'เจโทร'ชวนสตาร์ตอัปญี่ปุ่น โชว์เทคโนโลยีสุดล้ำ รุกธุรกิจไทย

'เจโทร'ชวนสตาร์ตอัปญี่ปุ่น โชว์เทคโนโลยีสุดล้ำ รุกธุรกิจไทย

'เจโทร'ชวนสตาร์ตอัปญี่ปุ่น โชว์เทคโนโลยีสุดล้ำ รุกธุรกิจไทย โดยในปี 2565 มีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์ ยอดเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่นอยู่ที่ 877,400 ล้านเยน

เมื่อโลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยบรรดาธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ต่างพยายามแสวงหาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยให้ดำเนินธุรกิจง่ายขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

Techsauce Global Summit 2023 หรือ งานประชุมด้านเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักลงทุนและผู้ประกอบการนานาชาติ ร่วมธุรกิจและสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้ยั่งยืน ทั้งยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) และสตาร์ตอัปทั่วโลก ได้พาร์ทเนอร์ร่วมงานมากขึ้น ซึ่งงานจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 16-17 ส.ค. ที่ผ่านมา

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) สำนักงานกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่อสร้างโอกาสให้สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีญี่ปุ่น ได้ขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศเช่นกัน 

เจโทรเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ปีนี้คัดเลือกสตาร์ตอัปมางานทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ บริษัท Asuene Inc., AWL, Inc., Credit Engine Inc., Finger Vision Inc., HYPERITHM Co.Ltd., INTER HOLDINGS Inc., Melody International Ltd., Thermalytica Inc., Waqua Inc., และ Zeroboard (Thailand) Co., Ltd.

“เอสุเกะ มัตสึอุระ” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่น บอกว่า เจโทร มีเกณฑ์การเลือกบริษัทสตาร์ตปอัปเทคฯ โดยพิจาณาจาก 1.บริษัทต้องเป็นสตาร์ตอัป 2.เข้ากับคอนเซปต์ของงาน Techsauce ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Deep Tech หรือเทคโนโลยีขั้นสูง, ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), Web 0.3, ฟินเทค และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม 3.มีความโดนเด่นและมีความน่าสนใจในตลาดไทย เพราะเจโทรมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร และร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ตอัปของเมืองไทย จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับความสนใจของสตาร์ตอัปในเมืองไทยอยู่บ้าง

เนื่องด้วยสตาร์ตอัปส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น เริ่มต้นธุรกิจมาจากการวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย เช่น การวิจัยด้านชีววิทยา อวกาศ อาหาร หุ่นยนต์ เอไอ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นหรือเจโทร ก็เข้าไปส่งเสริมการวิจัยเหล่านั้นให้กลายมาเป็นสตาร์ตอัป 

“ซาวาดะ คาโยโกะ” ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่น กล่าวว่า "เจโทรเข้ามามีบทบาทส่งเสริมสตาร์ตอัป ด้วยการสนับสนุนการทำวิจัย และช่วยผลักดันเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้น ๆ ให้กลายเป็นธุรกิจได้ อย่างไรก็ตาม แม้เจโทรไม่ได้มีส่วนช่วยด้านเงินทุนโดยตรง แต่ยังมีหน่วยงานอื่นที่ให้เงินทุนกับบริษัทสตาร์ตอัป"

เมื่อถามถึงการเติบโตของสตาร์ตอัปญี่ปุ่น มัตสึอุระ เผยว่า ในปี 2565 เกิดการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์ และเริ่มขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ยอดเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่นอยู่ที่  877,400 ล้านเยน และสตาร์ตอัปเทคฯที่ได้รับเงินทุนมาก ส่วนใหญ่เป็นเอนเทอร์ไพรส์เทค หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในองค์กร, Software as a Service (SaaS) หรือการให้บริการด้านซอฟแวร์ และเทคโนโลยีเอไอ 

เจโทรคาดว่า ยอดการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปจะเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน เจโทรและรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัปทุกด้านอย่างต่อเนื่อง

ตอนแรกเจโทรคาดหวังเพียงว่า พาร์ทเนอร์ไทย จะนำเทคโนโลยีญี่ปุ่นมาแก้ไขปัญหาในการทำธุรกิจต่าง ๆ ในเมืองไทย แต่การเข้าร่วมงานครั้งนี้ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เพราะเจโทรได้รับผลตอบรับดีมาก เนื่องจากมีบริษัทขนาดใหญ่ในไทย ให้ความสนใจสตาร์ตอัปเทคญี่ปุ่นด้วย 

งาน Techsauce ครั้งถัดไป เจโทร เผยว่า ยังมีสตาร์ตอัปญี่ปุ่นอีกหลายบริษัท ที่กำลังทำแผนธุรกิจอยู่ และสนใจอยากมางานนี้จำนวนมาก หวังว่าพาร์ทเนอร์ไทยจะสนใจเทคฯจากสตาร์ตอัปญี่ปุ่นมากขึ้น

สำหรับสตาร์ตอัปเทคฯ ที่กรุงเทพธุรกิจมองว่า สามารถช่วยหนุนการเติบโตและช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้ามาขึ้น คือ เทคโนโลยีวิเคราะห์ลูกค้าด้วยกล้องและเอไอของบริษัท AWL, Inc. มินะ ทสึจิดะ

บริษัทนี้ผลิตกล้องและให้บริการระบบประมวลผลด้วยเอไอ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลลูกค้า เหมาะสำหรับร้านค้าซูเปอร์มาเก็ต หรือร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลไปทำการตลาดให้กับธุรกิจ โดยระบบเอไอจะช่วยเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเพศ คาดคะเนอายุลูกค้า และคำนวณเวลายืนดูสินค้าของลูกค้า ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ สามารถบอกธุรกิจได้ว่า ลูกค้ากลุ่มใด สนใจสินค้าชนิดใดเป็นพิเศษ แต่ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนได้ ถ้าพื้นที่ที่กล้องตรวจจับใบหน้ามีแสงน้อย

อย่างไรก็ตาม "มินะ ทสึจิดะ" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ AWL, Inc. บอกว่า การทำงานของระบบเอไอไม่ผิดกฎหมาย PDPA หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากระบบไม่ได้บันทึกข้อมูลส่วนตัว หรือบันทึกใบหน้าลูกค้า และไม่ได้นำไปเผยแพร่ เพียงแต่คาดคะเนข้อมูลลูกค้าเบื้องต้น เพื่อทำการตลาดให้บริษัทต่อไป

ตอนนี้ AWL, Inc. มีพาร์ทเนอร์ในญี่ปุ่นประมาณ 3,000 กว่าร้านแล้ว และมีใบอนุญาตใช้ระบบมากกว่า 10,000 ใบ และบริษัทหวังว่าสถานที่ที่ใช้กล้องวงจรปิด จะสนใจใช้ระบบนี้มากขึ้น เรียกได้ว่าที่ใดใช้กล้อง ที่นั่นสามารถใช้ระบบนี้ได้ เพราะบริษัทอยากขยายขีดความสามารถของเทคโนโลยี ให้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

ทั้งนี้ ค่าบริการระบบไม่เกิน 200,000 เยนต่อปี หรือไม่เกิน 48,600 บาทต่อปี และสามารถซื้อระบบแบบซื้อขาดได้ แต่ถ้าเสียค่าบริการ 4,000 เยนต่อเดือน บริษัทจะช่วยดูแลระบบและให้บริการช่วยเหลืออื่น ๆ ด้วย