การเงินฮามาส ‘แกร่ง’ สู้อิสราเอลได้อีกนาน

การเงินฮามาส ‘แกร่ง’ สู้อิสราเอลได้อีกนาน

ฮามาสตกเป็นเป้าอิสราเอลโจมตีกาซาอย่างไม่รามือ แต่ด้วยการเงินที่แข็งแกร่ง และหลากหลายคาดว่า น่าจะมีคลังแสงให้ใช้มากพอแม้สงครามยืดเยื้อ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ประกาศกำจัดขบวนการติดอาวุธปาเลสไตน์ “ฮามาส” ผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีวันที่ 7 ต.ค.66 ที่ทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ข้อมูลจากอิสราเอล ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต 1,139 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน จับไปเป็นตัวประกันในกาซาอีกราว 250 คน เชื่อว่าขณะนี้ยังเหลืออยู่ 129 คน ข้อมูลจากทางการกาซาที่ฮามาส ปกครองเผยว่า กว่าสองเดือนที่ผ่านมาประชาชน 18,000 คน เสียชีวิตจากการถล่มฉนวนกาซาของอิสราเอล ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเด็ก

แต่ขณะที่อิสราเอลกำลังทำตามเป้าหมายทางทหาร การตัดท่อน้ำเลี้ยงฮามาสก็เป็นงานยากอีกอย่างหนึ่งด้วย

“ฮามาสมีการเงินแข็งแกร่งมาก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นอย่างน้อย พวกเขาได้สร้างเครือข่ายการเงินยืดหยุ่น” เจสสิกา เดวิส ประธานกลุ่ม Insight Threat Intelligence ของแคนาดา กล่าวและว่า ฮามาสลงทุน และสร้างแหล่งรายได้ในหลายประเทศโดยไม่ติดขัด เช่น ทำธุรกิจขนาดเล็ก และอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอย่างตุรกี ซูดาน และแอลจีเรีย รวมทั้งพึ่งพาการบริจาคจากเครือข่ายไม่เป็นทางการด้วย จน “เก่งมากในการพัฒนาและดำเนินการระบบแปลงเงินอันซับซ้อน” ยิตชัค แกล ผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอล ด้านเศรษฐกิจปาเลสไตน์ให้ความเห็น ด้วยการแลกเปลี่ยนเงินผ่านตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ยุโรป และสหรัฐ โดยที่จำนวนผู้บริจาคไม่ได้ลดลงเลยนับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.66

“แม้มีความโหดร้าย ดูเหมือนว่าฮามาสได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากประชากรบางกลุ่มทั่วโลก ในฐานะแนวหน้ากล้าต่อต้าน” ลูคัส เวบเบอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Militant Wire อธิบาย

ใครจะอยู่ ใครจะไป

อิหร่านเป็นผู้สนับสนุนหลักของฮามาสหลายปีมาแล้ว เอเอฟพีประเมินว่า แต่ละปีรัฐบาลเตหะรานให้เงิน 70 - 100 ล้านดอลลาร์ ผ่านแหล่งทุนอันหลากหลาย รวมถึงการจ่ายผ่านคริปโทเคอร์เรนซี, กระเป๋าเงินสด, โอนผ่านธนาคารต่างชาติ และระบบ “ฮาวาลา” ที่ไม่เป็นทางการ

ตามข้อมูลของแกล ในอดีตอิหร่านลักลอบส่งอาวุธไปให้จากอียิปต์ผ่านทางอุโมงค์เชื่อมระหว่างกาซากับทะเลทรายไซนายที่ตอนนี้ถูกปิดไปแล้ว

หลังจากฮามาสชนะเลือกตั้งในปี 2006 และเอาชนะคู่แข่งจนควบคุมอำนาจได้ทั้งหมดในปีรุ่งขึ้น งบประมาณของกาซาที่มีประชากร 2.4 คนในขณะนี้กับการเงินฮามาสก็แบ่งแยกได้ยาก

“อะไรก็ตามที่เข้ามาจะไปหาฮามาส พวกเขาตัดสินใจว่าใครจะอยู่ ใครจะไป” แกลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มคลังสมอง Mitvim กล่าวพร้อมอธิบายว่าในงบประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ของฉนวนกาซา มาจากรัฐปาเลสไตน์ (Palestinian Authority: PA) ตามที่อิสราเอลเห็นชอบ 1.1 พันล้านดอลลาร์

อีกส่วนมาจากกองทุนประชาคมระหว่างประเทศ UNRWA หน่วยงานดูแลผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ของสหประชาชาติ ส่วนกาตาร์จ่ายเงินเดือนข้าราชการพลเรือน เช่น ครู และหมอ พร้อมทั้งให้ครอบครัวยากจนที่สุด 100,000 ครอบครัวในกาซา 100 ดอลลาร์ต่อเดือน รวมระหว่างปี 2012 - 2021 จ่ายไปแล้ว 1.49 พันล้านดอลลาร์

ค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่

กาตาร์มีสำนักงานการเมืองของฮามาสตั้งอยู่ในกรุงโดฮาตามที่สหรัฐเห็นชอบ  ในปี 2021 กาตาร์ให้คำมั่นให้ทุนกาซาปีละ 360 ล้านดอลลาร์ แต่ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ฮามาส

“โดยไม่มีข้อยกเว้น ความช่วยเหลือทั้งหมดของกาตาร์ผ่านการประสานงานกับอิสราเอล รัฐบาลสหรัฐ และสหประชาชาติมาแล้วอย่างเต็มที่ สินค้าทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา และพลังงาน ผ่านเข้าอิสราเอลก่อนเข้าไปกาซา” เจ้าหน้าที่กาตาร์เผย

สัปดาห์ก่อน อับดุลลาซิส อัล คูไลฟี นักการทูต และหัวหน้าคณะเจรจาปล่อยตัวประกันของกาตาร์ ชี้ว่า เงินทุนของกาตาร์ยังมีให้กาซาต่อไป

เมื่อเดือนต.ค. รัฐบาลวอชิงตันคว่ำบาตร “10 แกนนำฮามาส” และชาติตะวันตกกำลังพิจารณาใช้มาตรการที่หนักข้อยิ่งขึ้น แต่การตัดท่อน้ำเลี้ยงฮามาสอย่างสิ้นเชิงน่าจะเป็นไปไม่ได้

“โอกาสที่จะทำลายการเงินฮามาสอย่างสมบูรณ์ในระยะยาวไม่เป็นความจริงเลย คุณขัดขวางได้ คุณเล่นงานตัวละครสำคัญได้ คุณลดขนาดแหล่งทุนได้ แต่เครือข่าย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานจะอยู่ตลอดไป และถ้ากลุ่มยังมีผู้สนับสนุน พวกเขาก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้” เดวิส กล่าว

ขณะที่แกลขยายความ การเงินของฮามาสขึ้นอยู่กับว่าอนาคตของกาซา ดินแดนเล็กๆ ระหว่างอียิปต์ อิสราเอล และเมอดิเตอร์เรเนียนจะได้รับการแก้ไขไปในทิศทางใด

“เมื่อสงครามยุติกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ คำถามคือ ระบบการเงินโดยรวมจะรื้อฟื้นมาใหม่หรือเปลี่ยนแปลงไป กาซาตอนนี้คือ ค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ค่ายหนึ่ง ใครจะรับหน้าที่จัดหาอาหาร น้ำ และที่พักพิงให้กับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ฮามาส หรือองค์กรอื่น หรือกลไกอื่น” แกลตั้งคำถามทิ้งท้าย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์