70 ปีหลังสงคราม กับความเจริญ ‘เกาหลีใต้’ (จบ) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

70 ปีหลังสงคราม กับความเจริญ ‘เกาหลีใต้’ (จบ) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

การประชุมไตรภาคีของผู้นำสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

การประชุมไตรภาคีของผู้นำสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ทั่วโลกต่างทราบว่าสหรัฐนั้นมีความใกล้ชิดเป็นพันธมิตรที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ความบาดหมางตั้งแต่อดีตของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นก็ยากที่จะลืมเลือน และรอยร้าวแห่งการกระทำของจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อประชาชนเกาหลีนั้นก็ยังสร้างความเจ็บปวดแก่คนเกาหลีมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น การหันหน้าเข้าหากันของสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 (ญี่ปุ่น) และอันดับ 4 (เกาหลีใต้) ของเอเชีย โดยมีพี่ใหญ่สหรัฐหนุนหลังเพื่อทัดทานอิทธิพลที่แผ่ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ของจีนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 1 ของเอเชียนั้น ตามที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นนั้นจึงควรค่าแก่การศึกษาวิเคราะห์

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนค้างไว้ถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้นั้นพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วจนสำเร็จกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม และถือได้ว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้วอันดับต้น ๆ ของเอเชีย เกาหลีใต้เคยผ่านมาทั้งการปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร หรือแม้กระทั่งสงครามเต็มรูปแบบในฐานะตัวแทนของฝ่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ที่เพิ่งฉลองครบรอบการสิ้นสุดสงครามเกาหลีเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

หนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือ การเลือกอุดหนุนอุตสาหกรรมจำเพาะบางประเภทอาทิ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์

สอง คือ การส่งออกทางวัฒนธรรม โดยมีธุรกิจบันเทิงเป็นเรือธง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญที่เป็นต้นน้ำของอีกหลายธุรกิจทั้งในกลุ่ม Soft power อาทิ การท่องเที่ยว อาหาร ซึ่งการส่งออกทางวัฒนธรรมนี้ยังเป็นต้นน้ำเอื้อผลประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ อีก อาทิ กลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง กลุ่มธุรกิจแฟชั่น กลุ่มธุรกิจการแพทย์ศัลยกรรมและการดูแลผิวพรรณชะลอวัย

ภายในระยะเวลาเพียง 20 ปี เกาหลีใต้ที่เคยพึ่งพิงอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักและอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาพึ่งพิงรายได้จากการกลุ่มธุรกิจบันเทิง จนกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญที่สุดที่ทำรายได้อย่างมหาศาลแก่เกาหลี และเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาหลีจำต้องพัฒนาเพิ่มรายได้จากช่องทางนี้ก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ขณะที่ไทยเราพัฒนาความสามารถและสร้างภาพลักษณ์ของประเทศจนกลายเป็นประเทศที่คนทั่วโลกอยากมาเที่ยวอันดับหนึ่ง จากโครงการ Amazing Thailand เกาหลีก็มีโครงการ Hallyu Industry Support Development ที่เน้นการขายความเป็นเกาหลี รัฐและเอกชนร่วมมือร่วมใจพัฒนาโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจนดันให้ภาพลักษณ์เกาหลีนั้นมีขึ้นในสายตาชาวโลก ผ่านทางภาพยนตร์ ซีรีส์ และเพลง

และหนึ่งในเหตุผลที่ภาพยนตร์ ละคร และเพลงเกาหลีนั้นได้รับความนิยมนอกเหนือจากหน้าตาของพระเอกนางเอก นักร้อง นั่นก็คือเนื้อหาที่สะท้อนโลกปัจจุบัน ไม่จมปักอยู่กับความรุ่งเรืองในอดีต จะสังเกตได้ว่าเพลงเกาหลีนั้นมีความโมเดิร์นและทำนองที่แปลกใหม่ เสมอเหมือนหรือแซงหน้าเพลงของค่ายทางตะวันตก

ขณะที่เนื้อหาของภาพยนตร์หรือละคร ไม่เพียงแต่โดนใจคนดู แต่ยังพร้อมไปด้วยเทคนิคภาพหรือกราฟฟิคที่เยี่ยมยอด และที่สำคัญที่สุดคือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อาทิ Squid Game หรือ ภาพยนตร์ซอมบี้เกาหลีย้อนยุคอย่าง Kingdom เป็นต้น

ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิง และการส่งออกทางวัฒนธรรมของไทยเรา