นักวิทย์จีนแฉ! อินเดียจอดขั้วใต้ดวงจันทร์ไม่ได้อย่างที่คุย

นักวิทย์จีนแฉ! อินเดียจอดขั้วใต้ดวงจันทร์ไม่ได้อย่างที่คุย

ความเป็นอริของสองยักษ์เอเชียขยายวงไปสู่ห้วงอวกาศ เมื่อนักวิทยาศาสตร์เบอร์หนึ่งแดนมังกรอ้างว่า ยานสำรวจอินเดียไม่ได้ลงจอดใกล้ขั้วใต้ดวงจันทร์อย่างที่เป็นข่าว

เดือนก่อน อินเดียเป็นชาติแรกของโลกที่นำยานสำรวจจันทรายาน 3 ลงจอดใกล้ขั้วใต้ดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทุบสถิติจีนในการลงจอดส่วนใต้สุดของดวงจันทร์ นักวิทยาศาสตร์เบอร์หนึ่งของจีนก็ออกมาอ้างว่า อินเดียราคาคุย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน นายโอหยาง จื่อหยวน ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน เผยกับหนังสือพิมพ์ภาษาจีน “Science Times” ว่า จันทรายาน 3 จอดที่ละติจูด 69 องศาใต้ ซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงกับขั้วใต้ดวงจันทร์ ที่อยู่ระหว่าง 88.5 - 90 องศา

ถ้าเทียบกับโลก 69 องศาใต้อยู่ภายในวงแอนตาร์กติก (Antarctic Circle) แต่สำหรับดวงจันทร์องศานี้ใกล้ขั้วมากกว่าบนโลกมาก

“ผิดถนัด! จุดจอดของจันทรายาน-3 ไม่ใช่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ไม่ใช่เขตขั้วใต้ ไม่ใกล้กับเขตขั้วใต้ดวงจันทร์เลย” นักวิทยาศาสตร์ตัวพ่อของจีนอ้างและว่า จันทรายาน-3 จอดห่างจากพื้นที่ขั้วใต้ 619 กิโลเมตร

บลูมเบิร์กสอบถามไปที่สำนักงานอวกาศอินเดีย ยังไม่ได้คำตอบ

ก่อนหน้านั้นหลังจากจันทรายาน-3 ลงจอดบนดวงจันทร์ หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายงานอ้างคำพูดนายปัง จี้ห่าว นักวิทยาศาสตร์อวกาศอาวุโสในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า จีนมีเทคโนโลยีดีกว่ามาก โครงการอวกาศของจีน “มีศักยภาพส่งยานโคจร และยานจอดเข้าสู่วงโคจรโลก - ดวงจันทร์โดยตรงนับตั้งแต่ปล่อยยานฉางเอ๋อ-2 ในปี 2553 ผลงานที่อินเดียยังทำไม่ได้เนื่องจากขีดความสามารถในการปล่อยยานจำกัด เครื่องยนต์ที่จีนใช้ก็ก้าวหน้ามากกว่าด้วย”

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่าจันทรายาน-3ไปทางใต้ของดวงจันทร์ได้ไกลกว่ายานอื่นๆ มาก เดือนก่อนรัสเซียพยายามนำยานลงจอดที่ขั้วใต้ดวงจันทร์เช่นกัน แต่ตกกระแทกพื้นจอดไม่สำเร็จ

ทั้งนี้ ยานฉางเอ๋อ 4 ของจีน เป็นลำแรกที่ลงจอดในส่วนห่างไกลของดวงจันทร์เมื่อปี 2562 ที่ 45 องศาใต้ ก่อนหน้านั้นหลายปียานสำรวจไร้มนุษย์ Surveyor 7 ขององค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) เคยลงบนดวงจันทร์ที่ราว 41 องศาใต้ในปี 2511

การเข้าใกล้ขั้วใต้ดวงจันทร์ไม่ได้สำคัญแค่ใช้โอ้อวด เหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พื้นที่นี้อาจมีน้ำแข็งสำรองที่มีศักยภาพอยู่อาศัยได้ในระยะยาว

ทั้งสหรัฐ และจีนต่างหมายตาขั้วใต้ ด้วยการมีแผนส่งมนุษย์อวกาศไปดวงจันทร์ครั้งแรกนับตั้งแต่โครงการอพอลโลของนาซาสิ้นสุดลงเมื่อ 50 ปีก่อน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์