ประมาททิ่มแทงหัวใจ | วรากรณ์ สามโกเศศ

ประมาททิ่มแทงหัวใจ | วรากรณ์ สามโกเศศ

ชะตาชีวิตมนุษย์นั้นอาจแปรผันได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ระมัดระวังให้ดีในการดำเนินชีวิต แต่สำหรับบางคนนั้นชีวิตถูก “เล่นกล” ตั้งแต่แรกเกิดอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ และกว่าจะรู้ตัวเวลาก็ผ่านไปเกือบ 70 ปีแล้ว เหตุการณ์ทิ่มแทงหัวใจนี้เกิดในแคนาดา

หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลก The New York Times พาดหัวตัวโตเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ชายวัย 67 ปีสองคนพบว่าตนเองมิใช่คนที่เคยคิดว่าตัวเองเป็น เรื่องก็คือหลังจากตรวจดีเอ็นเอแล้วก็พบว่า เมื่อตอนคลอดในเวลาใกล้กัน แต่ละคนกลับบ้านไปกับครอบครัวที่ไม่ใช่พ่อแม่ของตน

Richard Beauvai เติบโตตลอดเวลา 65 ปีอย่างภาคภูมิใจในการมีเชื้อสายของคนพื้นเมืองของแคนาดา (คนไทยเรียกว่า “อินเดียนแดง” ฝรั่งเรียกว่า Indigenous Tribes) เผ่า Métis ผสมกับคนฝรั่งเศสเมื่อสองปีก่อน

ลูกสาวซึ่งสนใจการเป็นอินเดียนขอให้พ่อตรวจดีเอ็นเอชนิดตรวจเองที่บ้าน เพื่อเข้าใจความเป็นมาของรากเหง้า ก็พบว่าเขาไม่มีเชื้อสาย Métis ดังที่เข้าใจ หากมีเชื้อสายปนเประหว่างยูเครนกับยิวโปแลนด์ Richard รู้สึกขบขันและมั่นใจว่าผิดพลาดอย่างไม่สนใจวิทยาศาสตร์

ประมาททิ่มแทงหัวใจ | วรากรณ์ สามโกเศศ

ในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐและแคนาดา มีอยู่คำหนึ่งที่สร้างความสับสน นั่นก็คือคำว่า Indians เพราะหมายถึงคนอินเดีย หรือคนพื้นเมืองที่ไทยเรียกว่า “อินเดียนแดง” เหตุที่ฝรั่งเรียกคนพื้นเมืองว่า Indians ก็เพราะตอนที่ Christopher Columbus เดินทางไปถึงดินแดนอเมริกาเมื่อ 500 กว่าปีก่อนนั้น เขาเข้าใจผิดว่าเป็นทวีปอินเดีย จึงเรียกคนพื้นเมืองที่พบว่า Indians

ในดินแดนของแคนาดาเคยมีคนพื้นเมืองอยู่กว่า 500 เผ่า ในดินแดนสหรัฐมีอยู่กว่า 600 เผ่า Métis เป็นเผ่าใหญ่ ซึ่งมีวัฒนธรรมและภาษาพูดของตนเอง เมื่อศตวรรษที่ 18 เป็นนักล่าสัตว์เพื่อค้าขนสัตว์ที่เก่งกาจมาก ในเวลาต่อมาคนเผ่านี้ผสมกลมกลืนกับคนยุโรปมาก โดยเฉพาะคนฝรั่งเศสและคนสกอต

ในเวลาใกล้กันนั้น ไกลออกไปจากเมือง Winnipeg ที่ Richard อยู่ มีชายคนหนึ่งในรัฐ Manitoba อายุเท่ากันชื่อ Eddy Ambrose ที่ตรวจดีเอ็นเอแล้วพบว่าตนเองมีเชื้อสาย Métis กับฝรั่งเศส ถึงแม้จะเติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมของยูเครนอย่างเข้มข้นมาตลอดชีวิตก็ตาม 

การมีธนาคารดีเอ็นเอของแคนาดา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างสองครอบครัว และพบว่าได้เกิดความผิดพลาดหลังจากแม่ของทั้งสองคลอดลูกในเวลาใกล้กันที่โรงพยาบาลเล็กๆ ในเมือง Arborg ของรัฐ Manitoba และแต่ละฝ่ายนำลูกของอีกครอบครัวไปเลี้ยง

ประมาททิ่มแทงหัวใจ | วรากรณ์ สามโกเศศ

Richard ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นลูกหลานยูเครน โชคร้ายกว่ามากเพราะการเติบโตในฐานะอินเดียนในสมัยนั้นลำบากมาก ถูกแย่งชิงที่ดิน ถูกกีดกัน ถูกเอาเปรียบสารพัด และรัฐบาลมีนโยบายอย่างที่ทำกันในออสเตรเลียในช่วงทศวรรษ 1950 คือ แยกลูกครึ่งอินเดียนกับผิวขาวจำนวนหนึ่งไปให้พ่อแม่บุญธรรมเลี้ยง บ้างก็เอาไปเลี้ยงในครอบครัวอุปถัมภ์ บ้างก็ในสถานสงเคราะห์

พ่อของ Richard ตายเมื่อเขาอายุได้ 3 ขวบ แม่นำเขาและน้องสาวอีกสองคนกลับไปอาศัยในถิ่นพำนักของ Métis ที่รัฐบาลจัดไว้ให้  ตอนอายุ 8-9 ขวบก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเอาตัวไปเลี้ยงในครอบครัวอุปถัมภ์

เมื่ออายุ 16 ปีก็เริ่มเป็นชาวประมงและมีฐานะขึ้นบ้างจากการเป็นเจ้าของเรือและธุรกิจเชื่อมโลหะขนาดเล็ก สรุปว่ามีชีวิตที่ลำบาก ต้องปากกัดตีนถีบ ท่ามกลางการเป็น “คนแปลกแยก” บนแผ่นดินของบรรพบุรุษ

ส่วน Eddy ซึ่งแท้จริงเป็นอินเดียนนั้นโชคดีกว่ามาก เพราะครอบครัวยูเครนของเขามีฐานะดี เติบโตอย่างไม่ลำบากกับพี่สาว 3 คนในครอบครัวอบอุ่น Eddy ไม่ค่อยเปิดเผยชีวิตในวัยเติบโตที่สบายมากนัก อาจเป็นเพราะไม่ต้องการให้เห็นข้อแตกต่างจาก Richard ผู้ซึ่งสมควรได้รับสิ่งดีๆ เหล่านั้นอย่างแท้จริง ผู้โชคดีสี่คนคือพ่อแม่ของทั้งสองครอบครัวที่เสียชีวิตไปก่อนที่จะรู้ความจริง

สองปีแห่งความตาลปัตรของชีวิตและความทรมานใจ ปัจจุบัน Eddy เป็นกำลังสำคัญในการฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเรียกร้องสิทธิในการเป็น Métis เพื่อให้ลูกหลานได้รับเงินชดเชยจากนโยบายแก้ไขความผิดพลาดที่ภาครัฐได้กระทำในอดีตกับเหล่าอินเดียน

เรื่องนี้เตือนใจให้นึกถึงประโยคที่ว่า “Life is random” หรือ “ชีวิตคือการสุ่มเลือก” ไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับตนเองในเวลาใด เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์อย่าง “สุ่มเลือก” อยู่ดีๆ ก็เกิดอย่างไม่มีแบบไม่มีแผน และไม่มีคำอธิบาย

เช่น ถูกสลับร่าง ความป่วยไข้ อุบัติเหตุ การเป็นโรคร้ายแรง ฯลฯ (ความเชื่อในศาสนาพุทธเรื่องเวรกรรมอาจเกิดขึ้นเพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่างๆ จากการสุ่มเลือก) 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะเชื่อเรื่องเวรกรรม หรือเชื่อเรื่องชาตินี้ชาติหน้าหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือควรดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างระแวดระวัง อะไรที่ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงชีวิตก็ไม่ควรเสี่ยง (นั่งเรือกับการมีห่วงชูชีพ) จงเสี่ยงเฉพาะเรื่องที่จำเป็นต้องเสี่ยงเท่านั้น (ฉีดวัคซีน)

อีกประโยคหนึ่งที่นึกถึงก็คือ Murphy’s Law (If any thing can go wrong, it will go wrong. หากสิ่งผิดพลาดใดสามารถเกิดได้มันจะเกิดขึ้น) กฎที่คนในโลกตะวันตกรู้จักกันดี หากทารกเกิดใหม่ถูกสลับร่างอย่างผิดพลาดในแคนาดา โดยมีเด็กเกิดไม่กี่คนในช่วงเวลาเดียวกันได้ เหตุใดความผิดพลาดอย่างเดียวกันจะเกิดขึ้นไม่ได้ในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ทันสมัยเท่า ถึงแม้จะระวังอย่างดีแล้วก็ตาม

ใครที่กำลังจะมีลูกคงรู้สึกสยอดสยองหากจินตนาการถึงเหตุการณ์เช่นนี้ว่า อาจเกิดขึ้นกับลูกตนเอง เราต้องเลี้ยงลูกใครไว้ก็ไม่รู้และลูกเราจะตกระกำลำบากอย่างไร ขาดโอกาสแห่งการมีชีวิตและอนาคตที่ดีเพียงใดก็ไม่รู้

เรื่องเช่นนี้แก้ไขได้หากไม่มีความประมาทในการใช้มาตรการที่เชื่อว่าระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้ว ต้องไม่ลืมว่า Murphy’s Law มันทำงานเสมอและจะทำต่อไปอีกนานเท่านาน

ความประมาทเป็นหนทางสู่ความตายอย่างแน่นอน แต่ระหว่างทางนั้นความประมาทร้ายแรงกว่าหนาม เพราะหนามแค่ทิ่มตำเนื้อแต่ความประมาทนั้นทิ่มแทงหัวใจได้อย่างฉกาจฉกรรจ์