‘ทางการ-พลเมือง’ฮ่องกงเห็นต่าง น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีฟูกุชิมะ

‘ทางการ-พลเมือง’ฮ่องกงเห็นต่าง น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีฟูกุชิมะ

ชาวฮ่องกงจำนวนมากยอมต่อคิวคิวยาวเหยียดตามร้านซูชิ ไม่กังวลเรื่องที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

 น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น จีน ฮ่องกงและเกาหลีใต้ ล่าสุด ทางการฮ่องกงกำลังพิจารณาที่จะออกใบรับรองด้านความปลอดภัยด้านอาหารแก่บรรดาร้านอาหาร ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนของทางการญี่ปุ่นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะจะไม่ปลอดภัยต่อสัตว์ในทะเล และท้ายที่สุดจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคด้วย

ทั้งนี้ ทางการฮ่องกงจะทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมให้บริการจัดเลี้ยงเพื่อออกใบรับรองแก่บรรดาภัตตาคารและร้านอาหารที่ให้บริการเมนูต่างๆที่ทำจากอาหารทะเล เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทร

เมื่อวันพุธ(23ส.ค.)ที่ผ่านมา บรรดาตัวแทนในภาคอุตสาหกรรม เรียกร้องให้มีการให้ความรู้ที่ชัดเจนในเรื่องนี้แก่สาธารณชนมากกว่านี้ ขณะที่ไซ่ ชิน-วาน เลขาธิการสำนักงานด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาของฮ่องกง ระบุว่า ทางการฮ่องกงจะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อออกใบรับรองด้านความปลอดภัยอาหาร พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในฮ่องกงว่า อาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นมีความปลอดภัยเพียงพอเพราะผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานของภาครัฐอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันพฤหัสบดี(24ส.ค.)

ส่วนบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี หรือ เทปโก (เทปโก) พาสื่อมวลชนเข้าชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในวันอาทิตย์ (27 ส.ค.) โดยเข้าไปดูการทำงานภายในห้องควบคุมอุปกรณ์การปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีผ่านการบำบัด ที่บรรจุในถังขนาดใหญ่
 

เทปโก ระบุว่า นับจนถึงเวลา 17.00 น. ของวันอาทิตย์ มีการปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิกรวม 1,420 ตันแล้ว โดยบริษัทเริ่มระบายน้ำผ่านอุโมงค์ใต้ทะเลตั้งแต่วันพฤหัสบดี และยืนยันว่า อุปกรณ์การปล่อยน้ำทำงานได้อย่างปกติ และผลการตรวจตัวอย่างน้ำทะเลยังไม่พบความผิดปกติของระดับสารกัมมันตรังสีในน้ำ

น้ำที่ใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงหลังวิกฤตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายในปี 2554 ถูกเจือจางด้วยน้ำฝนและน้ำบาดาล และถูกเก็บในถังขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 ถัง รวมปริมาณมากถึง 1.34 ล้านตัน และคาดว่า การปล่อยน้ำทั้งหมดลงทะเลอาจใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี

น้ำดังกล่าวผ่านการบำบัดจนกำจัดสารกัมมันตรังสีได้เกือบหมดแล้ว ยกเว้น ทริเทียม และก่อนการปล่อยน้ำลงทะเล มีการเจือจางให้ระดับทริเทียมเหลือเพียงเกือบ 1 ใน 7 ของปริมาณทริเทียมระดับปลอดภัยที่พบน้ำดื่มตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก

นอกจากนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันอาทิตย์เกี่ยวกับผลการสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำทะเลว่า ปริมาณทริเทียมที่พบอยู่ในระดับที่ต่ำจนไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
 

 กระทรวงฯ ได้เก็บตัวอย่างน้ำจาก 11 จุดห่างจากโรงไฟฟ้าราว 40 กม. เมื่อวันศุกร์ และพบระดับทริเทียมในทั้ง 11 จุด ไม่ถึง 10 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งเป็นขั้นต่ำที่สามารถตรวจวัดได้ ขณะที่ผลการตรวจสอบก่อนการปล่อยน้ำผ่านการบำบัดลงทะเล ตัวอย่างน้ำมีระดับทริเทียมสูงสุดที่ 0.14 เบ็กเคอเรลต่อลิตร และจะมีการตรวจวิเคราะห์ที่ละเอียดมากกว่านี้ต่อไป นอกจากนี้กระทรวงฯ มีแผนรายงานผลการตรวจสอบตัวอย่างน้ำทุกสัปดาห์

ขณะที่สำนักงานการประมงของญี่ปุ่น ได้จับปลาในบริเวณดังกล่าวมาตรวจสอบด้วย และพบทริเทียมในระดับต่ำเกินกว่าจะตรวจวัดได้

แต่ฮิโรคาสุ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุวานนี้ (28 ส.ค.) ว่า ญี่ปุ่นรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อกรณีที่ชาวจีนโทรศัพท์คุกคามชาวญี่ปุ่นนับครั้งไม่ถ้วน หลังจากญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลในวันพฤหัสบดี

“ชาวญี่ปุ่นได้รับโทรศัพท์คุกคามจากจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งและทำให้เรารู้สึกวิตกกังวล” มัตสึโนะกล่าว

ญี่ปุ่นได้ร้องเรียนต่อรัฐบาลจีน หลังกลุ่มธุรกิจและสถาบันต่าง ๆ ได้รับโทรศัพท์คุกคามเป็นจำนวนมากจากกรณีที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยโทรศัพท์เหล่านี้มาจากหมายเลขที่ใช้รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศของจีน โดยเชนร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุชิมะได้รับโทรศัพท์ดังกล่าวมากกว่า 1,000 สาย

กรณีชาวจีนแห่โทรศัพท์คุกคามชาวญี่ปุ่นนี้มีขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นออกมาระบุเมื่อวันอาทิตย์ว่า ไม่พบสารกัมมันตรังสีในการทดสอบน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ท่ามกลางการประกาศแบนอาหารทะเลจากรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลจีน ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนชาวฮ่องกงกลับเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยชาวฮ่องกงจำนวนมากยอมต่อคิวคิวยาวตามร้านซูชิ ไม่กังวลเรื่องที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ชาวฮ่องกงหลายคน บอกว่า พวกเขาจะยังเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นต่อไป เช่น ร้านซูชิสายพาน ซูชิโร สาขาซึงหว่าน ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางทางการเงินแห่งเอเชีย มีลูกค้ามากกว่า 20 คน ไปเข้าคิวรอเวลาเปิดร้าน 10.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ยังมีอีกหลายสิบคนที่ได้เข้าไปในเวลา 12.00 น. หลังยืนรอนาน 1 ชั่วโมง

ขณะที่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ พบว่า ปลาดิบหรือซาชิมิ กับอาหารทะเลอื่น ๆ ถูกติดสลากบอกแหล่งที่มา และพบว่าอาหารทะเลหลายรายการ ถูกนำเข้าจากอาร์เจนตินา, แคนาดา และนอร์เวย์ ส่วนในร้านขายสินค้าสารพัดชนิดสัญชาติญี่ปุ่น อย่าง Don Don Donki พบว่า มีการติดป้ายถาดใส่ซูชิไว้ว่า ส่งตรงจากตลาดโตโยสุในกรุงโตเกียว ส่วนอีกหลายถาดติดป้ายลดราคา