ผลกระทบจากสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส'ต่อเศรษฐกิจโลก

ผลกระทบจากสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส'ต่อเศรษฐกิจโลก

ขอส่งกำลังใจถึงชาวไทยในอิสราเอลและสมาชิกในครอบครัวในเมืองไทยทุกคน  ซึ่งประเมินว่าอาจมีจำนวนมากกว่า 50,000 ครอบครัว ที่พึ่งพารายได้จากการทำงานในอิสราเอล เด็กและคนชราหลายชีวิตฝากความหวังและอนาคตไว้อยากเหงื่อแรงงานและความอุทิศตนของท่านทุกคน 

การเงินของประเทศกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปีเป็นผลพวงที่จากความอุตสาหะ  ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิต และอวยพรให้ผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับการเยียวยากลับมาสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และภาวนาให้ผู้ที่ยังไม่ทราบชะตากรรมและสงสัยว่าจะถูกจับไปเป็นตัวประกันนั้น ผ่านพ้นอันตรายและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติโดยเร็ว

Ajay Banga ประธานธนาคารโลกให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงเรื่องสงครามในฉนวนกาซ่าว่า "มันเป็นโศกนาฏกรรมด้านมนุษยธรรมและเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เราไม่ต้องการ" 

หลายคนเป็นห่วงผลกระทบต่อเศรษฐกิจใกล้ตัวและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ว่าสงครามครั้งนี้ ซ้ำเติมกับเรื่องยูเครน-รัสเซีย จะทำให้การพยายามฟื้นตัวของภาคเอกชนและภาครัฐ ทั้งนโยบายเชิงรุกและเยียวยา ที่รัฐบาลใหม่กำลังสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายหลายเรื่อง มีผลออกมาอย่างไร

แม้ภูมิรัฐศาสตร์ของอิสราเอลนั้นอยู่ในตะวันออกกลาง แต่ความเสี่ยงนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไทยกับอิสราเอลมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันโดยตรง เช่นเรื่องแรงงานข้ามประเทศดังกล่าว แต่ภาพใหญ่ของความเสี่ยงนี้จะเพ่งเล็งไปที่ "ราคาของพลังงานปิโตรเลียมและสินค้าอื่นๆ ที่อาจจะมีปัญหาในการขนส่ง"

ซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน ซึ่งเป็นสองประเทศผู้ผลิตน้ำมันระดับต้นของโลก และมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องความขัดแย้งนี้ทั้งทางการเมืองและศาสนาและมีภูมิประเทศล่อแหลม

น้ำมันหนึ่งในห้าของโลกจะผ่านช่องแคบระหว่างสองประเทศนี้ (Strait of Hormuz) และการเมืองก็เคยกระทบการผลิตน้ำมัน เช่นในปี ค.ศ. 2019 โรงกลั่นน้ำมัน Abqaiq ของซาอุดิอาระเบียเคยถูกทำลายโดยผู้ก่อการร้ายมาแล้ว และหากมีหลักฐานว่าอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนฮามาสจริง ก็อาจจะเกิดการคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกาได้ แต่หวังว่าจะไม่เป็นการดึงอิหร่านเข้ามาร่วมในสงคราม

ความกังวลเรื่องนี้ราคาน้ำมันที่หลายคนคาดว่าจะพุ่งขึ้นสูงนั้น เปลี่ยนเป็นความอุ่นใจ เพราะถึงวันนี้ราคาน้ำมันขยับขึ้นเพียงแค่ 4% เปรียบเทียบกับการบุกยูเครนของรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2022 ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 35% ในช่วงสองสัปดาห์ ถึง 140 เหรียญต่อหนึ่งบาร์เรลในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2022 

ก่อนเกิดสงคราม"อิสราเอล-ฮามาส" ผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่มประเมินว่าราคาน้ำมันปีนี้อาจจะขึ้นสูงถึง 100-119 เหรียญต่อบาร์เรล จึงเป็นที่น่าสนใจว่าตัวเลขนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร 

ค่าเงินดอลลาร์มักจะเห็นการแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ปะทุขึ้น เนื่องจากนักลงทุนหนีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ไปซื้อการลงทุนที่ปลอดภัยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เงินดอลลาร์แทบจะไม่ขึ้นเลยตั้งแต่เริ่มการสู้รบ 

เรื่องที่น่าประหลาดใจอีกอย่างคือ ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ร่วงลงเฉียบพลัน ซึ่งตรงข้ามกับประสบการณ์ในอดีตที่ความขัดแย้งถึงขนาดเป็นสงครามน่าจะทำให้หุ้นร่วง แต่ครั้งนี้ดัชนีหุ้นสหรัฐอเมริกาขยับขึ้น" ( 7 largest stocks in the S&P 500 have returned 92% on average this year" หุ้นใหญ่ 7 บริษัทแรกของ S&P 500 มีมูลค่าขึ้น 92% แล้วตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันนี้)

แปลกอีกอย่างก็คือ ปกติแล้วค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมักจะแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากนักลงทุนหนีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อซื้อการลงทุนที่ปลอดภัย แต่ค่าเงินดอลลาร์แทบจะไม่ขึ้นเลยตั้งแต่เริ่มการสู้รบ 

คำถามคืออะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจครั้งนี้แตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา

ข้อสันนิษฐานโดยส่วนตัว ;

1) เศรษฐกิจของสหรัฐแสดงความเข้มแข็งสม่ำเสมอ 

สังเกตที่อัตราคนว่างงานต่ำมาก (3.8%) มีข่าวว่าธนาคารกลางจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีก (5.25-5.50%) อัตราการจ้างงานพุ่งแรงเป็นประวัติศาสตร์ และสหรัฐอเมริกามีเงินตราสกุลดอลล่าร์ที่ยังไม่มีสกุลอื่นขึ้นมาแข่งขันถ้ายังเป็นที่น่าวิตก

2) สถานการณ์ในจีนเริ่มดีขึ้น?

ข่าวเรื่องเงินอัดฉีดจากรัฐบาลจีนจะเข้าสู่ระบบ (ข่าวลือว่าประมาณ $137,000 ล้านเหรียญ) ทำให้นักลงทุนหลายคนเพิ่มความสนใจกับหุ้นในจีน เรื่องนี้เป็นข่าวดีมาก เพราะจีนมีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้นักลงทุนกังวล เช่น หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนสูงมาก สถาบันการเงินหลายแห่งแทบจะเอาตัวไม่รอด บริษัทอสังหาริมทรัพย์มีเรื่องอื้อฉาวมากมาย อัตราคนว่างงานสูงมากโดยเฉพาะเยาวชน ข่าวลือเรื่องผู้นำระดับสูงหลายคนไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะ เนื่องจากปัญหาส่วนตัว หรือกำลังถูกสอบสวนเกี่ยวข้องกับคอรัปชั่นหรือปัญหาอื่นๆ 

3) ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับจีนขยับเป็นทางบวก

สังเกตุการพบปะกันหลายครั้งของระดับผู้นำทั้งสองฝ่าย และแผนการมาร่วมประชุมเอเปกที่ซานฟรานซิสโกในเดือนพฤศจิกายนนี้โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน คาดว่าจะนำมาสู่การเจรจาด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นหุ้นส่วนของการแก้ปัญหา และยอมรับความเป็นจริงว่าสองมหาอำนาจคือพันธมิตรกันที่แท้จริง และทั้งสองฝ่ายพึ่งพาอาศัยกัน โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถจะยอมให้ฝ่ายหนึ่งล่มสลายได้ 

บทเรียนที่เราได้จากครั้งนี้คือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์มีอยู่ตลอดเวลา และจะมีผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้นแน่นอนไม่มากก็น้อย แต่หลายอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมีกระแสสวนทางกับความเข้าใจแบบเดิมของเรา ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดจะสามารถทำนายได้ว่า

เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างนี้แล้วผลของเศรษฐกิจจะออกมาเป็นอย่างนั้นแน่นอน จึงควรปรับทัศนคติของการลงทุนในระยะสั้นและระยะยาวด้วยความยืดหยุ่นและรอบคอบ อย่าลืมกระจายความเสี่ยงและเลือกการลงทุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ชนในระยะยาว และที่สำคัญคือเรามาช่วยกันภาวนาเพื่อสันติภาพในโลกครับ