เปิดกฎหมายจีน 'พกปืน - เยาวชนทำผิด - ป่วยทางจิตเวช' มีโทษอย่างไร?

เปิดกฎหมายจีน 'พกปืน - เยาวชนทำผิด - ป่วยทางจิตเวช' มีโทษอย่างไร?

อ้ายจงจะมาเปิด "กฎหมายจีน" ให้ได้ทราบกันว่า หากเยาวชนจีน "พกปืน - กระทำความผิด - ป่วยทางจิตเวช" มีโทษอย่างไร?

ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วยังคงทิ้งร่องรอยและประสบการณ์เอาไว้ สำหรับเหตุไม่คาดคิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร เชื่อเหลือเกินว่า เหตุการณ์นี้ทิ้งร่องรอยและประสบการณ์ที่หลายคนไม่มีวันลืม โดยเฉพาะคำถามที่ว่า "เราจะแก้ไขและป้องกันเหตุการณ์ไม่ให้เกิดทำนองเดียวกันขึ้นอีกในอนาคตอย่างไร?" โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเด็นเรื่องการพกพาปืน และบทลงโทษต่อผู้ก่อเหตุ ที่ในเหตุการณ์นี้เป็น "เยาวชน" และอาจจะมีประเด็นเรื่องอาการป่วยทางจิตเวชเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ยังมีคำถามตามมาอีกว่า และที่จีนเคยมีเหตุการณ์ที่คล้ายแบบนี้ไหม คือผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน อาจมีอาการทางจิตเวช และ ประเด็นการพกพาและก่อเหตุด้วยอาวุธปืน ดังนั้นอ้ายจงจึงขออธิบายแยกเป็นประเด็นต่างๆ 3 ประเด็น ดังนี้

1. ประเด็นเรื่องการพกพาปืนในจีน

ประเด็นการพกปืนและหาซื้อปืนได้ง่ายแม้แต่บนโลกออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการหาปืนปลอม หรือสิ่งเทียมปืนมาดัดแปลงจนใช้งานก่อเหตุได้จริง เป็นประเด็นถกกันอย่างมากในโลกออนไลน์จีน 

ทำไมคนจีนถึงให้ความสำคัญในประเด็นนี้มาก บ้านเขาไม่มีการพกปืนหรือ?

คำตอบคือ ที่จีนไม่มีเหมือนบ้านเราจริงๆ เขาจึงตกใจกันมาก และประเด็นการก่อเหตุด้วยปืน เนื่องจากการ พกปืน เป็นเรื่องปกติในประเทศเป็นสิ่งที่จีนและคนจีนใช้ในการต่อต้านอเมริกามาตลอดเหมือนกัน โดยมองว่า "สิ่งที่อเมริกาทำไม่ใช่ความเสรีที่ให้ประชาชนหรือพลเรือนครอบครองปืนได้ แต่สื่อถึงความไม่ปลอดภัย" ดังที่มีข่าวกราดยิงบ่อยๆ อันนี้คือในมุมของคนจีน

ดังนั้น พอเกิดเหตุ กราดยิง ขึ้นที่ไทย ประเทศที่ชาวจีนนิยมมาเที่ยว และหลายคนมองว่าไทยเป็นเมืองพุทธ มีความสงบและปลอดภัย แต่ไม่กี่ปีมานี้ไทยกลับมีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นบ่อย และล่าสุดถึงขั้นผู้ก่อเหตุเป็น "เยาวชนอายุ 14 ปี" และใช้สิ่งเทียมปืน หรือ Blank Gun ดัดแปลงก่อเหตุ ยิ่งทำให้เกิดกระแสวิจารณ์และตกใจยกระดับสูงขึ้นไปอีก

ตามกฎหมายของประเทศจีน ประกาศไว้ชัดเจนว่า เพื่อความเป็นระเบียบและปลอดภัยของประชาชนและสังคมจีน ป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดเหตุอาชญากรรมรุนแรง "คนทั่วไปจะไม่สามารถครอบครองปืนได้ ยกเว้นผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างเจ้าหน้าที่ทหาร" ถ้าประชาชนหรือพลเรือน หรือผู้ที่ไม่มีสิทธิครอบครองปืนได้ตาม กฎหมายจีน หากฝ่าฝืนครอบครอง จะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี และความผิดเรื่องปืนยังมีข้อกฎหมายเอาความผิดแก่ผู้ผลิตและผู้ขายด้วย

2. กฎหมายอาญาจีนระบุถึงผู้กระทำผิดที่เป็น "เยาวชน" อย่างไร?

ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 กฎหมายอาญาจีนมาตรา 17 กำหนดเพดานอายุต่ำสุดของเยาวชนที่จะรับโทษทางอาญาอยู่ที่อายุ 14 ปี แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่ก่อเหตุร้ายแรงจริงๆ เช่น ฆ่า ข่มขืน การกระทำที่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อผู้อื่น และกระทบต่อสังคมวงกว้าง แต่ถ้าเป็นคดีอาญาอื่นๆ อายุจะอยู่ที่ 16 ปีขึ้นไป โดยภาพรวมแม้เยาวชนจีนที่ถูกตัดสินให้มีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา แต่จะได้รับโทษที่เบากว่าบุคคลที่อายุ 18 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในจีนเกิดเหตุเยาวชนทำผิดร้ายแรงแต่ไม่ได้รับโทษตามที่ควร เพียงเพราะอายุต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ไม่น้อย อย่างกรณีที่เด็กจีนอายุ 13 ปี ฆ่าข่มขืนเด็กอายุ 10 ปี แต่ตอนนั้นกฎหมายอาญาจีน ยังมีอายุขั้นต่ำที่ 14 ปี ทำให้เด็กคนดังกล่าวไม่มีโทษทางอาญา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

จีน จึงเริ่มพิจารณาปรับแก้กฎหมายอาญามาตราที่ 17 ในเรื่องเพดานอายุขั้นต่ำของเยาวชนที่จะรับโทษทางอาญา โดยผ่านการทบทวนและอนุมัติให้แก้จากอายุ 14 ปี เป็น 12 ปี ในปลายปี 2563 และบังคับใช้  1 มีนาคม 2564 โดยระบุเอาไว้ว่า เยาวชนอายุ 12 ปี จะต้องรับโทษทางอาญา สำหรับกรณีการกระทำผิดร้ายแรง เช่น ฆาตกรรมโดยเจตนา ทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนา เพื่อทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือทำร้ายผู้อื่นอย่างสาหัสโดยการใช้วิธีโหดร้ายเป็นพิเศษ โดยทางสำนักอัยการสูงสุดของจีนจะเป็นผู้พิจารณาว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรงที่จะดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุที่เป็นเด็ก 12-14 ปี หรือไม่

สำหรับเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ การรับโทษทางอาญาตามเกณฑ์ข้างต้นที่กล่าวมา หากทำผิด จะมีโทษอย่างไร? 

ตามมาตรา 17 ของกฎหมายอาญาของสาธารณรัฐประชาชนจีน หากพวกเขาก่ออาชญากรรม ผู้นั้นจะไม่ถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญา แต่จะมีโทษทางปกครองและทางแพ่งสำหรับผู้ปกครอง และตัวผู้เยาว์เองอาจจะต้องเข้ารับการปรับพฤติกรรมและให้การศึกษาพิเศษตามระเบียบกฎหมายตามความจำเป็น

3. สำหรับผู้กระทำผิดที่ป่วยทางจิตเวช ตามกฎหมายจีนรับโทษอย่างไร?

ตามกฎหมายอาญาจีน มาตรา 18 ระบุไว้ว่า หากมีการยืนยันว่าเป็น "ผู้ป่วยทางจิตเวช" และก่อเหตุให้เกิดผลร้ายในขณะที่ไม่สามารถรับรู้หรือควบคุมการกระทำของตนเองได้ จะไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ปกครองจะได้รับคำสั่งให้เฝ้าดูและควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงจัดให้มีการรักษาพยาบาล ซึ่งหากจำเป็น ทางรัฐอาจบังคับให้ผู้นั้นเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ แต่ถ้าบุคคลใดก็ตามที่มีความเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งมีลักษณะ "เป็นระยะๆ" (คือมีระยะที่อยู่ในสภาพจิตใจปกติ) จะต้องรับผิดทางอาญา หลังจากได้รับการยืนยันแล้วว่าก่ออาชญากรรมในขณะที่อยู่ในสภาพจิตใจปกติ

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยทางจิตเวช "ยังไม่สูญเสียความสามารถในการรับรู้หรือควบคุมความประพฤติของตนเองจนหมดสิ้นนั้น" ได้ก่ออาชญากรรม ก็จะต้องรับผิดทางอาญา "แต่อาจได้รับโทษที่เบากว่าปกติ"

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่