เสริมแกร่งโทรคมฯเอเชีย หมุดหมาย‘เทเลนอร์’ยุคดิจิทัล

เสริมแกร่งโทรคมฯเอเชีย  หมุดหมาย‘เทเลนอร์’ยุคดิจิทัล

เสริมแกร่งโทรคมฯเอเชีย หมุดหมาย‘เทเลนอร์’ยุคดิจิทัล โดยรายได้จากการดำเนินธุรกิจในเอเชียของเทเลนอร์เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 67,000 หมื่นล้านโครน หรือราว 2.08 แสนล้านบาท ในปี 2559

“ยอร์เกน รอสตรัป” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เทเลนอร์ เอเชีย ปรากฏตัวด้วยท่าทีสบายๆที่สำนักงานใหญ่ทรู คอร์พอเรชั่น อดีตคู่แข่งในอุตสาหกรรมเครือข่ายโทรคมนาคมในกรุงเทพ หลังจากโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)ธุรกิจของเทเลนอร์ในประเทศไทย ได้ควบรวมกิจการกับทรู คอร์เปอเรชันผ่านไปได้ 5 เดือน

การควบรวมกิจการต่าง ๆ ของเทเลนอร์ เกิดขึ้นหลังจากเกิดเทรนด์การควบรวมกิจการทั่วโลก เพราะแรงกดดันจากกระแสการลงทุนเครือข่าย 5G ที่มาแรง และการสร้างเศรษฐกิจดิิจิทัลที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล ซึ่งรายงานจากสมาคมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (จีเอสเอ็มเอ) เผยว่า ค่าใช้จ่ายเงินทุนในธุรกิจ 5G ประกอบไปด้วย เงินทุนด้านโทรคมนาคม 75% และอาจมีมูลค่ามากถึง 134,000 ล้านดอลลาร์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระหว่างปี 2565-2568

ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจของเทเลนอร์เปลี่ยนไป ตั้งแต่บุกตลาดเอเชียครั้งแรกเมื่อ 30 ปีก่อน โดยระยะแรกบริษัทใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ mass market ซึ่งเป็นวิธีที่ธุรกิจใช้ทรัพยากรจำนวนมากไปกับการขาย โดยจัดจำหน่ายสินค้าในราคาถูก เมื่อส่วนแบ่งตลาดมั่นคง ในระยะที่ 2 บริษัทจึงเริ่มแข่งขันด้านเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ และปัจจุบัน บริษัทพบว่าสามารถเจาะตลาดในบางประเทศได้มากกว่า 100% แล้ว โดยเฉพาะประเทศไทย
 

“ตอนนี้บริษัทของเราดำเนินธุรกิจในระยะที่ 3 เราอยู่ในสถานการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะมีเทคโนโลยีจำนวนมาก เข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นหมายความว่าจะมีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามาด้วย”

รายได้จากการดำเนินธุรกิจในเอเชียของเทเลนอร์เพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 67,000 หมื่นล้านโครน หรือราว 2.08 แสนล้านบาท ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่บริษัทดำเนินธุรกิจเต็มตัวในบังกลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย เมียนมา ปากีสถาน และไทย นอกจากนี้ การขายกิจการของเทเลนอร์ในอินเดียให้กับภารตี แอร์เทล ในปี 2560 ก็เป็นหนึ่งในการควบรวมกิจการครั้งใหญ่และครั้งแรกในยุค 5G

ไม่กี่ปีหลังเทเลนอร์ในอินเดียประสบภาวะขาดทุน บริษัทก็มีรายได้เข้ามาชดเชยจากตลาดเมียนมา โดยธุรกิจเทเลนอร์ทำกำไรได้ในปี 2558 และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานในปีแรกมากถึง 12 ล้านคน แต่แล้วธุรกิจในเมียนมาก็กลายเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายและยากลำบากมากที่สุดของรอสตรัป เมื่อได้รับสายช่วงเช้าวันที่ 1 ก.พ.ว่า ทหารเข้าไปในห้องดำเนินงานและศูนย์ข้อมูลของบริษัทเทเลนอร์ในเมียนมา ก่อนจะสั่งให้พนักงานปิดระบบเครือข่าย ขณะที่กองทัพทำรัฐประหาร

เสริมแกร่งโทรคมฯเอเชีย  หมุดหมาย‘เทเลนอร์’ยุคดิจิทัล

“ความปลอดภัยของผู้คน มาเป็นอันดับหนึ่ง นั่นเป็นนโยบายเรา ในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เราตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะการปฏิบัติของรัฐบาลขัดต่อค่านิยมของเรา ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และขัดต่อกฎหมายสากล เราจึงไม่สามารถอยู่ในเมียนมาได้” รอสตรัป กล่าว

จากนั้น 5 เดือนต่อมา เทเลนอร์ ก็ตัดสินใจขายกิจการในเมียนมาให้กับบริษัทเอ็ม1 กรุ๊ป และธุรกิจท้องถิ่น มูลค่า 105 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนขอใบอนุญาตประกอบกิจการในเมียนมา 500 ล้านดอลลาร์

ในปีเดียวกันนั้น เทเลนอร์ก็เริ่มพูดคุยเกี่ยวกับการควบรวมกิจการดีแทคเข้ากับบริษัททรู ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์  กรุ๊ป กลุ่มบริษัทใหญ่ที่สุดในไทยเป็นเจ้าของ

นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นว่า การควบรวมกิจการของดีแทคและทรู อาจทำให้ราคาสินค้าคงที่ และสามารถสร้างกำไรในระยะยาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการเติบโตที่ดีขึ้น โดยรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566

ทั้งนี้ บริษัทซีพีและเทเลนอร์ ควบรวมเป็นกิจการใหม่ภายใต้ชื่อบริษัททรู คอร์เปอเรชัน และถือหุ้นในกิจการใหม่เท่า ๆ กันที่ 30% โดยมีผู้ใช้งานลงทะเบียนรวม 55 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าบริษัทเอไอเอสที่มีผู้ใช้งานราว 40 กว่าล้านหมายเลข

ปัจจุบัน บังกลาเทศและปากีสถาน ยังคงเป็นตลาดที่เทเลนอร์บริหารจัดการธุรกิจโทรคมนาคมโดยตรง

“ชารัด เมห์โรทรา” อดีตซีอีโอดีแทค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททรูแห่งใหม่ ขณะที่รอสตรัปและคณะกรรมการเทเลนอร์อีก 2 คน ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารทรู คอร์เปอเรชัน นอกจากนี้ รอสตรัปยังดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารเซลคอม ดิจิ บริษัทโทรคมนาคมที่ก่อตั้งใหม่ เมื่อเดือน พ.ย. ปี 2565 หลังควบรวบกิจการดิจิของเทเลนอร์กับเซลคอม ธุรกิจของเอเซียทา บริษัทโทรคมนาคมของรัฐบาลมาเลเซีย

หากรอสตรัปออกจากการบริหารเทเลนอร์ในเอเชีย เพื่อไปเป็นผู้บริหารเทเลนอร์ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก วันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ความท้าทายของผู้รับตำแหน่งต่อจากเขา คือ การเตรียมความพร้อมด้านการแข่งขันทางอุตสาหกรรมและดิจิทัล ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงรักษาฐานเสียงในคณะกรรมการบริหารธุรกิจที่ควบรวมกิจการใหม่

“การแข่งขันระหว่างธุรกิจโทรคมนาคมในตลาดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และจำไว้ว่าในยุคดิจิทัล ตลาดโทรคมนาคมในเอเชียต่างแข่งขันกันเองด้วย”