เจาะลึกกลยุทธ์ ‘อิสราเอล’ ส่งสัญญาณกวน GPS ปั่นหัว ‘ฮามาส’ ในสงครามกาซา

เจาะลึกกลยุทธ์ ‘อิสราเอล’ ส่งสัญญาณกวน GPS ปั่นหัว ‘ฮามาส’ ในสงครามกาซา

สงครามฉนวนกาซา แสดงให้เห็นยุทธวิธีทำการรบที่แยบยลของอิสราเอล ส่งคลื่นสัญญาณรบกวน GPS สร้างความสับสนให้ศัตรู แล้วส่งผลกระทบระบบดาวเทียมในภูมิภาคอย่างไร

Key Points 

  • มีเหตุการณ์รบกวนคลื่นสัญญาณ GPS ในพื้นที่สู้รบเกิดขึ้นหลายครั้ง ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง นับตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.
  • การแฮ็กเข้าสู่ระบบนำทาง GPS ที่ผู้คนกว่าครึ่งโลกต้องพึ่งพาอาศัยสัญญาณนี้ และไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแม้แต่ระบบของทหารที่ซับซ้อน ก็เคยถูกโจรกรรม
  • กรณีส่งคลื่นรบกวนสัญญาณ GPS เพื่อใช้ประโยชน์ในการทหาร พบว่า ดาวเทียมแต่ละดวงจะส่งรหัสไบนารี่ที่มีความถี่ต่างกัน เพราะบางความถี่มีวัตถุประสงค์เพื่อการทหารเท่านั้น ก็จะมุ่งเล็งไปที่คลื่นความถี่นั้นๆ

กลยุทธ์ส่งสัญญาณรบกวนระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) จนกลุ่มกองกำลังฮามาสยิงขีปนาวุธพลาดเป้าหมาย ได้ถูกอิสราเอลนำมาใช้เกือบทันที หลังกลุ่มฮามาสเริ่มยิงโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา

หนึ่งสัปดาห์หลังเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ยอมรับว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการดำเนินการทางทหารที่มีขึ้นโดยเจตนา

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ the Ha’aretz รายงานว่า กองกำลังป้องกันอิสราเอล ได้ส่งสัญญาณ รบกวนระบบ GPS จากดาวเทียมในภูมิภาค หวังพยายามขัดขวางการโจมตีด้วยโดรน และเครื่องบินไร้คนขับของกลุ่มฮามาส และอิซบอลเลาะห์

ทั้งที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ GPS จนเป็นส่วนหนึ่งสำคัญในชีวิต และรู้สึกหงุดหงิดไม่น้อย เมื่อสัญญาณหยุดชะงักไป แต่ก็แทบไม่มีใครตั้งข้อสังเกตกับสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น

แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ก็ไม่รอดพ้นการสำรวจของ ทีมนักวิจัยห้องทดลองธอร์ด ฮัมฟรีย์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ที่เกาะติดการทำงานของระบบ GPS ทั่วโลกมาหลายปี

โดยเฉพาะระยะนี้ พวกเขาค้นพบว่า มีเหตุการณ์รบกวนคลื่นสัญญาณ GPS ในพื้นที่สู้รบเกิดขึ้นหลายครั้ง ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง นับตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา 

หนึ่งในนั้นเป็นเหตุการณ์ เครื่องบินที่บินเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้อิสราเอล ได้หายไปจากจอเรดาร์เป็นเวลาหลายวินาที และเกิดขึ้นหลายครั้งด้วย

"นี่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า เป็นการดำเนินการที่ไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมุ่งขัดขวางการทำงานระบบนำทางจากดาวเทียม" ทีมวิจัยเท็กซัสกล่าว 

 

เจาะลึกกลยุทธ์ ‘อิสราเอล’ ส่งสัญญาณกวน GPS ปั่นหัว ‘ฮามาส’ ในสงครามกาซา

สัญญาณถูกปล่อยจากยอดเขาสูง อิสราเอล

นักวิจัยกลุ่มเดิมบอกว่า กองทัพอิสราเอลมีเครื่องส่งสัญญาณอันทรงพลัง รบกวนระบบนำทาง และขัดขวางฝ่ายศัตรูใช้ GPS ยิงขีปนาวุธจนพลาดเป้า หากแต่ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสงคราม แต่ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนภาคธุรกิจอื่นๆ และชีวิตประจำวันของคนทั่วไป

เมื่อได้ศึกษาแบบเจาะลึก นักวิจัยเท็กซัสคาดว่า การปล่อยคลื่นรบกวน มาจากหน่วยควบคุมทางอากาศของกองทัพอากาศอิสราเอล ตั้งอยู่บนเขาเฮอร์มอน ซึ่งสูงถึง 1,208 เมตร และเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในดินแดนอิสราเอล

GPS สัมพันธ์กับกองทัพ

ที่มาของระบบนำทางจากดาวเทียม เดิมกองทัพสหรัฐได้พัฒนาระบบ GPS ขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ภายใต้ชื่อ NavStar GPS ต่อมาในทศวรรษ 1980 ได้เปิดให้พลเรือนใช้งานได้ แต่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลสหรัฐ

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ได้ยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมด ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบนำทางจากดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ รถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เกือบทั้งหมดก็ใช้สัญญาณ GPS ทั้งนั้น

ปัจจุบัน ระบบนี้อาศัยคลื่นสัญญาณวิทยุ ส่งจากดาวเทียม 31 ดวงทั่วโลก ซึ่งโคจรอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 20,000 กิโลเมตรเหนือผิวโลก และโคจรรอบโลก 2 รอบในทุกๆ 24 ชั่วโมง

