'เพื่อเสรีภาพ และศักดิ์ศรี' มิลเลนเนียลจีนทิ้งบ้านเกิดซบไทย

'เพื่อเสรีภาพ และศักดิ์ศรี' มิลเลนเนียลจีนทิ้งบ้านเกิดซบไทย

นับตั้งแต่จีนใช้มาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดที่สุดในโลก ล็อกดาวน์ประชาชนหลายร้อยล้านคนอย่างยาวนาน ส่งผลให้พลเมืองหนุ่มสาวผู้ถอดใจกับการทำงานเหนื่อยล้าไม่คุ้มค่าจ้าง จับเครื่องบินหนีไปอยู่ต่างประเทศ

Key Points:

  • คนจีนรุ่นใหม่เกิดอาการหมดไฟหลังล็อกดาวน์ อยากหนีไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ
  • ไทยเป็นเป้าหมายปลายทางอุดมคติสำหรับทดลองใช้ชีวิตในต่างแดน
  • เชียงใหม่เป็นปลายทางยอดนิยมเนื่องจากวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ คนจีนมาอยู่แล้วรู้สึกถึงการมีศักดิ์ศรี และเสรีภาพ
  • แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวบางคนอยากย้ายจากเชียงใหม่ไปอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว

ด้วยกระบวนการขอวีซ่าเรียนต่อหนึ่งปีที่ค่อนข้างง่าย วิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ และค่าครองชีพต่ำ เชียงใหม่เมืองใหญ่อันดับสองของไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของหนุ่มสาวจีน

“ความปรารถนาอยากได้เสรีภาพรุนแรงมากช่วงโควิดระบาด” เจิ้น อดีตพนักงานธนาคารวัย 26 ปี ที่ขณะนี้ใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่ เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี

เจิ้นเคยอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เมืองหลวงการเงินของจีนที่ถูกล็อกดาวน์เข้มงวด ชีวิตของเธอมั่นคง ทำงานค่าตอบแทนสูง แต่ไม่มีความสุขกับเส้นทางอาชีพที่รออยู่ข้างหน้า หลังโควิดเจิ้นรู้ดีว่าถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

“ถ้าฉันทำงานเดิมต่อไป ชีวิตก็มีแค่นี้ แต่ชีวิตมันสั้น ฉันอยากทำอะไรที่แตกต่างบ้าง”

เจิ้นเป็นสัญลักษณ์ของหลายๆ คนในรุ่นเธอ แตกต่างจากคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ที่ได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ชาวจีนหนุ่มสาวปัจจุบันกำลังแบกรับภาระจากเศรษฐกิจ โอกาสได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมีน้อย การแข่งขันดุเดือด ทำให้หลายคนหมดไฟ

เจิ้นค้นข้อมูลโครงการเรียนภาษาต่างประเทศ แล้วเลือกย้ายมาอยู่ประเทศไทยพร้อมกับกอร์ดอน ลิน สามี เมื่อเดือนพ.ค.โดยใช้วีซ่าการศึกษาอายุหนึ่งปี ตอนนี้พวกเขาตัดสินใจใช้ชีวิตต่างประเทศยาว

“ฉันรู้สึกว่ามีโอกาสมากมายนอกประเทศ ฉันรู้สึกได้ถึงความหวัง”

ตอนเซี่ยงไฮ้ล็อกดาวน์โควิด ประชาชนลงถนนประท้วงอย่างที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก จากนั้นเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการประท้วงทั่วเมืองใหญ่ในจีน จนพรรคคอมมิวนิสต์ต้องจัดการ แม้แหล่งข่าวที่เอเอฟพีสัมภาษณ์ไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องการเมือง แต่ทุกคนยืนยันว่าย้ายไปอยู่ต่างประเทศเพราะอยากเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

ความปรารถนาอยากย้ายประเทศเห็นได้ชัดในแอปวีแชต การค้นหาคำว่า “ย้ายประเทศ” พุ่งขึ้นทะลุวันเดียว 510 ล้านครั้งในเดือนต.ค. ขณะที่ช่วงปลายเดือนม.ค.คำว่า “ย้ายไปอยู่ประเทศไทย” มีคนค้นหามากกว่า 300,000 ครั้งในวันเดียว

