‘ทูตจีน’ พบ ‘เศรษฐา’ แล้ว ‘ทูตสหรัฐ’ อยู่ไหน

‘ทูตจีน’ พบ ‘เศรษฐา’ แล้ว ‘ทูตสหรัฐ’ อยู่ไหน

มองในแง่ชิงไหวชิงพริบทางการทูตระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ต้องติดตามแบบช็อตต่อช็อต เพราะอาจล่วงรู้ความหมายซ้อนอยู่ในซีนว่า “สหรัฐ และจีน” มอง “ไทย” อยู่ตำแหน่งไหน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทีมผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจเกาะติดท่าทีประเทศชั้นนำของโลก  ต่อการที่นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 ซึ่งตลอดทั้งวัน มีเอกอัครราชทูตสหรัฐ อังกฤษ สหภาพยุโรป (อียู) และอีกหลายประเทศ ร่อนส่งหนังสือแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีไทยคนใหม่แบบทันควัน 

ถ้าติดตามทางโซเชียลมีเดีย ขาดแต่จะเห็นนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเท่านั้น ทั้งที่ไม่มีใครรู้ว่าทั้งสองอาจติดต่อผ่านตามโปรโตคอลแล้ว

ต่อมาวันที่ 24 ส.ค.2566 ได้เริ่มมีสารยินดีทางการทูตในระดับสูงขึ้น ตามที่เห็นว่า มีสารจากนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และสารจากนายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แสดงความยินดีนายเศรษฐา ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย

ถัดมาอีกสองวันได้เกิดกระแสเกรียวกราว เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน  ใจตรงกันกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง พร้อมๆ กับผู้นำสิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา ลาว และอีกหลายประเทศทยอยส่งสารยินดีกันเข้ามาแบบล้นหลาม 

 

ทั้งหมดนี้ เป็นสารแสดงความยินดีทั้งสิ้น แต่ยังไม่ใช่การพบปะแบบเจอตัว (Physical meeting)

แต่ถ้าเรื่องใจถึงใจ ตามวลีโปรดที่ทางการจีนป้อนคำหวานกับประเทศพันธมิตรบ่อยๆ ก็คงได้เห็นในคราวนี้

หลายคนมองทูตจีนมาล่ากว่าใครเพื่อน บางคนบอกแม้ออกตัวช้าแต่ชัวร์ เพราะเป็นการพบปะเจอตัวกันครั้งแรก และก่อนเพื่อนเอกอัครราชทูตคนไหนๆ

เมื่อทูตหาน ยกทัพนักการทูตคณะใหญ่เข้าพบ และแสดงความยินดีกับนายเศรษฐาถึงที่ ทั้งอาจเพราะได้ไฟเขียวจากรัฐบาลปักกิ่ง จึงสามารถกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีไทยคนใหม่เยือนจีนอย่างเต็มปากเต็มคำ หวังกระชับสัมพันธ์ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตามหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย - จีน 

งานนี้ ทูตสหรัฐเสียคมการทูตแล้วหรือไม่ คงต้องรอดูตอนต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์