‘ทศวรรษที่หายไป’ บนกองหนี้ ชาติกำลังพัฒนาเสี่ยงล่มจมเพราะหนี้ท่วม

‘ทศวรรษที่หายไป’ บนกองหนี้ ชาติกำลังพัฒนาเสี่ยงล่มจมเพราะหนี้ท่วม

“ระดับหนี้ที่เพิ่มเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้หลายประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ทุกๆ ไตรมาสที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ก็จะมีชาติกำลังพัฒนาจำนวนมากขึ้นที่เผชิญความยากลำบาก”

ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นในยุคดอกเบี้ยแพงไม่ได้หมายถึงความน่ากังวลต่อหนี้เงินกู้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และหนี้หุ้นกู้เอกชนเท่านั้น เพราะแม้แต่ระดับรัฐบาลก็ยังตกอยู่ในความเสี่ยงของ “หนี้สาธารณะ” ครั้งที่อันตรายที่สุดครั้งหนึ่งด้วย

ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้ส่งสัญญาณเตือนในรายงานหนี้ระหว่างประเทศ (International Debt Report) ฉบับล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกต้องชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายรวมกันมากถึง 4.435 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 15.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นระดับ “สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์” และนับเป็นสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศอื่นๆ เข้าสู่ภาวะวิกฤติและก่อให้เกิด “ทศวรรษที่หายไป”

การชำระหนี้มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีปัจจัยสำคัญมาจากอัตราดอกเบี้ยที่กลับมาพุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ทำให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 5% และเวิลด์แบงก์ยังเตือนว่าอาจเพิ่มไปถึงระดับ 10% ในปี 2023 - 2024 และในกรณีเลวร้ายที่สุดสำหรับกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก 24 ประเทศ อาจพุ่งสูงถึง 39% ในปีนี้และปีหน้า

“ยิ่งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงต่อไปนานเพียงใด ก็ยิ่งทำให้มีกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเผชิญปัญหาเพิ่มมากขึ้น โดยมีทางเลือกน้อยลงในการชำระเงินต้น และดอกเบี้ยหนี้สาธารณะหรือการลงทุนในด้านสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน” อินเดอร์มิต กิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และรองประธานฝ่ายเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาของธนาคารโลกระบุ

ทั้งนี้ หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์ขึ้นในสหรัฐเมื่อปี 2008 จนนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0 - 0.25% เมื่อเดือน ธ.ค. 2008 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของยุคดอกเบี้ยขาลงทั่วโลก เช่น ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ลดดอกเบี้ยเหลือระดับ 0% ในเดือน มี.ค. 2016 ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ที่ลดเหลือ 0.25% ในปี 2016 และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบในปีเดียวกัน
 

ยุคต้นทุนดอกเบี้ยถูกนี่เองที่ทำให้ทั่วโลกต่างเดินหน้าก่อหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมีการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 3.67 แสนล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2012 ขยับขึ้นเป็นกว่าสองเท่าสู่ระดับ 8.55 แสนล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2022 ท่ามกลางปริมาณหนี้สาธารณะของทั้งโลกที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของเฟดขยับจากช่วง 0% มาเป็น 5.25% - 5.50% ในปัจจุบัน

ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ “ความสามารถในการชำระหนี้” ระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งแตกต่างกัน

นอกจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ปัจจัยลบต่างๆ เช่น สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 และสงครามในยุโรปที่ดันราคาน้ำมัน ก็ยังเป็นปัจจัยซ้ำเติมเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดก็คือ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จนกดดันเงินเฟ้อและค่าเงินท้องถิ่น และทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของชาติกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

บลูมเบิร์กระบุว่า การปรับโครงสร้างหนี้ยังกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ไม่ใช่ประเทศหน้าเดิมหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศรายเดิมๆ แต่เป็นเจ้าหนี้รายใหม่ๆ มากขึ้นเช่น “จีน” ซึ่งมีรายงานว่าความพยายามขอปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ศรีลังกา แซมเบีย และกาน่า ต้องชะงักงันเพราะไม่สามารถเจรจากับทางการจีนที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ได้

จากข้อมูลของเวิลด์แบงก์พบว่า ปัจจุบันมีกลุ่มประเทศรายได้ต่ำราว 60% ที่อยู่ในข่ายมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะหนี้ที่มีปัญหา (debt distress) หรือเกิดปัญหาไปแล้ว โดยตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลไปแล้ว 18 รายการ ใน 10 ประเทศ

กิลด์กล่าวว่า ขณะนี้เวิลด์แบงก์กำลังจับตาไปที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลเอธิโอเปียกับประเทศเจ้าหนี้ หลังจากที่มีความพยายามเจรจาขอเลื่อนการชำระดอกเบี้ยและไถ่ถอนพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน ธ.ค. 2024 ออกไป เพราะหากเจรจาไม่สำเร็จ เอธิโอเปียซึ่งเป็น 1 ใน 5 เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มซับซาฮารา อาจประสบภาวะ “ผิดนัดชำระหนี้”

ทั้งนี้ในปี 2022 ที่ผ่านมามีประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว 7 ราย ซึ่งรวมถึงรัสเซีย ยูเครน และศรีลังกา และเพิ่มอีก 2 รายในปีนี้ คือ อาร์เจนตินาและโมซัมบิก

“ระดับหนี้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้หลายประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ทุกๆ ไตรมาสที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ก็จะมีประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากขึ้นที่เผชิญความยากลำบาก” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เวิลด์แบงก์ กล่าว