‘อุปทูตอียู’ แนะทาง ยุโรป - เอเชีย เลี่ยงเสี่ยงโลกร้อน ภัยร้ายห่วงโซ่อุปทาน

‘อุปทูตอียู’ แนะทาง ยุโรป - เอเชีย เลี่ยงเสี่ยงโลกร้อน ภัยร้ายห่วงโซ่อุปทาน

“อุปทูตอียู” เปิดรายงานชี้ ซัมเมอร์ปีนี้ ทั่วโลกเผชิญภาวะโลกร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แนะทางเลี่ยงกระทบธุรกิจและอุตสาหกรรมเสียหาย

“ซาร่า เรโซอาลญิ” อุปทูตรักษาการ คณะผู้แทนยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “ ‘Road to Net Zero: Business Opportunities and Challenges’  จัดขึ้นโดยฐานเศรษฐกิจ วันนี้ว่า  ในรายงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ล่าสุดชี้ภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรง เพราะขณะนี้โลกมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญย้ำถึงโอกาสสุดท้ายจำกัดภาวะโลกร้อนให้เหลือตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส หากปล่อยเกินไปกว่านั้น จะสร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากา จนแก้ไขไม่ได้

ถ้าหากเกินกว่าเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส ซึ่งอุณหภูมิสูงสุดที่ 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้โลกร้อนเกินขีดจำกัด ไม่อาจยอมรับได้ ส่งผลต่อหายนะตามมา รวมทั้งคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น พายุ ไฟป่า และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

“ในฤดูร้อนนี้ ภูมิภาคต่างๆทั่วโลก กำลังเผชิญสภาพอากาศเลวร้าย” อุปทูตอียูอ้างข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และเสริมว่า โครงการสังเกตการณ์โลกโคเปอร์นิคัสของอียู ยังชี้ว่า เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดนับตั้งอุตุนิยมวิทยาบันทึกสถิติเป็นต้นมา 

เมื่ออุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่  1 ใน 3 กว่าระดับสถิติก่อนหน้าในปี 2562 อย่างจะเห็นไฟป่าในยุโรป สร้างความเสียหายร้ายแรงในกรีซและอิตาลี อีกทั้งสร้างสถิติไฟป่าเผาทำลายกินพื้นที่เกือบ 1.25 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้น 40% ของช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

กลับมาดูในเอเชีย พิบัติภัยทางธรรมชาติและภัยแล้งที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำและไฟฟ้า สร้างภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงกลุ่มคนเปราะบาง (คนชราและเด็ก) 

ภาวะโลกร้อนนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมอาจได้รับความเสียหายที่รุนแรง และกระจายต่อไปยังภาคธุรกิจและอุสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นฐานสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน 

สำหรับอียู มีบทบาทสำคัญในอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อยกระดับการรับมือภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

ในการประชุม COP28 จะมีขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ในฐานะเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. ซึ่งอียูจะสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อคำมั่นสัญญาที่มีการเปลี่ยนแปลงพลังงานทั่วโลก สอดคล้องกับเป้าหมาย 3 ประการที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ 

1.การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปัจจุบันไปถึงปี 2573 

2.ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานให้เพิ่มขึ้น 2 เท่าต่อปีในทศวรรษนี้

3.ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังไม่ลดลง โดยจะหยุดใช้โดยสิ้นเชิงในปี 2593 

อุปทูตอียู กล่าวย้ำว่า เป้าหมายนี้ สอดคล้องกับการที่สหภาพยุโรปมุ่งมั่นดำเนินการสู่เน็ตซีโร่ ภายใต้ข้อตกลงปารีส และ European Green Deal โดยมุ่งมั่นสูงสุดให้ในปี 2593 เป็นภูมิภาคที่เป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