'สิงคโปร์-ซูริก' คว้าตำแหน่ง เมืองค่าครองชีพแพงสุดในโลก

'สิงคโปร์-ซูริก' คว้าตำแหน่ง เมืองค่าครองชีพแพงสุดในโลก

สิงคโปร์ยังคงติดอันดับเมืองที่ค่าครองชีพแพงสุดในโลกปีนี้ โดยครองอันดับ 1 เคียงคู่มากับเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงในปีหน้า

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีอ้างอิงรายงานจาก อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) เผยว่า สิงคโปร์ยังคงติดอันดับเมืองที่ค่าครองชีพแพงสุดในโลกปีนี้ โดยครองอันดับ 1 เคียงคู่มากับเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่

1.สิงคโปร์ และซูริก สวิตเซอร์แลนด์

3.เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และนิวยอร์ก สหรัฐ

5.ฮ่องกง จีน

6.ลอสแองเจลิส สหรัฐ

7.ปารีส ฝรั่งเศส

8.โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และเทลอาวีฟ อิสราเอล

10.ซานฟรานซิสโก สหรัฐ

นี่ถือเป็นครั้งที่ 9 แล้วที่สิงคโปร์ติดอันดับต้น ๆ จากการจัดอันดับ 11 ปี ขณะที่เมืองซูริกกระโดดขึ้นมาจากอันดับที่ 6 เมื่อปีก่อน

ส่วนนิวยอร์ก ที่ขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ คู่กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีก่อนนั้น ร่วงลงไปอยู่อันดับที่ 3 เคียงคู่กับเมืองเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวเก็บข้อมูลตั้งแต่ 14 ส.ค. จนถึง 11 ก.ย. 2566 โดยเทียบราคาสินค้าและบริการมากกว่า 400 รายการ ในหมวดหมู่สินค้าและบริการ 200 ประเภท จาก 173 เมืองทั่วโลก

อีไอยูระบุว่า สิงคโปร์ คว้าตำแหน่งเมืองค่าครองชีพสูงสุด เนื่องจากสินค้าประเภทของชำ, แอลกอฮอล์, เสื้อผ้า และยานยนต์ส่วนตัวมีราคาสูงมาก และด้วยค่าเงินแข็งค่าและสินค้าครัวเรือนราคาสูง รวมถึงค่ากิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ แพง หนุนให้เมืองซูริกไต่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เช่นกัน

“สีธาร หาญสกุล” นักวิเคราะห์อาวุโสของอีไอยู เผยผ่านรายการ Squawk Box Asia ของซีเอ็นบีซีว่า

"สิงคโปร์เป็นนครรัฐที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับฮ่องกงที่ครองอันดับที่ 5 และโดยธรรมชาติแล้ว เมื่อคุณมีพื้นที่จำกัดและมีแรงงานมืออาชีพที่มีรายได้สูงจำนวนมาก จึงทำให้ระดับของอุปสงค์หนุนเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการแข่งขันแย่งที่อยู่อาศัยและทรัพยากรอื่น ๆ”

ขณะที่เมืองในจีนและญี่ปุ่นไม่ติดอันดับท็อป ๆ เพราะค่าเงินหยวนและค่าเงินเยนอ่อนค่า

ไออียูย้ำว่า หลายเมืองต่างต้องยอมแพ้ให้กับราคาสินค้าที่แพงขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มสูง สินค้าและบริการมากกว่า 200 รายการแพงขึ้น 7.4% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี ตามสกุลเงินท้องถิ่น แม้อัตราราคาสินค้าดังกล่าวต่ำกว่าปีก่อน 0.7% แต่ยังคงสูงกว่าในช่วงปี 2560-2564

อย่างไรก็ตาม หาญสกุลเผยว่า เงินเฟ้อในเอเชียต่ำกว่าภูมิภาคอื่นทั่วโลก จึงเป็นสาเหตุที่เอเชียมีเพียงสองเมืองที่ติดท็อป 10

“ค่าครองชีพโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.4% แต่เอเชียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3% เท่านั้น หลายรัฐบาลในเอเชียสามารถควบคุมระดับราคาสินค้าและบริการได้ เมื่อเทียบกับรัฐบาลในยุโรปและสหรัฐ” หาญสกุล กล่าว 

อียูไอคาดว่า เงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องในปีหน้า แต่เตือนว่าหากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาสลุกลาม อาจทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นเช่นกัน

อ้างอิง: CNBC