จำคุก ‘โมฮัมหมัด ยูนุส’ เจ้าพ่อธนาคารคนจนบังกลาเทศ

จำคุก ‘โมฮัมหมัด ยูนุส’ เจ้าพ่อธนาคารคนจนบังกลาเทศ

โมฮัมหมัด ยูนุส ผู้บุกเบิกสถาบันการเงินขนาดเล็ก เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพที่ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก ถูกศาลบังกลาเทศพิพากษาจำคุกฐานความผิดคดีแรงงาน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นักเศรษฐศาสตร์วัย 83 ปี ผู้ได้รับฉายาว่า “นายธนาคารสำหรับคนยากจนสุดๆ” ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2549 จากผลงานตั้งกรามีนแบงก์ สถาบันการเงินขนาดเล็ก ปล่อยเงินกู้รายย่อยให้ผู้หญิงชนบท เพื่อนำไปลงทุนซื้อเครื่องมือทำการเกษตร ทำธุรกิจ เพิ่มรายได้

กรามีนแบงก์ได้รับการยกย่องว่าช่วยปลดปล่อยการเติบโตทางเศรษฐกิจในบังกลาเทศ ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากนำธนาคารกรามีนไปเป็นต้นแบบ

“มนุษย์เราไม่ควรเกิดมาระทมทุกข์กับความหิวโหยและยากจน” ยูนุสกล่าวในงานโนเบล แต่ในบังกลาเทศเขากลายเป็นปรปักษ์กับนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวหาเขา “ดูดเลือดคนจน”

วันนี้ (1 ม.ค.) ศาลแรงงานธากาพิพากษาให้ยูนุสและเพื่อนอีกสามคนจากบริษัทหนึ่งที่เขาตั้งขึ้นมาต้องโทษจำคุกหกเดือน จากฐานความผิดไม่ตั้งกองทุนสวัสดิการพนักงาน ยูนุสได้รับการประกันตัวทันทีระหว่างรออุทธรณ์ จำเลยทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา องค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลวิจารณ์ว่าคดีมีแรงจูงใจทางการเมือง

นอกจากคดีนี้ ยูนุสยังมีอีกกว่า 100 คดี ทั้งถูกกล่าวหาว่าทุจริตและละเมิดกฎหมายแรงงาน

รัฐบาลของฮาสินาปราบปรามผู้ท้าทายทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ และความนิยมที่ยูนุสสั่งสมมาหลายปีทำให้เขาเป็นว่าที่คู่แข่ง

หนึ่งปีหลังได้รางวัลโนเบล ยูนุสประกาศแผนตั้งพรรคการเมือง “พลังพลเมือง” ของตนเอง เพื่อยุติวัฒนธรรมการเมืองแบบเผชิญหน้าของบังกลาเทศ ที่ต้องสะดุดลงเพราะความไร้เสถียรภาพและการปกครองของทหารหลายครั้ง

แต่ภายในไม่กี่เดือน ยูนุสต้องละทิ้งความฝัน กระนั้นชนชั้นปกครองยังมองว่าเขาเป็นปฏิปักษ์

นับตั้งแต่ฮาสินากลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2551 ยูนุสเจอคดีอาญาหลายคดี และถูกระดมป้ายสีจากหน่วยงานอิสลามนำโดยรัฐกล่าวหาว่าเขาส่งเสริมการรักเพศเดียวกัน

รัฐบาลบีบให้เขาออกจากกรามีนแบงก์ในปี 2554 ยูนุสสู้คดีแต่ศาลอาญาพิพากษายืน

ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งที่เขาเป็นประธานถูกสอบทุจริตในปี 2565 จากข้อกล่าวหายักยอกเงินพนักงาน นักวิจารณ์มองว่า เป็นข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

แม้แต่ตอนที่ธนาคารโลกยกเลิกให้ทุนสร้างสะพานแห่งหนึ่งใกล้กรุงธากา เพราะมีเรื่องสินบนฉาว ฮาสินาก็กล่าวโทษยูนุส

สุดท้ายสะพานก็เปิดใช้งานในปี 2565 หลังก่อสร้างล่าช้ามาหลายปี ในพิธีเปิดฮาสินากล่าวว่า ยูนุสควร “ชุบตัวลงในแม่น้ำ” โทษฐานบ่อนทำลายการก่อสร้างจนล่าช้า

ยูนุสปฏิเสธแข็งขันว่าเขาไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเวิลด์แบงก์ สำนักงานของเขาเรียกคำอ้างนี้ว่า “มโนล้วนๆ”

ความยากจนอยู่รอบตัวผม

ยูนุสเกิดในปี 2483 ณ เมืองชายฝั่งจิตตะกอง ในครอบครัวมีอันจะกิน พ่อเป็นช่างทองผู้ประสบความสำเร็จ

เขายกย่องแม่ว่ามีอิทธิพลสูงสุดกับเขา แม่ผู้ให้ความช่วยเหลือกับทุกคนที่เคาะประตูร้องขอ

ยูนุสได้ทุนฟุลไบรท์ไปเรียนในสหรัฐ และกลับประเทศทันทีหลังบังกลาเทศได้เอกราชจากปากีสถานในสงครามนองเลือดปี 2514

เมื่อกลับมาเขาได้รับเลือกเป็นหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจิตตะกอง แต่ประเทศเกิดใหม่แห่งนี้มีปัญหาอดอยากรุนแรง และเขารู้สึกว่าถึงเวลาต้องลงมือทำอะไรจริงๆ จังๆ

“ความยากจนอยู่รอบตัวผม ผมไม่สามารถหันหลังให้มันได้ ผมพบว่า มันยากมากที่จะสอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สวยหรูในชั้นเรียนมหาวิทยาลัย ผมอยากทำอะไรทันทีเพื่อช่วยเหลือผู้คนรอบตัว” ยูนุสกล่าวในปี 2549

หลังจากทดลองมาหลายปีให้สินเชื่อแก่คนยากจนที่จนเกินกว่าจะขอกู้ธนาคารได้ ยูนุสก็ตั้งกรามีนแบงก์ขึ้นมาในปี 2526 ตามรายงานฉบับล่าสุดปี 2563 ธนาคารมีลูกค้ากว่า 9 ล้านคน ผู้กู้ยืมกว่า 97% เป็นผู้หญิง

การทำงานของยูนุสได้รับการยกย่องมากมาย รวมถึงได้รับเหรียญแห่งเสรีภาพประธานาธิบดีสหรัฐโดยบารัก โอบามา

สำหรับการพิพากษาคดีในวันนี้ มีการชุมนุมเล็กๆ นอกศาล

“ผมถูกลงโทษจากอาชญากรรมที่ผมไม่ได้ก่อ ถ้าคุณอยากเรียกว่าความยุติธรรมก็เรียกไป” ยูนุสกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการพิจารณาคดี