‘ปัญหาหมอกควันพิษ’ แก้ไขได้ด้วยกฎหมาย-หนุนผลิตภัณฑ์ยั่งยืน

‘ปัญหาหมอกควันพิษ’ แก้ไขได้ด้วยกฎหมาย-หนุนผลิตภัณฑ์ยั่งยืน

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ไฟป่าบนเกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตัน ที่เป็นปัญหาหมอกควัน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างน้อย 5,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในปีนั้น

เมื่อเอลนีโญมาเยือนอย่างเต็มรูปแบบ รัฐบาลหลายประเทศจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับ‘ปัญหาหมอกควันพิษ’ ข้ามพรมแดนที่เลวร้ายที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ จึงเกิดความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์หมอกควันอันตรายเพิ่มขึ้น เนื่องจากโลกร้อนอย่างรุนแรง ทำให้พื้นที่ป่าพรุและป่าไม้ติดไฟได้ง่ายในฤดูแล้ง

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแหล่งพื้นที่ป่าพรุประมาณ 40% ของโลก เกิดไฟป่า มีการปล่อยมลพิษ และควันพิษสูง ยิ่งทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเลวร้ายลง และทำให้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความซับซ้อน จนนำไปสู่ปัญหาระบบทางเดินหายใจ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรืออาจทำให้เสียชีวิต และสูญมูลค่าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้

แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีข้อตกลงหลายฉบับรวมทั้งความมุ่งมั่นในการลดหมอกควันในท้องฟ้าภายในปี 2573 แต่หมอกควันที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของความตกลงอาเซียนหลายฉบับที่ขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง ขณะที่ความขัดแย้งและการปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับหมอกควันอย่างแข็งขันของชาติอาเซียน ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่บั่นทอนเป้าหมายลดหมอกควันเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น แม้สภาพอากาศในหลายพื้นที่ของคาบสมุทรมาเลเซียอยู่ในระดับอันตราย เมื่อช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อินโดนีเซียปฏิเสธคำกล่าวอ้างของมาเลเซียที่ว่า ลมพัดหมอกควันอันตรายมาจากพื้นที่ต่าง ๆบนเกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตัน เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในปี 2558 รองประธานาธิบดียูซุฟ คัลลา เคยต่อว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งที่วิจารณ์เกี่ยวกับหมอกควันด้วย

ทั้งนี้ ในปีดังกล่าว เป็นครั้งสุดท้ายที่เอลนีโญก่อให้เกิดผลกระทบเลวร้ายในฤดูแล้ง เกิดไฟป่าทำลายพื้นที่ป่า 2.7 ล้านเฮกตาร์ (16.8 ล้านไร่) ในอินโดนีเซีย และหมอกควันในปีนั้นไม่ได้ปกคลุมแค่ในพื้นที่ของประเทศบรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซียและสิงคโปร์ แต่รวมถึงภาคใต้ของไทยและฟิลิปปินส์ด้วย

‘ปัญหาหมอกควันพิษ’ แก้ไขได้ด้วยกฎหมาย-หนุนผลิตภัณฑ์ยั่งยืน

แม้เกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าไม้ขนาดเล็กของอินโดนีเซียราว 1.6 ล้านเฮกตาร์ (10 ล้านไร่) เมื่อปี 2562 ธนาคารโลกก็คาดการณ์ว่า ไฟป่าบนเกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตัน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างน้อย 5,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ในปีนั้น

หมอกควันส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากพื้นที่ป่าพรุขนาดใหญ่บนเกาะสุมาตราและเบอร์เนียว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าพรุที่แห้งแล้ง และมักใช้ทำสวนปาล์มน้ำมันกับสวนเยื่อกระดาษ จึงทำให้เกิดไฟป่าง่าย

“เฮเลน่า วาร์กกี” รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล จากมหาวิทยาลัยมาลายา ในมาเลเซีย และ “ชารอน ซีห์” นักวิชาการอาวุโส โครงการสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัคในสิงคโปร์ เตือนว่า “การถางป่าพรุเพื่อเตรียมปลูกหรือพัฒนาพื้นที่ ทำให้สารอินทรีย์ในพื้นที่ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ เริ่มสลายตัว และปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเผาไหม้ จะยิ่งทำให้โลกร้อนเร็วขึ้น”

ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนที่สัมพันธ์กับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของไฟป่าในป่าพรุ ประเทศอินโดนีเซีย แต่อินโดนีเซียผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกไม่อาจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย

ขณะที่สิงคโปร์ พยายามส่งเสริมความตกลงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดหมอกควัน จึงประกาศใช้กฎหมายมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนในปี 2557 โดยหลายบริษัทจะมีความผิด หากสร้างมลพิษหมอกควันในประเทศ ส่วนมาเลเซียอยู่ในขั้นตอนดำเนินการวางแผนกำหนดกฎเกณฑ์ที่คล้ายกับสิงคโปร์

ด้านกรีนพีซ เครือข่ายรณรงค์ระดับโลกเรียกร้องให้มีการพัฒนากรอบกฎหมายระดับภูมิภาค ให้บริษัทต่าง ๆ มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับไฟป่า จากการเคลียร์พื้นที่ป่าพรุและการเผาที่ดินทางการเกษตร

วาร์กกี บอกว่า แนวทางแก้ไขปัญหาที่ให้ผลลัพธ์ดีกว่ากฎหมายคือตลาด จึงควรสนับสนุนให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ทำให้ปัจจุบัน มีบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลกหลายแห่ง ร่วมกันใช้น้ำมันปาล์มยั่งยืนมานาน 10 ปีแล้ว และได้รับการรับรองจากหน่วยงานทางการ เช่น การเจรจาโต๊ะกลมเพื่อการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียได้พัฒนาแพลตฟอร์มน้ำมันปาล์มยั่งยืนเป็นของตัวเองแล้วเช่นกัน ซึ่งเป็นการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อแก้ไขความท้าทายในการพัฒนาน้ำมันปาล์มยั่งยืนของประเทศ