คนจีนมองว่าย้ายไปอยู่ไทยง่ายกว่าไปยุโรปหรืออเมริกาเหนือ เนื่องจากมีวีซ่าระยะยาวหลายประเภท รวมถึงหลักสูตรเรียนภาษาหนึ่งปี ราคาประมาณ 700-1,800 ดอลลาร์

เซียงเปียว นักมานุษยวิทยาสังคมจากสถาบันแม็กซ์ พลังค์เพื่อมานุษยวิทยาสังคมยอมรับว่า ความต้องการอยากออกจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน คนจีนจำนวนมากมองไทยเป็นประเทศใกล้บ้าน เหมาะที่จะทดลองใช้ชีวิตต่างแดน

แต่เมื่อเทียบกับการย้ายถิ่นในทศวรรษ 1990 และ 2000 ที่หลายคนยังรักษาสายสัมพันธ์ในจีนไว้เพื่อธุรกิจ เซียง มองว่าปัจจุบันเกิดเทรนด์ใหม่ที่ผู้คนอยากขุดรากถอนโคนตนเองไปเลย คนรุ่นใหม่มีการศึกษาจึงไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำหรือคนมีเงินเหมือนอย่างในอดีต

“พวกเขาเป็นคนเมือง ใจกว้าง เชิดชูบูชาเสรีภาพ ไม่จำเป็นต้องเป็นเสรีภาพทางการเมืองก็ได้ แต่ต้องการใช้ชีวิตที่พวกเขารู้สึกว่าเหมาะสม และมีศักดิ์ศรี” และที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนอีกอย่างหนึ่งคือ พวกเขาไม่ได้ต้องการแสวงหาความมั่งคั่งในต่างประเทศ

“เป็นการตั้งคำถามว่าชีวิตแบบไหนที่พวกเขาต้องการ อยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหน” นักวิชาการให้ความเห็น

แค่ลงมือทำ

สำหรับลิน วัย 32 ปี สามีของเจิ้น อดีตพนักงานอีคอมเมิร์ซที่เคยวางแผนทำงานหนัก เก็บเงินแล้วเกษียณก่อนกำหนด แต่เขารู้สึกอึดอัดมากขึ้นกับแนวคิดรอบตัว

“คุณต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ หางานดีๆ เป็นข้าราชการ” ลินรำพึง เขาและเจิ้นมาอยู่เมืองไทยได้ 2-3 เดือนแล้วโดยใช้เงินเก็บพร้อมๆ กับพิจารณาว่าจะทำอะไรต่อไป

แต่สำหรับหยิน เวิ่นฮุย วัย 31 ปี ถึงเวลาต้องไปจากเชียงใหม่แล้ว หยินมาถึงเมืองไทยช่วงโควิดระบาด เขากลับประเทศไม่ได้เพราะจีนปิดพรมแดน แต่เมื่ออยู่ไทยได้ 2-3 เดือน หยินก็ไม่อยากกลับไปเจอแรงกดดันจากครอบครัว และเพื่อนๆ ที่เมืองจีนให้อุทิศตัวทำงานหนักอีก

“ผมรู้สึกมีเสรีภาพที่นี่ ชีวิตในจีนเร่งรีบเกินไปไม่มีอิสระที่จะทำอะไรอย่างที่ใจต้องการ” หยินโอดครวญ

ตอนนี้แทนที่จะหมกมุ่นกับงานโฮสเทลเชียงใหม่ที่เขาทำร่วมกับเพื่อน หยินเข้ายิมทุกวัน เรียนทำอาหาร เติมเต็มความฝันวัยเด็ก แถมยังเรียนกีตาร์สิ่งที่พ่อแม่ไม่สนับสนุน

“ที่นี่ผมมีเวลาครุ่นคิดมากขึ้น คิดถึงชีวิตที่ผมต้องการ”

แต่ช่วงเวลาหอมหวานสำหรับหยินจบแล้ว เขาเริ่มหงุดหงิดมากขึ้นกับชีวิตสโลว์ไลฟ์ และพร้อมจะเดินหน้าสู่ขั้นตอนต่อไป

“ผมต้องการไปประเทศพัฒนาแล้ว ที่ดีกว่าจีนหรือเชียงใหม่ในแง่ของวัฒนธรรม การทำงาน และเงินเดือนด้วย” หยินกล่าวถึงแผนการชีวิตหลังจากอยู่เมืองไทยจนอิ่มตัว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์