กฏความปลอดภัยที่ ‘เขียนด้วยเลือด’ คู่มือช่วย JAL รอดตายยกลำ

กฏความปลอดภัยที่ ‘เขียนด้วยเลือด’ คู่มือช่วย JAL รอดตายยกลำ

สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นกับ JAL 123 ยังคงฝังรากลึกอยู่ในเจแปน แอร์ไลน์มาจนถึงปัจจุบัน โดยในวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น พวกเขาจะร่วมกันรับผิดชอบแบบเป็นกลุ่มและต้องการทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นอีก

ภาพของเครื่องบินแอร์บัส A350 สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) ที่ไฟลุกท่วมทั่วทั้งลำเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา แทบจะเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นรับปีใหม่ 2567 นี้ เมื่อผู้โดยสารและลูกเรือ 379 คน รอดชีวิตมาได้ทั้งหมด แม้ว่าในส่วนของเครื่องบินตรวจการชายฝั่งที่ชนกับเครื่องบินลำนี้ จะมีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บสาหัสอีก 1 คนก็ตาม

อย่างไรก็ดี หากย้อนดูประวัติศาสตร์การบินญี่ปุ่นตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า การอพยพผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 379 ชีวิตออกมาได้โดยปลอดภัยในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของปาฏิหาริย์ สิ่งเร้นลับ หรือเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่มาจาก “คู่มือความปลอดภัยที่เขียนด้วยเลือด” หรือการเรียนรู้จากโศกนาฎกรรมที่ผ่านมา ของ JAL

บรรดาผู้เชี่ยวชาญในวงการการบินต่างระบุในทิศทางเดียวกันว่า การอพยพคนทั้งหมดออกจากเครื่องบินได้อย่างปลอดภัยเป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการความปลอดภัยทางการบินยุคใหม่ และวัฒนธรรมเรื่องความปลอดภัยที่เข้มงวดจนเลื่องชื่อของเจแปน แอร์ไลน์เอง

“จากที่ผมเห็นในคลิปข่าว ผมทั้งประหลาดใจและโล่งใจในเวลาเดียวกันที่เห็นทุกคนอพยพออกมาจากเครื่องบินได้” แกรม เบรธเวท ศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยและการสืบสวนอุบัติเหตุ มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ ในอังกฤษ กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

“มันเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากสำหรับเครื่องบินทุกลำที่ต้องเจออะไรแบบนี้ แต่เมื่อรู้ว่าเป็นสายการบินนี้ และรู้ว่าพวกเขาทุ่มเทความพยายามมากแค่ไหนในเรื่องความปลอดภัยและการฝึกอบรมลูกเรือ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ได้เห็นพวกเขาทำงานได้ดีแบบนี้”

“คู่มือเลือด” ของเจแปน แอร์ไลน์ที่สำนักข่าวหลายแห่งระบุถึง คือโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับสายการบินแห่งนี้เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน กับเที่ยวบินที่ 123 จากโตเกียวไปโอซากา เมื่อช่างเทคนิคของเครื่องบินโบอิ้งซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุครั้งก่อนหน้าอย่าง “ไม่ได้มาตรฐาน” จนทำให้แผงกั้นปรับความดันอากาศท้ายเครื่องเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินเกิดระเบิดบริเวณท้ายเครื่อง

เที่ยวบินที่ 123 จากสนามบินฮาเนดะ โตเกียว มุ่งหน้าไปโอซากา ประสบเหตุตกเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 1985 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบยกลำ 520 คน จากผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 524 คน และกลายเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินโลก

เบรธเวท กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นกับ JAL 123 ยังคงฝังรากลึกอยู่ในเจแปน แอร์ไลน์มาจนถึงปัจจุบัน โดยในวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น พวกเขาจะร่วมกันรับผิดชอบแบบเป็นกลุ่มและต้องการทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นเมื่อมีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น พวกเขาจะมองเป็นสิ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้ และเป็นโอกาสในการปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

หลังจากที่ผ่านไป 20 ปี บริษัทเริ่มตระหนักว่าพนักงานส่วนใหญ่ที่เข้ามาร่วมงานหลังจากนั้นไม่ได้มีความทรงจำร่วมของเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยกัน ในปี 2005 บริษัทจึงได้เปิดพื้นที่ในสำนักงานใหญ่ที่กรุงโตเกียวเพื่อจัดแสดง “เศษซาก” ของเครื่องบินลำดังกล่าว พร้อมทั้งเรื่องราวของผู้โดยสารและลูกเรือจากเที่ยวบินที่ 123 เพื่อให้พนักงานทั้งหมดของ JAL ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม ยังคงตระหนักถึงโศกนาฏกรรมครั้งนั้นและตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางอากาศอยู่เสมอ

“พวกเขามีวัฒนธรรมที่เคร่งครัดมากในเรื่องมาตรฐานกระบวนการทำงาน และการทำทุกอย่างให้ถูกต้องเหมาะสม นั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลของเที่ยวบินล่าสุดนี้ที่ผมคิดว่าลูกเรือทำหน้าที่ได้อย่างดีทีเดียว” เบรธเวท กล่าวและระบุด้วยว่าการอพยพผู้โดยสารออกจากเครื่องที่กำลังไฟลุกท่วมได้สำเร็จ คือเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดว่าทำไมคนถึงเลือกบินกับเจแปน แอร์ไลน์

ทั้งนี้ เจแปน แอร์ไลน์ มักได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสายการบินที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอยู่บ่อยครั้ง จากการจัดอันดับประจำปีของเว็บไซต์ Airlineratings.com

คู่มืออพยพฉบับเจแปน แอร์ไลน์

การรุกล้ำทางวิ่ง (Runway Incursions) แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นจะถือเป็นเรื่องที่มีความรุนแรงระดับ A ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ซึ่งปัจจุบันทางการญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของเครื่องบินชนกันในสนามบินฮาเนดะครั้งนี้ โดยเฉพาะเหตุใดเครื่องบินตรวจการชายฝั่งจึงอยู่ในรันเวย์ขณะที่เครื่องของ JAL กำลังร่อนลงจอด ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องรอผลการสอบต่อไป

แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนในอุตสาหกรรมการบินเห็นตรงกันก็คือ ปฏิกิริยาที่รวดเร็วของลูกเรือเที่ยวบิน JAL516 ในการเร่งอพยพคนออกมาจากเครื่องบิน คือสิ่งที่ช่วยชีวิตคนหลายร้อยคน

ภายในไม่กี่วินาทีที่เครื่องบินหยุดนิ่ง แพสไลด์จากประตูเครื่องก็พองตัวขึ้น และมีการอพยพผู้โดยสารออกมาได้อย่างรวดเร็วแม้ว่าเครื่องบินจะมีไฟลุกไหม้และห้องโดยสารจะเต็มไปด้วยควันไฟก็ตาม

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ การอพยพจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วหากไม่ได้รับความร่วมมือจาก “ผู้โดยสาร”

สตีเฟน เออลิช ประธานของมูลนิธิไพล็อตส์ทูเกเตอร์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือลูกเรือในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กล่าวว่า การที่ผู้โดยสารอพยพโดยไม่หยิบกระเป๋าบนเครื่องมาด้วยนั้นเป็นข้อปฏิบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งในการอพยพฉุกเฉิน และเป็นสิ่งที่ได้เห็นในเที่ยวบิน JAL516 ครั้งนี้

มิกะ ยามาเกะ เปิดเผยว่า สามีของเธอที่อยู่ในเที่ยวบินดังกล่าวอพยพหนีออกมาแต่ตัวพร้อมโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว และยอมทิ้งทุกอย่างไว้บนเครื่อง

กัปตันของสายการบินยุโรปรายหนึ่งกล่าวว่า ปัจจัยเรื่องของวัฒนธรรมคนในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญเพราะในบางประเทศที่ผู้คนมีมุมมองและวัฒนธรรมต่างออกไป อาจมีปัญหาเรื่องการพะวงห่วงกระเป๋าและของมีค่าจนมีปัญหาต่อการอพยพฉุกเฉิน

“ทุกวินาทีที่ล่าช้าในการอพยพเพราะมัวแต่ห่วงคอมพิวเตอร์แลปท็อปหรือกระเป๋าถือขึ้นเครื่องอาจหมายถึงหายนะ อุบัติเหตุครั้งนี้อาจกลายเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้หากผู้โดยสารไม่ยอมฟังคำเตือนให้ทิ้งสัมภาระไว้ข้างหลัง” เออลิชกล่าว