สถานการณ์ 'เมียนมา' วิเคราะห์สมรภูมิสู้รบดุเดือด

สถานการณ์ 'เมียนมา' วิเคราะห์สมรภูมิสู้รบดุเดือด

เกาะติด สถานการณ์ 'เมียนมา' วิเคราะห์สมรภูมิสู้รบดุเดือด

นับเนื่องมาตั้งปลายเดือน ต.ค.2566 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมา กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ทั้งรัฐฉานตอนเหนือ รัฐกะยา รัฐชิน รัฐยะไข่ และภูมิภาคสะกาย

ภาพรวมของสงครามในเมียนมา อาจกล่าวได้ว่า กองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำ แต่ไม่ถึงขั้นแตกพ่าย และยังห่างไกลกับคำว่า กองกำลังฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารรุกใหญ่ ปิดล้อมเมืองเนปิดอว์ 

ที่สำคัญ กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้เข้าร่วมกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่สนับสนุนอองซาน ซูจี เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ต่างมี ‘วาระ’ และ ‘เป้าหมาย’ ของตนเอง

เมื่อกางแผนที่ประเทศเมียนมา แล้วมาร์กจุดสมรภูมิสู้รบที่ดุเดือดรุนแรง ก็จะพบว่า สงครามเกิดขึ้นในรัฐหรือภูมิภาคชายขอบ ไม่ใช่ใจกลางประเทศอย่างมัณฑะเลย์ พะโค และมะเกว

ไฟสงครามลามไหม้อยู่ด้านตะวันออก รัฐฉานเหนือ ติดพรมแดนเมียนมา-จีน 

ด้านใต้ รัฐกะยาหรือรัฐกะเรนนี รัฐกะเหรี่ยง ติดพรมแดนเมียนมา-ไทย 

ด้านตะวันตก รัฐชิน ภูมิภาคสะกาย ติดพรมแดนเมียนมา-อินเดีย

แนวรบที่ทำกองทัพทหารเมียนมาเพลี่ยงพล้ำ สูญเสียที่มั่นทางทหารไปกว่า 200 แห่ง มีอยู่ 2 สมรภูมิคือ รัฐฉานเหนือ และรัฐกะยา 

ปฏิบัติการ 1027

ข่าวสารการสู้รบในเมียนมา ที่มีสื่อตะวันตกให้ความสนใจมากที่สุด ก็คงจะเป็น ‘ปฏิบัติการ 1027’ ของกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ หรือสามพี่น้องภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ประกอบด้วย

กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army : MNDAA) หรือกองทัพโกก้าง นำโดย สหายเผิง ต้าซุน 

กองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army: TNLA) หรือกองทัพตะอาง

กองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) นำโดย พล.ท.ทุน เมี๊ยต หน่าย 

เป้าหมายปฏิบัติการ 1027 ของสามพี่น้องภราดรภาพ แยกเป็นการโจมตีที่มั่นทหารเมียนมาในรัฐฉานเหนือ และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ควบคู่กับการกวาดล้างกลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเล้าก์ก่าย เขตปกครองตนเองโกก้าง 

ผลการเปิดยุทธการ 1027 ทำให้พันธมิตร MNDAA ,TNLA และ AA ยึดเมืองในรัฐฉานเหนือ ได้เบ็ดเสร็จ 8 เมือง และทำลายที่ตั้งทหารเมียนมามากกว่า 100 แห่ง

นอกจากนี้ กองทัพโกก้าง ยังกดดันให้ทหารเมียนมาในเขตปกครองตนเองโกก้าง กำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตระกูลหมิง มาเฟียจีนเทาผู้ทรงอิทธิพลในเมืองเล้าก์ก่าย

อย่างไรก็ตาม การสู้รบอย่างต่อเนื่องในรัฐฉานเหนือ ได้ส่งผลต่อการค้าขายชายแดนเมียนมา-จีน ด้านมณฑลยูนนาน เมื่อด่านพรมแดนหลายแห่งถูกปิดชั่วคราว

ปฏิบัติการ 1111 

ควบคู่กับปฏิบัติการ 1027 ในรัฐฉานเหนือ ก็ยังมีการสู้รบในรัฐกะยา หรือรัฐกะเรนนี เป็นรัฐขนาดเล็กทางด้านใต้ ติดพรมแดนไทย ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน

สงครามในรัฐกะยา เรียกว่า ‘ปฏิบัติการ 1111’ เป็นการร่วมมือของกองกำลังผสมภายใต้ สภาบริหารชั่วคราวแห่งรัฐกะเรนนี (IEC) รัฐบาลเฉพาะกาลแห่งรัฐกะเรนนี ประกอบด้วย 

กองทัพกะเรนนี (Karenni Army : KA) 

กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเรนนี (Karenni Nationalities Defense Force: KNDF) 

แนวร่วมปลดปล่อยประชาชนแห่งชาติกะเรนนี (Karenni National People's Liberation Front: KNPLF) 

กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเรนนี (Karenni Nationalities Defense Force: KNDF) 

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People Defenfe Force: PDF) 

กองกำลังผสมฝ่ายต่อต้านทหารเมียนมาในรัฐกะยา ได้เปิดฉากเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารภายใต้ชื่อรหัส 1111 ประสบความสำเร็จยึดครองพื้นที่ในรัฐกะยา ได้แล้ว 80% กองทัพเมียนมา เหลือ 10% และกำลังสู้รบแย่งชิงพื้นที่ 10% เป้าหมายหลักของพวกเขาคือการชิงเมืองหล่อยก่อ เมืองเอกของรัฐกะยา หรือรัฐกะเรนนี  

แนวรบอื่นๆ

นอกจากสมรภูมิรบในรัฐฉานเหนือ และรัฐกะยาหรือรัฐกะเรนนี ก็ยังมีการต่อสู้ของกองกำลังชาติพันธุ์ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ในอีกหลายพื้นที่

รัฐชิน กองกำลังแห่งชาติชิน (Chin National Army - CNA) ยึด 3 เมือง บริเวณด่านชายแดนเมียนมา-อินเดีย ตรงข้ามเป็นรัฐมิโซรัม อินเดีย รัฐยะไข่ กองทัพอาระกัน(AA) ปฏิบัติการยึดที่มั่นทหารเมียนมาหลายแห่ง บริเวณอ่าวเบงกอล ติดพรมแดนบังกลาเทศ

รัฐกะเหรี่ยง  กองทัพกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) พยายามยึดเมืองกอกะเร็ก จ.เมียวดี บนทางหลวงเอเชียสาย AH1

ภูมิภาคสะกาย กองทัพอิสรภาพกะฉิ่น(KIA) กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน โจมตีที่มั่นทหารเมียนมา บนทางหลวงเอเชีย AH1 ที่เชื่อมภาคสะกาย ทางตอนเหนือของเมียนมา กับรัฐมณีปุระของอินเดีย