เปิดแผนไฮสปีดเทรนสายแรกสหรัฐ ไบเดนทุ่มสุดตัว

เปิดแผนไฮสปีดเทรนสายแรกสหรัฐ ไบเดนทุ่มสุดตัว

คนรักรถไฟ “โจ ไบเดน” เปิดแผนฟื้นฟูเครือข่ายรถไฟสหรัฐ 8.2 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศ วิ่งระหว่างลอสแองเจลิสกับลาสเวกัส

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน รถไฟสหรัฐมักล่าช้า นานๆ มาที หรือบางครั้งไม่มีเลย เพราะคนนิยมใช้รถยนต์และเครื่องบินมากกว่า แต่เมื่อวันศุกร์ (8 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้เดินทางโดยรถไฟเสมอระหว่างบ้านในเดลาแวร์กับวอชิงตันตั้งแต่สมัยเป็นสมาชิกวุฒิสภา จนได้ฉายา “โจ แอมแท็ก” ประกาศขณะเยือนลาสเวกัสถึงแผนการปรับปรุงรถไฟของรัฐบาลกลาง

“คุณไม่รู้หรอกว่าผมพึงพอใจมากแค่ไหน” ไบเดนกล่าวที่สหภาพแรงงานแห่งหนึ่ง

แผนการดังกล่าวจะทำให้ “ระบบรถไฟสหรัฐกลับมาเร็วที่สุด ปลอดภัยมากที่สุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก”

รัฐบาลไบเดนหวังว่า รถไฟความเร็วสูงเวกัส-แอลเอจะแล้วเสร็จภายในปี 2571 ลดเวลาการเดินทาง 5 ชั่วโมงเหลือ 2 ชั่วโมง 40 นาที ส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่เพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟสหรรัฐเป็นสองเท่าภายในปี 2593

ประธานาธิบดีสหรัฐย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า จีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกคุยโวว่ารถไฟของตนวิ่งได้ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง

ไบเดนยังใช้โอกาสนี้เหน็บโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่คู่แข่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2567 จากพรรครีพับลิกัน ที่ไม่สามารถปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐให้ดีขึ้นได้สมัยเป็นประธานาธิบดี

“เขาชอบพูดว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ล้มเหลว จริงๆ แล้วเขาไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ากำลังพูดอะไรอยู่” ไบเดนกล่าว

โครงการรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไบเดนผลักดันตั้งแต่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ไม่นาน ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ปรับปรุงรถไฟโดยสาร มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งแอมแทร็กในปี 2514

แอมแทร็ก เป็นบริษัทกึ่งมหาชนก่อตั้งขึ้นเพื่อลดภาระการขนส่งสินค้าของรถโดยสาร ปัจจุบันวิ่งรถระหว่างเมืองทั่วประเทศ

“นี่จะเป็นการแปลงโฉมรถไฟโดยสารสหรัฐอย่างแท้จริง” ลอรา เมสัน รองประธานบริหารแอมแทร็ก กล่าวกับเอเอฟพี เปิดแผนไฮสปีดเทรนสายแรกสหรัฐ ไบเดนทุ่มสุดตัว

งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้จะใช้ทำรถไฟเส้นใหม่พร้อมขยายเส้นทางที่มีอยู่เดิม, เพิ่มบริการ, ปรับปรุงสถานี และทำขบวนรถไฟให้ทันสมัยรวดเร็วโดยเส้นทางระหว่างซานฟรานซิสโก-แอลเอกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้งบประมาณมากถึงราว 3 พันล้านดอลลาร์พอๆ กับเส้นแอลเอ-ลาสเวกัส

ส่วนเส้นทางระหว่างเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนากับเมืองโมบาย รัฐแอละแบมา มีกำหนดเปิดให้บริการอีกครั้ง เกือบ 20 ปีหลังจากถูกเฮอริเคนแคทรินาถล่มเสียหาย

เส้นทาง‘โครงกระดูก’

จิม แมทธิว ประธานสมาคมรถไฟโดยสารสหรัฐ กล่าวว่า รถไฟเคยมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวทั่วฝั่งตะวันตกของสหรัฐในศตวรรษที่ 19 แต่ทุกวันนี้ "เหมือนโครงกระดูก”

บริการรถไฟทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐที่มีประชากรหนาแน่นค่อนข้างสม่ำเสมอแต่เส้นทางข้ามประเทศจากภาคตะวันออกสู่ตะวันตกต้องใช้เวลาสองถึงสองวันครึ่ง

“คุณต้องไปเปลี่ยนรถในชิคาโก และถ้าคุณอยากได้ตู้นอนต้องจองล่วงหน้าหลายเดือน” แมทธิวกล่าว

ขณะที่เมสันจากแอมแทร็กชี้ประเด็นว่า นี่ไม่ใช่แค่การตั้งคำถามให้ซ่อมรางและทำขบวนใหม่ แต่ยังเป็นการ “เปลี่ยนวิธีเดินทางของผู้คน และวิธีที่เราจะส่งเสริมให้คนเลิกใช้รถยนต์ เลิกใช้เครื่องบิน หันมานั่งรถไฟแทน”

เปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

เมสันยืนกรานว่า บริบทปัจจุบันเอื้อต่อการเดินทางโดยรถไฟ

“เรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเกิดขึ้นหลังโควิด เห็นวิธีที่คนเดินทาง” เมสันกล่าวและว่า จำนวนผู้โดยสารกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปิดแผนไฮสปีดเทรนสายแรกสหรัฐ ไบเดนทุ่มสุดตัว บางคนนั่งรถไฟเพราะห่วงใยสิ่งแวดล้อม ขณะที่หลายๆ คนเลือกเดินทางโดยรถไฟเพราะความสงบ สะดวกสบาย หรือเหตุผลง่ายๆ “เพื่อหาประสบการณ์”

ในแง่ความรู้สึกของผู้โดยสารอย่างอลัน โบแบง ชาวเมืองฟลอริดา ที่เข้ามาทำธุระในเมือง เอเอฟพีพูดคุยกับเขา ณ จุดพักคอยสถานีรถไฟยูเนียนในวอชิงตัน

“ตอนผมอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผมจะใช้รถไฟเสมอ แต่เมื่อคุณอยู่ลึกเข้ามาแถบมิดเวสต์หรือภาคตะวันตก คุณไม่มีตัวเลือกมากนัก”

สำหรับ ชุกเวเมกา ชุกส์-โอเคเก ลูกค้าผู้ภักดีกับแอมแทร็กอีกหนึ่งรายระบุ

“นั่งรถไฟไม่มีรถติด ผมมีความสุขที่ได้นั่งรถไฟ เป็นการผ่อนคลาย” นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการเดินทางในสหรัฐที่ดูเหมือนล้าหลังกว่าตัวเลือกอื่น