เงินเฟ้อเป็นเหตุ ยอดขาย"บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป"ทั่วโลกพุ่งทุบสถิติ

เงินเฟ้อเป็นเหตุ ยอดขาย"บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป"ทั่วโลกพุ่งทุบสถิติ

ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งทุบสถิติใหม่เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ปัจจัยเงินเฟ้อดันราคาอาหารแพง "ไทย" รั้งอันดับ 9 บริโภคมากที่สุดในโลก

เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียรายงานว่า ยอดความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกในปี 2565 ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นเกือบ 2.6% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า ขึ้นไปแตะสถิติสูงสุดครั้งใหม่ที่เกือบ 1.212 แสนล้านหน่วย (ซอง/ถ้วย) และนับเป็นการทำสถิติสูงสุดเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน   

สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (WINA) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ความต้องการบริโภคกึ่งฯ เคยขยายตัวถึง 9.5% ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 หนักที่สุด ทำให้มีการบริโภคและกักตุนอาหารแห้งจำนวนมาก ก่อนที่ยอดการบริโภคจะชะลอตัวลงมาเติบโตที่ 1.4% ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้กลับมาขยายตัวอีกครั้งในปีที่แล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ "เงินเฟ้อ" ที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหาร ทำให้คนจำนวนมากต้องหันมาพึ่งอาหารราคาถูกอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  

รายงานระบุว่า "เม็กซิโก" เป็นประเทศที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขยายตัวมากที่สุด โดยมีอัตราการเติบโตถึง 17.2% ในปี 2564 และยังคงขยายตัวได้เป็นเลขสองหลักที่ 11% ในปี 2565 ในทางตรงกันข้าม ตลาด "สหรัฐ" หดตัวลง 1.4% ในปี 2564 ก่อนจะฟื้นมาขยายตัวได้ 3.4% ในปีที่แล้ว 

เงินเฟ้อเป็นเหตุ ยอดขาย\"บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป\"ทั่วโลกพุ่งทุบสถิติ

ขณะที่ "ประเทศไทย" ยังคงรั้งในอันดับ 9 ประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งฯ มากที่สุดในโลก โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการบริโภคในปี 2564  และ 2565 เพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย จาก 3,630 ล้านหน่วย เพิ่มเป็น 3,870 ล้านหน่วย 

ทั้งนี้หากเทียบกับช่วง 5 ปีก่อน เมื่อปี 2561 การบริโภคของไทยอยู่ที่ประมาณ 3,460 ล้านหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยล้าน ต่างจาก 4 ประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดคือ จีน/ฮ่องกง อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย ที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันล้านหน่วยภายในช่วง 5 ปี โดยเฉพาะ "เวียดนาม" นั้นเพิ่มขึ้นมากถึงกว่า 3,000 ล้านหน่วย  


10 ประเทศบริโภค"บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป"มากที่สุดในปี 2565

  1. จีน/ฮ่องกง - 45,070 ล้าน    
  2. อินโดนีเซีย - 14,260 ล้าน  
  3. เวียดนาม - 8,480 ล้าน  
  4. อินเดีย - 7,580 ล้าน  
  5. ญี่ปุ่น - 5,980 ล้าน  
  6. สหรัฐ - 5,150 ล้าน    
  7. ฟิลิปปินส์ - 4,290 ล้าน    
  8. เกาหลีใต้ - 3,950 ล้าน    
  9. ไทย - 3,870 ล้าน    
  10. บราซิล - 2,830 ล้าน    

หน่วย: ซอง/ถ้วย
ที่มา: สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก

โดยปกติแล้วบะหมี่กึ่งฯ นับเป็นอาหารยอดนิยมที่พบเห็นได้ทั่วไปในเอเชีย หรือในประเทศที่มีวัฒนธรรมเอเชียแพร่หลาย แต่ความนิยมในบะหมี่กึ่งฯ เริ่ม ติบโตขึ้นในตลาดสหรัฐและเม็กซิโก ซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ 

"ผู้บริโภคชนชั้นกลางที่ไม่เคยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาก่อน ก็ลองหันมากินกันในชีวิตประจำวันกันมากขึ้นเพราะปัญหาเงินเฟ้อ" บริษัทนิชชิน ฟู้ดส์ ระบุ 

รายงานระบุว่า นิชชิน ฟู้ดส์ และโตโย ซุยซัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ 2 รายจากญี่ปุ่น ต่างรายงานผลกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นมากในผลประกอบการปี 2565 ที่ผ่านมา และมีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มในตลาดสหรัฐภายในปี 2568 เพื่อรองรับดีมานด์ที่ขยายตัวขึ้นทั้งในสหรัฐและเม็กซิโก 

ส่วนในญี่ปุ่นเองนั้นมีรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายแห่งได้ปรับราคาสินค้าขึ้นประมาณ 10% ในปีที่แล้ว และปรับราคาขึ้นต่อเนื่องอีกในปีนี้ ซึ่งการขึ้นราคาสินค้า 2 ปีติดต่อกันเช่นนี้เป็นเรื่องที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายอย่างมีนัยสำคัญมากนัก โดยรายงานระบุว่า นอกจากผู้บริโภคจะเลือกบะหมี่กึ่งฯ เพราะมีราคาถูกแล้ว ก็ยังเป็นเพราะความสะดวกที่ช่วยประหยัดเวลาได้ ขณะที่ฝั่งผู้ผลิตเองก็พยายามพัฒนาสินค้าให้มีสารอาหารและใช้วัตถุดิบที่ดีขึ้นด้วย