เปิดชีวิตแรงงานไทยหนีตายฮามาส ในมุมมองสื่อท้องถิ่นอิสราเอล

เปิดชีวิตแรงงานไทยหนีตายฮามาส ในมุมมองสื่อท้องถิ่นอิสราเอล

"ฮามาสน่ะเหรอ เขาทำอะไรไว้ เขาก็จะได้รับผลแบบนั้นกลับมา มันเป็นเวรเป็นกรรมน่ะ" คือประโยคจาก "วันชัย มนต์เสนา" แรงงานไทยวัย 44 ปีในอิสราเอล ที่เป็นทั้งการตอบคำถามสื่อและเป็นทั้งพาดหัวหนังสือพิมพ์ Yedioth Ahronoth สื่อท้องถิ่นในอิสราเอล

สื่ออิสราเอลโดย Ran Ezer ได้ทำสกู๊ปเจาะชีวิตแรงงานชาวไทยที่เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุกลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเล่าถึงวินาทีเอาชีวิตรอดท่ามกลางกองเพลิง การนอนรอข้างถนนโดยไม่มีใครกล้าพาไปโรงพยาบาลเพราะกลัวจะเป็นแผนของฮามาส การรักษาตัวอยู่ในแผนกไอซียูของโรงพยาบาล และความรู้สึกที่มีการถูกกระทำในครั้งนี้ 

"เขาเป็นคนที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง เงียบ ถ่อมตัว และกล้าหาญ ไม่บ่นอะไร รักสงบ และกำลังเจ็บปวดทรมานอย่างหนักอยู่" ศ.โจเซฟ ฮาอิก ศัลยแพทย์ผู้ให้การรักษาที่โรงพยาบาล ชีบา เมดิคอล เซ็นเตอร์ กล่าวถึงวันชัย ซึ่งกำลังรับการรักษาแผลไฟไหม้อย่างรุนแรงทั้งตัว  

วันชัยพูดได้แค่ภาษาไทย แม้จะสื่อสารกันลำบาก แต่แพทย์และเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่นี่ต่างก็รักเขา  

รายงานระบุว่า กลุ่มติดอาวุธฮามาส เผาเขาทั้งเป็นในเหตุบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในวันเดียวกันนั้นมีคนไทยถูกสังหารไปถึง 39 คน บาดเจ็บ 19 คน ถูกจับเป็นตัวประกันอีก 25 คน และสูญหายยืนยันตัวตนไม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก 

เปิดชีวิตแรงงานไทยหนีตายฮามาส ในมุมมองสื่อท้องถิ่นอิสราเอล

แพทย์ระบุว่า วันชัยจะออกจากโรงพยาบาลได้หลังจากที่รักษาตัวจนหายดีแล้ว เหมือนกับคนไทยอีกคนที่เข้าโรงพยาบาลจากแผลไฟไหม้ก่อนหน้านี้และได้ออกไปแล้ว แต่กรณีของวันชัยอาจต้องใช้เวลามากกว่าสักหน่อย เพราะถูกไฟไหม้ถึง 50% ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่ารุนแรง โดยเฉพาะส่วนขาที่ต้องได้รับการผ่าตัดถึง 2 ครั้ง และนิ้วเท้าบางส่วนได้ขาดหายไป  

วันแรกที่วันชัยรักษาตัวในโรงพยาบาลถือว่าหนักหนากว่านี้มาก เพราะถูกส่งตัวเข้ามาในอาการสาหัส แพทย์ต้องลดระดับการไหลเวียนของเลือดไปที่ขา เพื่อให้หัวใจพอมีเลือดสูบฉีดและทำงานต่อได้ เขาถูกผันแผลแน่นที่ขาทั้งสองข้างเพื่อป้องกันไม่ให้เอ็นร้อยหวายขาด โดยปกติแล้วเคสระดับนี้จะต้องรักษาตัวประมาณ 150 วัน ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังแผนกฟื้นฟูเพื่อทำกายภาพหัดเดินต่อไป 

เมื่อถามถึงอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อ เขาตอบเพียงสั้นๆ ว่า "อย่างแรกก็ต้องรักษาตัวให้หาย เริ่มหัดเดิน หลังจากนั้นก็ค่อยว่ากันต่อ"    

  

  • วินาทีแห่งความเป็น-ความตาย

วันเสาร์ที่ 7 ต.ค. ก็เป็นเหมือนทุกๆ วัน เขาพักในแฟลตคนงานใกล้กับบริเวณโรงงานบรรจุภัณฑ์ในพื้นที่ไร่มันสำปะหลัง ซึ่งมีคนงานประมาณ 15-20 คน และอยู่ห่างจากหมู่บ้านใกล้เคียงประมาณ 2-3 กิโลเมตร พนักงานฝ่ายบรรจุภัณฑ์พักอยู่ชั้นบน ส่วนพนักงานเก็บมันสำปะหลัง มันหวาน และแครอท พักอยู่ชั้นล่าง 

วันชัยเล่าว่าเขาได้ยินเสียงจรวดเหมือนปกติซึ่งได้ยินอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อเวลาประมาณ 10 โมงเช้า ก็มีกลุ่มนักรบฮามาสประมาณ 10-20 คนที่ปลอมตัวเป็นทหารอิสราเอลบุกเข้ามา วันชัยกับเพื่อนๆ ต้องพากันไปหลบซ่อนในห้องครัว และคิดว่าจะทำอย่างไรดี พวกเขาคิดว่าถ้าหนีออกไปทางไร่อาจจะไม่ปลอดภัย ตอนนั้นเหล่าคนงานตามดูข่าวความเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียบนมือถือกันบ้าง แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุโจมตีในวันนั้นจะรุนแรงมากขนาดนี้   

เมื่อกลุ่มติดอาวุธกลับออกไปเหล่าคนงานคิดว่าไม่มีอะไรแล้ว วันชัยกลับเข้าห้องพักและเปิดเพลงฟัง ส่วนเพื่อนๆ ประมาณ 14 คน นั่งกันอยู่หน้าบ้านพัก ก่อนที่กลุ่มติดอาวุธจะกลับเข้ามาอีกครั้งตอนประมาณ 14.00 - 15.00 น. โดยมากันหลายคนพร้อมรถหลายคัน วันชัยเห็นห้องกำลังถูกเพลิงไหม้ และทุกสิ่งรอบตัวกำลังถูกไฟเผา  

ตอนนั้นเขาคิดว่าถ้าออกไปคงถูกฆ่าตาย แต่ถ้ายังซ่อนอยู่ก็คงสำลักควันและถูกไฟเผาตาย ที่สุดแล้ววันชัยก็หนีออกมาได้ตอนที่กลุ่มติดอาวุธออกไปกันแล้ว วันชัยเล่าว่าเมื่อไม่มีที่ให้หลบซ่อน เขาเลยต้องไปซ่อนในพุ่มต้นพริกที่ปลูกเอาไว้แถวนั้น ตอนที่ได้ยินเสียงคนก็ยังไม่กล้าออกมา เพราะไม่รู้ว่าเป็นทหารหรือคนร้าย จนกระทั่งกลางคืนจึงเดินออกไปแถวที่พักเพื่อหาอุปกรณ์ทำแผล 

ในเวลานั้นวันชัยได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์จึงใช้ไฟฉายทำสัญญาณ S.O.S. เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่เฮลิคอปเตอร์บินวนอยู่สักพักก็ผ่านไป ซึ่งนักบินเปิดเผยในภายหลังว่า เป็นเพราะไม่แน่ใจว่าเป็นแผนของกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือไม่

วันชัยซึ่งหมดหวังเข้าไปทุกทีพยายามกระเสือกกระสนพาตัวเองในสภาพที่ขาถูกไฟคลอกอย่างหนัก ออกไปที่ถนนซึ่งอยู่ห่างไป 200 - 300 เมตร แต่ก็ยังไม่มีใครมาช่วยเหลือจนกระทั่งช่วงบ่ายของอีกวัน ที่ทหารอิสราเอลพาตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลโซโรกา เมดิคอล เซ็นเตอร์ ในเบียร์ชีวา ก่อนย้ายไปที่ ชีบา เมดิคอล เซ็นเตอร์   

 

