ส่องปฏิกิริยาทั่วโลกแบ่งขั้วในสงคราม "อิสราเอล-ปาเลสไตน์"

ส่องปฏิกิริยาทั่วโลกแบ่งขั้วในสงคราม "อิสราเอล-ปาเลสไตน์"

จับตาท่าทีจากทั่วโลกและสัญญาณของการเจรจาหยุดยิง ขณะที่โลกยังแบ่งขั้วความเห็น อาหรับชี้นโยบายสุดโต่งของอิสราเอลคือระเบิดเวลา ขณะที่ตะวันตกยืนยันหนักแน่นอิสราเอลมีสิทธิปกป้องตนเอง

การปะทะกันครั้งใหญ่ในระดับสงครามระหว่าง "อิสราเอล" และ "ปาเลสไตน์" เป็นสิ่งที่โลกไม่เห็นมานานถึง 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่สิ้นสุด "สงคราม 11 วัน" เมื่อเดือน พ.ค. 2564 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 250 ราย เกือบทั้งหมดเป็นชาวปาเลสไตน์ ครั้งนั้นมีเสียงวิจารณ์ว่าอิสราเอลทำเกินกว่าเหตุ และทำให้ประชาคมโลกพยายามเข้าแทรกแซงเพื่อหาทางเจรจาหยุดยิงและยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ทว่าในเหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ หลายประเทศโดยเฉพาะซีกโลกตะวันตกต่างประกาศพร้อมยืนเคียงข้างอิสราเอล ในเหตุการณ์โจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ อ้างว่าระดมยิงขีปนาวุธมากถึง 5,000 ลูกใส่อิสราเอล และนับเป็นหนึ่งในปฏิบัติการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ก่อนที่อิสราเอลจะเปิดปฏิบัติการตอบโต้กลับภายในวันเดียวกัน จนมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 400 คน บาดเจ็บอีกนับพันคน

ในครั้งนี้ทั่วโลกต่างมีปฏิกิริยาที่ต่างกันออกไป และยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าจะสามารถเจรจาหยุดยิง (Ceasefire) กันได้ในเร็วๆ นี้ 

ส่องปฏิกิริยาทั่วโลกแบ่งขั้วในสงคราม \"อิสราเอล-ปาเลสไตน์\"

ซีกโลกตะวันตก 

  • สหรัฐ

"สหรัฐขอประณามการโจมตีพลเรือนอิสราเอลโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายฮามาสที่กระทำต่อพลเรือนอิสราเอล ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะสร้างความชอบธรรมได้สำหรับการก่อการร้าย เรายืนหยัดอย่างมั่นคงกับรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล และขอแสดงความเสียใจต่อชีวิตของชาวอิสราเอลที่เสียชีวิตจากการโจมตีเหล่านี้" แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ระบุ

ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ กล่าวว่า ภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐจะทำให้มั่นใจว่า อิสราเอลจะมีสิ่งที่จำเป็นในการปกป้องตนเองและปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการก่อการร้ายตามอำเภอใจ

  • สหภาพยุโรป (อียู)

"แน่นอนว่าฉันขอประณามการกระทำของผู้ก่อการร้ายฮามาสต่ออิสราเอล... อิสราเอลมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองจากการโจมตีที่เลวร้ายเช่นนี้" เออร์ซูลา ฟอน เดอ  เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุใน X (ทวิตเตอร์) 

ส่องปฏิกิริยาทั่วโลกแบ่งขั้วในสงคราม \"อิสราเอล-ปาเลสไตน์\"

  • ฝรั่งเศส

"ผมขอประณามอย่างรุนแรงถึงเหตุการณ์ก่อการร้ายที่กำลังเกิดขึ้นกับอิสราเอล และผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหยื่อ ครอบครัว และผู้ที่ใกล้ชิดกับพวกเขา " ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ระบุใน X เช่นเดียวกับสถานทูตฝรั่งเศสในอิสราเอลที่ระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการก่อการร้ายที่ไม่อาจยอมรับได้ 

  • เยอรมนี 

"เราได้รับข่าวร้ายในวันนี้เรื่องอิสราเอล เรารู้สึกตกใจถึงขีดสุดที่ทราบว่ามีการยิงขีปนาวุธมาจากฉนวนกาซาและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น เยอรมนีขอประณามเหตุการณ์โจมตีโดยกลุ่มฮามาส และขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างอิสราเอล" นายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลส์ ระบุในโซเชียลมีเดีย

ซีกโลกตะวันออกกลาง

  • กลุ่มสันนิบาตอาหรับ (Arab League)

