'จีน-สหรัฐ' สายสัมพันธ์ทางการค้าท่ามกลางข้อพิพาท 'ตัดยังไงก็ไม่ขาด'

'จีน-สหรัฐ' สายสัมพันธ์ทางการค้าท่ามกลางข้อพิพาท 'ตัดยังไงก็ไม่ขาด'

"จีน-สหรัฐ" สายสัมพันธ์การค้า ท่ามกลางข้อพิพาทยืดเยื้อ อ้ายจงจะมาวิเคราะห์เรื่องราวของสองประเทศนี้ว่าทำไมถึง "ตัดยังไงก็ไม่ขาด"

ประเด็นข้อพิพาทระหว่าง "จีน และ สหรัฐอเมริกา" ไม่ว่าจะทั้งด้านการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ และการค้า อย่างการตั้งกำแพงทางภาษี และการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากจีนของทางฝั่งอเมริกา ที่มีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จวบจนถึงวาระของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ณ ปัจจุบัน ยังคงเป็นที่กล่าวถึงอยู่ตลอด 

โดยเฉพาะเวลามีเหตุการณ์สำคัญ ทั้งการออกนโยบายและมาตรการใหม่ของสหรัฐอเมริกา การกล่าวความคิดเห็นของประเทศหนึ่งถึงอีกประเทศ ทั้งในเรื่องของสองประเทศเองและเรื่องระดับโลก พาให้เกิดการวิเคราะห์ไปมากมายว่า เรื่องราวของ "จีน-สหรัฐ" จะเป็นอย่างไร บ้างก็ไปถึงขั้นว่า อาจมีสงครามก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นพิพาทหนักๆ เกิดขึ้นมา อย่างต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ก็มีประเด็นบอลลูนจีนไปลอยเหนือน่านฟ้าสหรัฐ คิดว่าหลายคนยังคงจำได้ "อ้ายจง" เองเวลาเขียนบทความ ให้สัมภาษณ์ หรือบรรยายที่ไหน มักจะได้รับคำถามประเด็นข้างต้นเช่นกัน

โดย "อ้ายจง" ย้ำไปทุกครั้งว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา เป็นลักษณะของการขึ้นลงตามแต่ละสถานการณ์ ซึ่งทั้งสองประเทศต้องแสดงจุดยืนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน และในฐานะประเทศมหาอำนาจโลก คานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ยังคงไว้ซึ่งการเชื่อมโยงที่ซับซ้อน และยังไม่สามารถแยกได้ในตอนนี้ โดยเฉพาะในประเด็นการค้าและเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่แค่ของทั้งคู่ แต่ส่งผลต่อทั่วโลก"

ทำไมอ้ายจงถึงวิเคราะห์เช่นนั้น? 

หากเราดูการตอบโต้ของทางจีน มักจะเน้นถึงหนึ่งในพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง "จีน-สหรัฐ" คือการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งยังย้ำเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน และส่งผลไปถึงประชาคมโลกอีกด้วย พร้อมกระตุ้นถึงอเมริกาทุกครั้งว่า "หันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน แทนที่จะแยกกัน เคารพความแตกต่างของกันและกัน ที่สำคัญคือไม่ก้าวข้ามประเด็นละเอียดอ่อนและข้อกังวลของประเทศนั้น โดยสำหรับจีนยกประเด็นจีนเดียวและไต้หวัน เป็นเส้นแดงที่สหรัฐห้ามก้าวข้าม"

โดยทาง "จีน" ชูจุดยืนของการต่อต้านการแบ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อแนวคิด "พหุภาคีนิยม (Multilateralism)" เราจึงได้เห็นจีนผลักดันความร่วมมือกับหลากหลายประเทศ ผ่านกลไกนโยบายของจีนเอง และการรวมกลุ่มทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ที่เห็นเด่นชัดตอนนี้ก็ BRICS ที่มีการร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ เป็นแกนหลักของการรวมกลุ่ม แต่แน่นอนว่าความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศ ย่อมเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ ชี้ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า คือการสร้างและรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุดเท่าที่กระทำได้ ภายใต้การเจรจาต่อรอง และส่งผลซึ่งกันและกันกับเรื่องความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศ

โดยข้อมูลของทาง "กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา" ระบุว่า การนำเข้าสินค้าจาก "จีน" เข้าไปใน "สหรัฐอเมริกา" มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (2566) โดยลดมาถึง 25% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (2565) และว่ากันตามตรง นับตั้งแต่ปริมาณการนำเข้าจากจีนไปยังสหรัฐพุ่งถึงจุดสูงสุดเมื่อปี 2560 คือคิดเป็นปริมาณ 21.6% ของการนำเข้าสินค้าเข้าสหรัฐทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาการนำเข้าจากจีนของสหรัฐ อยู่ในแนวโน้ม "ลดลง"

ข้อมูลสถิติข้างต้น เป็นหลักฐานอย่างดีถึงผลกระทบต่อการจำกัดทางการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีน ในอีกมุมหนึ่งแม้สัดส่วนการนำเข้าจาก จีน ไปยัง สหรัฐ จะมีปริมาณลดลง แต่ปี 2565 ที่ผ่านมา นับเป็นปีของมูลค่าการค้าทวิภาคีของสองประเทศนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยอยู่ที่ราวเกือบ 7 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าการนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเกิน 5 แสนล้านดอลลาร์ อาจมองในประเด็นเงินเฟ้อ แต่ภายใต้ข้อพิพาทและข้อจำกัดทางการค้าที่ยังคงสูงตระหง่านดังกำแพงภาษีที่ยังมีอยู่ เราไม่อาจปฏิเสธถึงความสัมพันธ์ทางการค้า ที่ทั้งสองประเทศต่างตระหนักดีว่า "ยังคงสำคัญ" และไม่อาจแยกได้ในเวลานี้จริงๆ

รายงานการศึกษาในประเด็นการค้า "จีน-สหรัฐ" ภายใต้ข้อพิพาทและการจำกัดการนำเข้าสินค้าจีนโดยรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจัดทำโดยของ Laura Alfaro จาก Harvard Business School และ Davin Chor จาก Tuck School of Business ที่ Dartmouth College เมื่อเร็วๆ นี้ ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า "การวิเคราะห์ข้างต้นมีมูล"

รายงานชี้ว่า การนำเข้าสินค้าโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา จากจีนลดลง โดยหันไปนำเข้าจากเวียดนามและเม็กซิโกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทจีนดูเหมือนจะหาวิธีแก้ไขผลกระทบ ด้วยการเพิ่มส่งออกและลงทุนไปยัง "เวียดนาม" และ "เม็กซิโก" เพื่อส่งออกไปในลักษณะของผ่านประเทศที่สาม 

"มาเลเซีย" เป็นอีกหนึ่งประเทศในฝั่งอาเซียน ที่มีอัตราส่วนแบ่งแหล่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐ ที่ยังอยู่ในโซนบวก ไม่อยู่ในโซนลดลงเหมือนจีน ซึ่งก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอาเซียน และเป็นเหตุผลหนึ่งที่จีนนั้นให้ความสำคัญกับการค้าอาเซียน และลงทุนโดยตรง หรือ FDI ในประเทศเหล่านี้ รวมทั้งประเทศไทยเราเองด้วย

กล่าวคือแม้ว่า สหรัฐอเมริกา จะจัดสรรการนำเข้าใหม่ไปยังเวียดนามและเม็กซิโก แต่โดยพฤตินัยแล้วก็ยังคงเชื่อมโยงและพึ่งพา จีน ผ่านประเทศที่สามเหล่านี้ อย่างเช่น ผ่านเวียดนามและเม็กซิโก เพราะทางผู้ประกอบการของทั้งสอง ไม่ยอมที่จะเสียผลประโยชน์ หากย้อนไปสมัยสงครามการค้าจีนสหรัฐรุนแรงใหม่ๆ ทางสื่อจีนตีแผ่สกู๊ป เสียงจากผู้ประกอบการสหรัฐในการเรียกร้องให้ทางรัฐบาลสหรัฐผ่อนปรนข้อจำกัด เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อการค้าของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม อ้ายจงขอให้ทุกคนจับตามองสถานการณ์ระหว่าง จีน-สหรัฐ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐเสร็จสิ้นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 27 - 30 สิงหาคม 2566 ที่ทางจีนเน้นย้ำผ่านรัฐมนตรีพาณิชย์ไปยัง "โจ ไบเดน" ให้หันมาร่วมมือทางการค้ากันอย่างแท้จริง พร้อมยกเหตุผล "หากนำการเมืองเข้ามาในการค้าและเศรษฐกิจมากจนเกินไป มีแต่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์สองประเทศ และส่งผลกระทบเชิงลบไปยังเศรษฐกิจโลกอีกด้วย"