  • กำลังใจหลั่งไหลทั้งไทย-อิสราเอล

วันชัยเป็นอดีตแรงงานเก็บเบอร์รีที่ทำงานในสวีเดนมานานถึง 9 ปี ก่อนจะหันมาทำฟาร์มเกษตรในอิสราเอล 4 ปี โดยไม่เคยกลับเมืองไทย  

หลังจากที่ฟื้นก็มีคนทยอยมาเยี่ยมทั้งถามไถ่อาการและนำของฝากของกินมาเยี่ยม ทั้งชาวไทยและชาวอิสราเอล โดยสำหรับชาวอิสราเอลนั้นทราบข่าวของวันชัยเพราะมีทหารรายหนึ่งรักษาตัวอยู่ห้องติดกัน ทำให้ครอบครัวนี้ถือโอกาสแวะเยี่ยมคนข้างห้องด้วยก่อนจะโพสต์เรื่องราวลงบนเฟซบุ๊ก และทำให้มีชาวอิสราเอลจำนวนมากติดต่อสอบถามเข้ามาและมาเยี่ยมแรงงานไทยรายนี้ 

เปิดชีวิตแรงงานไทยหนีตายฮามาส ในมุมมองสื่อท้องถิ่นอิสราเอล

ชิริต ชัย ซึ่งมีลูกชายไปร่วมรบในสงครามนี้ด้วย ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกระทรวงแรงงานที่สถานเอกอัคราชทูตไทยประจำอิสราเอล และเป็นหนึ่งในคนที่มาเยี่ยมวันชัย โดยทำหน้าที่ประสานงานให้กับครอบครัวของเขาโดยผ่านภรรยา ถามไถ่เรื่องเงินเดือนที่ส่งกลับประเทศว่าถึงมือหรือไม่ ไปจนถึงให้ความมั่นใจเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

เธอให้หนังสือเพลงสวด (Psalms) ขนาดเล็กจากคัมภีร์ไบเบิลเอาไว้เป็นเหมือนเครื่องรางถึงความโชคดี และนี่ก็ไม่ใช่เคสแรก หรือเคสสุดท้ายที่เธอมาเยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอล เพราะมีเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธโจมตีกันอยู่บ่อยครั้ง และนอกจากวันชัยแล้ว เธอต้องไปโรงพยาบาลอื่นเพื่อเยี่ยมคนไทยรายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน       

สื่อท้องถิ่นยังฉายภาพถึงคนอิสราเอลและคนไทยในอิสราเอลที่มาเยี่ยมทั้งในฐานะล่าม อาสาสมัคร และในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยมีการนำสิ่งของ อาหารไทย ผลไม้ ไปจนถึงเงินบริจาคมาเยี่ยมแรงงานไทยรายนี้ เพื่อให้รู้สึกถึงความรักความอบอุ่นและรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน

จูดิธ อบรัมส์ วิสัญญีแพทย์กล่าวว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่มีชุมชนคนต่างชาติอยู่หลากหลาย ทุกคนที่คิดว่าอิสราเอลเป็นเหมือนบ้านของตัวเองก็จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่โชคไม่ดีที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ไปด้วย และวันชัยก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เขาก็จะไม่อยู่ตัวคนเดียว

และเมื่อถามถึงเรื่องสำคัญที่สุดว่า เขาคิดอย่างไรกับกลุ่มฮามาสที่ทำให้เขาถูกไฟคลอก และยังสังหารและจับเพื่อนๆ ของเขาไปเป็นตัวประกันนั้น เขาแค่ยิ้มแบบเขินๆ เหมือนเด็กและบอกแค่ว่า "คนที่ถูกจับไปต้องถูกปล่อยตัวกลับมา ก็แค่นั้น" และเมื่อถูกถามย้ำถึงฮามาส วันชัยกล่าวเพียงว่า

"ใครทำอะไรไว้ ก็จะได้รับผลแบบนั้นกลับมา มันเป็นเวรเป็นกรรมน่ะ" 

สื่ออิสราเอลทิ้งท้ายว่า การยอมรับความจริงหรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในหนทางของการเยียวยาตนเอง และบางครั้งมันก็ง่ายขึ้นหากอยู่ในต่างแดนที่ซึ่งรากเหง้าแห่งความขัดแย้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรา