3 ปัญหาโดยตรง จาก ‘สงครามอิสราเอล’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

3 ปัญหาโดยตรง จาก ‘สงครามอิสราเอล’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ความขัดแย้งรุนแรงในฉนวนกาซาระหว่าง “อิสราเอล” กับ “กลุ่มฮามาส” ที่ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วเป็นพันราย ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลงในเร็ววัน

พื้นที่พิพาทที่ปัจจุบันอย่างดินแดนอิสราเอลนี้ มีปัญหาและความรุนแรงมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีเรื่องราวประวัติศาสตร์และชุดคำอธิบายถึงความชอบธรรมในฐานะเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมที่ต่างกัน 

อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สำคัญทางจิตวิญญาณต่อ 3 ศาสนา ได้แก่ คริสต์ ยูดาห์ (ยิว) และอิสลาม ประกอบกับความพยายามของมหาอำนาจที่จะเข้ามาแผ่อิทธิพลจนเกิดเป็นสงครามครั้งแล้วครั้งเล่าในรอบหลายสิบปี จึงถือว่าเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก

การโจมตีของกลุ่มฮามาสต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในดินแดนอิสราเอล คือจุดเริ่มต้นความรุนแรง? หรือเป็นการตอบโต้ความรุนแรงที่อิสราเอลกระทำต่อปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน? ทั้งการขยายพื้นที่ การจำกัดสิทธิประชาชน และที่สำคัญคือความรุนแรง ณ มัสยิดอัลอักซอ (Al-Aqsa) ที่มีความสำคัญอันดับ 3 ของศาสนาอิสลาม จนกลายมาเป็นชื่อภารกิจพายุอัลอักซอ ที่ฮามาสเปิดฉากยิงถล่ม ฆ่า และจับตัวประกันจำนวนมากเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) ที่ผ่านมา

ดังนั้นไทยในฐานะผู้มีส่วนได้เสียเพราะเรามีแรงงานจำนวนมากติดอยู่ที่อิสราเอลนั้น การกำหนดท่าทีต่อเหตุการณ์นี้จึงมีความสำคัญและควรไตร่ตรองให้ดีด้วยสติปัญญาก่อนกระทำการใดๆ และไทยสมควรตระหนักถึง 3 ปัญหาใหญ่ที่จะกระทบกับเราโดยตรง

1. แรงงานไทยซึ่งมีข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่ามีจำนวนเกือบ 30,000 คน (และตัวเลขประมาณการอย่างไม่เป็นทางการที่อาจจะสูงถึง 70,000 คน) อิสราเอลถือเป็นประเทศ/ดินแดนอันดับ 2 ที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด (รองจากไต้หวัน) เพราะไทยและอิสราเอลมีความร่วมมือระหว่างรัฐ และเหตุผลเรื่องของค่าตอบแทนที่เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน

และเม็ดเงินที่แรงงานไทยจำนวนมากที่ทำงานในต่างแดนนั้นเข้ามาขับเคลื่อนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยคือ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยเลย แรงงานเหล่านี้เข้าไปเติมเต็มความต้องการในแรงงานทักษะต่ำ อาทิ การเกษตร การก่อสร้าง เป็นต้น ดังนั้นจึงถูกแล้วที่การดูแลแรงงานไทยคือลำดับความสำคัญแรกของรัฐบาล และจำต้องทำด้วยสติปัญญา การวางตัวที่ดีและการใช้ความสัมพันธ์ทุกด้านที่มีให้เป็นประโยชน์

2. ปัญหาราคาพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าดินแดนอิสราเอลจะไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในภูมิภาค แต่สงครามในอิสราเอลนี้มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของภูมิภาค อาทิ อิหร่าน ซีเรีย ซึ่งถือเป็นประเทศคู่อริเดิมของอิสราเอล หรือแม้กระทั่งการกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ทั่วภูมิภาคอย่าง ซาอุดีอาระเบีย จำต้องออกมาเลือกข้างซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งสิ้น

ขณะนี้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั่วโลกดีดตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4% แล้ว และจากประสบการณ์สงครามครั้งก่อนๆ ในภูมิภาค ก็เป็นที่แน่นอนว่าภาวะราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้สูงมาก และหากย้อนภาพกลับไปถึงสงครามเมื่อปี 2516 ราคาน้ำมันก็ดีดตัวขึ้นสูงถึง 3-4 เท่าจากกรณีที่ OPEC ที่นำโดยซาอุดีอาระเบียปฎิเสธการขายน้ำมันให้สหรัฐและชาติพันธมิตรเพื่อเป็นการตอบโต้การคว่ำบาตรของสหรัฐและประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลในสงคราม

3. ปัญหาก่อการร้ายสากล ซึ่งถือเป็นไพ่อีกหนึ่งใบของกลุ่มหัวรุนแรง และเป็นทางเลือกในการต่อสู้หากความรุนแรงนี้ยังไม่ยุติลง อาทิ การเข้ากระชับพื้นที่ของอิสราเอล หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมสงครามของชาติอื่นๆ อาทิ สหรัฐ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งกลุ่มเรือรบ เข้าสู่บริเวณตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอันเป็นที่ตั้งของอิสราเอลแล้ว และการลุกลามจนกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ ที่อาจจะส่งผลให้บรรดาชาติอิสลาม และมหาอำนาจอื่นๆ เข้าร่วมสงครามด้วย

ด้วยเหตุผลและปัจจัยข้างต้น รัฐบาลไทยจึงควรให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องนี้เหนือสิ่งอื่นใด