"การดำเนินนโยบายที่สุดโต่งและรุนแรงอย่างต่อเนื่องของอิสราเอล คือระเบิดเวลาที่ทำให้ภูมิภาคนี้ขาดโอกาสสำคัญในการสร้างสถียรภาพในอนาคตอันใกล้นี้"อาเหม็ด อาบูล กีต ประธานสันนิบาตอาหรับกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีในปฏิบัติการที่ฉนวนกาซา และหยุดวงจรการปะทะกันด้วยกำลังระหว่างทั้งสองฝ่าย

  • ซาอุดิอาระเบีย

"เรากำลังติดตามสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนระหว่างกลุ่มชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก กับกองกำลังยึดครองของอิสราเอล ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงระดับสูงในหลายด้าน” กระทรวงการต่างประเทศซาอุดิอาระเบียกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงจากทั้งสองฝ่ายในทันที 

  • อียิปต์ 

กระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ออกแถลงการณ์เตือนถึงผลเลวร้ายที่จะตามมา จากความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ พร้อมเรียกร้องให้มีการใช้ความอดทนอัดกลั้นอย่างถึงที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พลเรือนได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้ 

  • จอร์แดน

อัยมาน ซาฟาดี รัฐมนตรีต่างประเทศของจอร์แดน กล่าวเตือนถึงความผันผวนของสถานการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงเมืองและพื้นที่ในเขตเวสต์แบงก์ที่เป็นพยานถึงการโจมตีของอิสราเอล และการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ พร้อมระบุด้วยว่าการบาดเจ็บล้มตายในเขตเวสต์แบงก์ที่ชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ พุ่งขึ้นสู่ระดับที่โลกไม่ได้เห็นมานานหลายปีแล้ว

ทั้งนี้ จอร์แดนและอียิปต์เป็น 2 ประเทศแรกในตะวันออกกลางที่ตกลงเจรจาสันติภาพกับอิสราเอล 

  • อิหร่าน 

"เราขอแสดงความยินดีกับนักรบปาเลสไตน์" "เราจะยืนหยัดเคียงข้างนักสู้ชาวปาเลสไตน์จนกว่าจะมีการปลดปล่อยปาเลสไตน์และเยรูซาเล็ม” ที่ปรึกษาของอยาตอลเลาะห์ อาลี ฮอสเซนี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ระบุว่า การโจมตีของกลุ่มฮามาสนั้นคือหลักฐานที่พิสูจน์ว่าชาวปาเลสไตน์มั่นใจมากขึ้นเมื่อเผชิญกับการยึดครองของอิสราเอล 

ประเทศอื่นๆ

  • จีน

"จีนรู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่ทวีความตึงเครียดขึ้นระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล จีนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใจเย็นและใช้ความอดทนอดกลั้น ให้มีการหยุดยิงระหว่างกันทันที ปกป้องพลเรือน และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง" แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุ  

  • อินเดีย 

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี กล่าวว่า อินเดียขอยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอลในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ และรู้สึกตกใจอย่างยิ่งที่รู้ข่าวการก่อการร้ายในอิสราเอล 

  • ญี่ปุ่น 

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงประณามการยิงขีปนาวุธถล่มอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในปาเลสไตน์ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง 

  • บราซิล

ในฐานะประธานสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) บราซิลประกาศเรียกประชุมฉุกเฉินที่ยูเอ็นทันทีเพื่อหาทางยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น 

"รัฐบาลบราซิลขอประณามเหตุระเบิดและการโจมตีภาคพื้นดินที่เกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเริ่มมาจากฝ่ายในฉนวนกาซา" โฆษกกระทรวงต่างประเทศบราซิลแถลง พร้อมเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายหลีกเลี่ยงการทำให้สถานการณ์แย่ลง  

  • คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

15 ชาติสมาชิกได้เปิดการประชุมฉุกเฉินขึ้นในวันนี้ (8 ต.ค.) ในเวลา 15.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ราวตี 2 วันจันทร์ตามเวลาในไทย) เพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง รวมถึงตอบคำถามที่ฝ่ายปาเลสไตน์ร้องเรียนเข้ามา

  • องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO)

นาโต้กล่าวประณามเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยฮามาสที่โจมตีอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรของนาโต้

"เราขอส่งกำลังใจถึงเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด การก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามพื้นฐานของสังคมเสรี และอิสราเอลก็มีสิทธิที่จะปกป้องตนเอง" ดีแลน ไวท์ โฆษกของนาโต้กล่าว