เมื่อศัตรูกลายเป็นมิตร 'สหรัฐ'เลือก'เวียดนาม'ฐานผลิตแทนจีน

เมื่อศัตรูกลายเป็นมิตร 'สหรัฐ'เลือก'เวียดนาม'ฐานผลิตแทนจีน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ เสร็จสิ้นภารกิจการเยือนเวียดนาม เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้น ส่วนหนึ่งของความพยายามลดการพึ่งพาจีนซึ่งเวียดนามถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า อดีตคู่อริอย่างสหรัฐกับเวียดนามได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการมาเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” ความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์แต่มีความสำคัญยิ่ง ที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าจะผนึกความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองชาติ ในช่วงที่สหรัฐพยายามหาพันธมิตรในเอเชียมารับมือความตึงเครียดทางการเมืองกับจีน และพัฒนาความต้องการอันยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีหลัก อาทิ การผลิตชิป

บริษัทมากมายตั้งแต่แอ๊ปเปิ้ลไปจนถึงอินเทลพยายามเข้าไปในเวียดนามให้มากขึ้นเพื่อสร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชน เพิ่มศักยภาพให้กับโรงงานเวียดนามหลายแห่ง และช่วยสร้างพลังให้กับเศรษฐกิจเวียดนามที่เดินหน้าท้าทายเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

เมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ทำเนียบขาวประกาศ “ดีลประวัติศาสตร์” เวียดนามแอร์ไลน์ซื้อเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ จำนวน 50 ลำ มูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์คาดว่าดีลนี้จะช่วยสร้างงานในสหรัฐกว่า 30,000 อัตรา

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดการบินโตเร็วสุดแห่งหนึ่งของโลก และ 737 แม็กซ์เหมาะสมที่สุดสำหรับเวียดนามแอร์ไลน์ ในการตอบสนองความต้องการในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ” แบรด แมคมัลเลน รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดและการขายเชิงพาณิชย์ระบุในแถลงการณ์

ทำเนียบขาวระบุว่า การเยือนของไบเดนหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่อินเดีย เป็นการเยือนเวียดนามครั้งแรกของประธานาธิบดีสหรัฐนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยมาเมื่อปี 2562 ไบเดนได้พบกับเหวียน ฝูจ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำพรรคคนอื่นๆ เพื่อ “ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เน้นเทคโนโลยีของเวียดนาม” รวมถึงหารือหนทางยกระดับเสถียรภาพในภูมิภาค

เท็ด โอเซียส ประธานสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และอดีตทูตสหรัฐประจำเวียดนาม กล่าวกับซีเอ็นเอ็น

“ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างสองประเทศพุ่งขึ้นมากภายใต้ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนปี 2556 ดังนั้นการยกระดับความสัมพันธ์ก็แค่ต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว”

ข้อมูลจากรัฐบาล ปี 2565 สหรัฐนำเข้าสินค้าจากเวียดนามเกือบ 1.275 แสนล้านดอลลาร์ เทียบกับปี 2564 นำเข้า 1.019 แสนล้านดอลลาร์ และ 7.96 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563

ปี 2565 เวียดนามขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าใหญ่สุดอันดับ 8 ของสหรัฐ จากอันดับ 10 ในปี 2563

ย้ายซัพพลายเชน

ทั้งสองฝ่ายใกล้ชิดกันมากขึ้นเมื่อทางการสหรัฐ โดยเฉพาะเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงความสำคัญของการกระจายการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศที่ยึดถือปทัสถานและค่านิยมของระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคง (friend-shoring) หรือการย้ายซัพพลายเชนไปยังประเทศพันธมิตรเพื่อปกป้องภาคธุรกิจจากความแตกแยกทางการเมือง

“แทนที่จะพึ่งพาประเทศที่เรามีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์สูง คาดการณ์ซัพพลายไม่ได้ เราจำเป็นต้องกระจายกลุ่มซัพพลายเออร์ให้หลากหลาย” เยลเลนเคยกล่าวสุนทรพจน์ในงานของกลุ่มคลังสมอง “สภาแอตแลนติก” เมื่อปีก่อน

นับตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐ-จีน เริ่มขึ้นในปี 2561 ธุรกิจทุกขนาดเริ่มย้ายการผลิตไปยังตลาดเกิดใหม่ เช่น เวียดนามและอินเดีย ครั้นโควิด-19 ระบาด บริษัทต่างๆ ยิ่งจำเป็นต้องหากลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า “จีนบวกหนึ่ง” กระจายการผลิตไปยังหลายๆ ศูนย์กลาง ลดการพึ่งพาฐานการผลิตแห่งเดียว

การที่บริษัทแห่ย้ายฐานการผลิตสร้างความเสียหายให้จีนพอสมควร รายงานปี 2565 ของราโบแบงก์ประเมินว่า ตำแหน่งงานจีนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังชาติตะวันตกมีมากถึง 28 ล้านอัตรา งานเหล่านี้อาจถูกโยกย้ายไปที่อื่นผลจาก

friend-shoring ราว 300,000 อัตราที่เน้นการผลิตเทคโนโลยีไม่ซับซ้อนคาดว่าจะย้ายจากจีนมายังเวียดนาม

ไมเคิล เอเวอรี นักกลยุทธ์โลกผู้เขียนรายงานของราโบแบงก์ กล่าวว่าจากมุมมองด้านอุตสาหกรรม เวียดนามเติบโตรวดเร็วมาหลายปีแล้ว ค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำและประชากรหนุ่มสาวทำให้เวียดนามมีกำลังแรงงานแข็งแกร่งและเป็นฐานผู้บริโภค ช่วยหนุนการลงทุนในประเทศที่มีประชากร 97 ล้านคนนี้ แต่บริษัทที่หวังจะย้ายฐานอาจจะสายเกินไปแล้ว เมื่อโรงงานบางแห่งตึงตัวมากจนลูกค้าต้องคอย

เทคโนโลยีสำคัญ

ไม่นานหลังจากไบเดนมาถึงเวียดนามเมื่อวันอาทิตย์ ทำเนียบขาวก็ประกาศความเป็นพันธมิตรใหม่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ แถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐยอมรับศักยภาพของเวียดนามในการเล่นบทบาทสำคัญสร้างซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความยืดหยุ่น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กลายเป็นชนวนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน รัฐบาลปักกิ่งและวอชิงตันต่างแข่งกันเสริมศักยภาพด้านนี้ และต่างฝ่ายต่างควบคุมการส่งออกตั้งเป้าลดขีดความสามารถของอีกฝ่าย

โอเซียสกล่าวว่า สหรัฐต้องการพันธมิตรที่ไว้ใจได้จัดหาชิปให้ และเวียดนามสามารถทำสิ่งนั้นได้ อินเทลมองเห็นลู่ทาง บริษัทผลิตชิปที่มีฐานปฏิบัติการในแคลิฟอร์เนียประกาศตั้งโรงงานใหญ่ มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ชานเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งจะเป็นโรงงานประกอบและทดสอบในที่เดียวใหญ่สุดในโลกของอินเทลและเมื่อวอชิงตันกระชับสัมพันธ์กับฮานอยนักวิเคราะห์มองว่า การลงทุนในสาขานี้จะมีมากขึ้นอีก

“ความสำคัญของเวียดนามในซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์จะเพิ่มขึ้น” โอเซียสกล่าวพร้อมคาดการณ์ “เราจะได้เห็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก”