซีเอ็นบีซี

ฝันใหญ่ระดับโลก

หลังจากเป็นเจ้าตลาดอีวีจีนแล้ว ตอนนี้ BYD กำลังรุกไปตลาดต่างประเทศ ขายรถในหลายๆ ที่ตั้งแต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปจนถึงไทยและสหราชอาณาจักร

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BYD ครองส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้า 43% แต่การขยายไปต่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องของการขายรถ แต่ยังมีทั้งการผลิตและวัตถุดิบด้วย

BYD เคยกล่าวไว้ในเดือน ธ.ค.ว่า จะเปิดโรงงานผลิตแห่งแรกของยุโรปในฮังการี และหาทางซื้อเหมืองลิเทียมในบราซิล ซึ่งลิเทียมเป็นองค์ประกอบสำคัญในแบตเตอรี่ของ BYD

แต่การขยายตัวก็มาพร้อมกับการตรวจสอบของรัฐบาลนานาประเทศ ผู้กังวลเรื่องการอุดหนุนที่บริษัทจีนรายนี้ได้รับ

ในเดือน ก.ย. คณะกรรมาธิการยุโรป องค์กรบริหารของอียู เปิดสอบการอุดหนุนที่ผู้ผลิตรถอีวีจีนได้รับ

ขณะเดียวกันสหรัฐกำลังพยายามหนุนภาคอีวีในประเทศผ่านกฎหมายลดเงินเฟ้อ (ไออาร์เอ) ที่มีเป้าหมายขจัดคู่แข่งจีน

“ทั้งไออาร์เอและการสอบสวนของอียูมีเป้าหมายบั่นทอนความก้าวหน้าของจีนในตลาดเหล่านี้ เพื่อให้มั่นใจได้ถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง BYD กำลังรุกแก้ไขอุปสรรคทางการเมือง สิ่งที่เห็นจากการลงทุนล่าสุดในโรงงานอีวีฮังการี ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทในการขยายตัวออกไปทั่วโลก” เซบาสเตียนจากโรเดียมกล่าว

สิ่งที่ต้องจับตาต่อ

การต่อสู้ระหว่างเทสลากับ BYD สองผู้ผลิตอีวีรายใหญ่สุดของโลกน่าจะดำเนินต่อไป เล จากชิโนออโตอินไซต์ เชื่อว่า BYD ยังไม่บรรลุศักยภาพสูงสุด

สำหรับเทสลา บริษัทกำลังเผชิญการแข่งขันหนักหน่วงในปี 2024 เมื่อคู่แข่งจีนเปิดตัวรถรุ่นใหม่มากขึ้น และผู้ผลิตรถสันดาปพยายามไล่ตามการแข่งขันด้านอีวีให้ทัน

แดเนียล โรสกา นักวิเคราะห์อาวุโสจากเบิร์นสทีนรีเสิร์ช มองว่า ในไม่กี่เดือนข้างหน้ายอดขายรถเทสลาจะไม่มากนัก BYD จะโตแรงกว่า เนื่องจากตลาดยุโรปและอื่นๆ โตเร็ว

ส่วนมัสก์แห่งเทสลานั้นเพิ่งนึกได้ว่า เขาไม่ควรดูเบา BYD ในการแสดงความเห็นบนแพลตฟอร์ม X ตอบการโพสต์วีดิโอที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กในปี 2011 มัสก์เหมือนจะแก้ตัวกลายๆ 

“นั่นมันหลายปีมาแล้ว ตอนนี้รถของพวกเขาแข่งขันได้สูงมาก”