กองทัพ-ประชากรครึ่งโลกใช้ GPS

กรณีที่ส่งคลื่นรบกวนสัญญาณ GPS เพื่อใช้ประโยชน์ในการทหาร พบว่า ดาวเทียมแต่ละดวงจะส่งรหัสไบนารี่ที่มีความถี่ต่างกัน เพราะบางความถี่มีวัตถุประสงค์เพื่อการทหารเท่านั้น ก็จะมุ่งเล็งไปที่คลื่นความถี่นั้นๆ

ปัจจุบัน มีเครื่องรับสัญญาณ GPS หลายพันล้านเครื่องใช้แบบส่วนบุคคล รถยนต์ เครื่องบิน บริษัท และหน่วยงานรัฐทั่วโลก เช่นเดียวกับกองทัพได้ใช้สัญญาณเพื่อควบคุมโดรน ขีปนาวุธร่อน และอื่นๆ อีกมาก

ใครคือคู่แข่ง GPS 

GPS ไม่ใช่ระบบนำทางด้วยดาวเทียมเพียงระบบเดียวที่ใช้งานอยู่กันทั่วโลกในปัจจุบัน เพราะยังมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งในทางธุรกิจ คือระบบกาลิเลโอของสหภาพยุโรป

ขณะที่อีก 4 ประเทศใช้ระบบที่คล้ายกัน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ทั่วไป ซึ่งรวมถึง IRNSS ของอินเดีย GLONASS ของรัสเซีย BeiDou ของจีน และ QZSS ของญี่ปุ่น

 

การแฮ็กเข้าสู่ระบบนำทาง GPS ที่มีผู้คนกว่าครึ่งโลกพึ่งพาการใช้งานสัญญาณนี้ และก็ไม่ใช่เรื่องยาก แม้แต่ระบบของทหารที่ซับซ้อน ก็เคยถูกโจรกรรมมาแล้ว

 

วิธีก่อกวนสัญญาณ GPS

วิธีหนึ่งในการแทรกแซงสัญญาณ GPS คือการปลอมแปลงสัญญาณวิทยุ หรือที่เรียกว่า ปลอมแปลงคลื่น GPS ให้เหมือนถูกส่งมาจากดาวเทียม เพราะดาวเทียมแต่ละดวงจะส่งรหัสประจำตัวที่ไม่ซ้ำกัน แฮกเกอร์จะสร้างสัญญาณที่คล้ายกันจากเครื่องส่งของตนเองขึ้นใหม่

ในขั้นต้น ซอฟต์แวร์จะทำการปลอมแปลงคลื่นเพื่อสร้างความถี่เป็นเท็จ และจะต้องซิงโครไนซ์กับข้อมูลที่ส่งผ่านดาวเทียมอย่างแม่นยำ โดยจำลองความเร็วของความถี่และลักษณะคลื่นที่ใกล้เคียง หากข้อมูลไม่ตรงกับระบบควบคุมการนำทางหลัก จะบล็อกข้อมูลทันที

ปัจจุบัน แฮ็กเกอร์สามารถเพิ่มความเข้มข้นของสัญญาณที่พวกเขาส่งออกไปได้ จนกว่าระบบนำทาง จะเชื่อมต่อกับสัญญาณหลัก และสัญญาณเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่สัญญาณเดิมที่อ่อน กว่าสัญญาณที่ถูกส่งมาจากดาวเทียม

จากจุดนี้ แฮกเกอร์สามารถค่อยๆ เปลี่ยนสัญญาณ โดยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ระบบนำทางที่อยู่ใกล้เคียงเกี่ยวกับตำแหน่งของดาวเทียม ความเร็วของคลื่นวิทยุ หรือเวลาในการส่งสัญญาณ

อิสราเอล พัฒนาระบบบล็อกคลื่น

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการนำทางขั้นสูงแห่งใหม่ได้เปิดตัวขึ้นในอิสราเอล ก่อตั้งโดยคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากลาโหม  ของกระทรวงกลาโหม (DDR&D) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมอวกาศแห่งอิสราเอล มีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อพัฒนาระบบนำทางแบบไม่ใช้ GPS

ในทางกลับกัน อิสราเอลประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการพัฒนาระบบบล็อกคลื่นรบกวน โดยที่ไม่นานมานี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2564 อุตสาหกรรมการบินและอวกาศอิสราเอล ประกาศว่า ได้พัฒนาระบบ ADA ขึ้นเพื่อบล็อกสัญญาณ GPS ปลอมแปลงได้สำเร็จ ซึ่งการทำงานนี้ได้ถูกรวมเข้ากับระบบขั้นสูงของกองทัพอากาศอิสราเอล รวมถึงเครื่องบิน F-16 และเครื่องบินอื่นๆ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ของการที่อิสราเอลสามารถพัฒนาเทคโนโลยีรบกวนสัญญาณนำทางด้วยดาวเทียม และการปิดกั้นสัญญาณรบกวน ซึ่งจะยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง

ท่ามกลาง โลกปัจจุบัน ส่วนใหญ่พึ่งพาระบบ GPS และมีการรวมเข้ากับชีวิตประจำวันเกือบทุกด้าน ถ้าหากวันนี้ GPS บนอุปกรณ์รับสัญญาณของคุณมีปัญหา อาจทำให้นึกถึงปฏิบัติการลับในสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็ได้

ที่มา NetNews.com