'ไบเดน' พร้อมเจอ 'คิมจองอึน' เจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์

'ไบเดน' พร้อมเจอ 'คิมจองอึน' เจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า โจ ไบเดน มีความเต็มใจที่จะพบปะกับ คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อหารือในเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์

นายจอห์น เคอร์บี โฆษกฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นว่า โจ ไบเดน ได้เสนอแผนเรื่องการจัดการประชุมแบบพบหน้ากันระหว่าง โจ ไบเดน และ คิมจองอึน เพื่อหารือเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีเหนือยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอ แต่แผนนี้ก็ยังคงอยู่บนโต๊ะเจรจา โดยยืนยันว่าทางสหรัฐฯ ยินดีที่จะพบปะและเจรจากับเกาหลีเหนือโดยไม่มีเงื่อนไข

การให้สัมภาษณ์ของนายเคอร์บีมีขึ้นเพียงหนึ่งวัน ก่อนที่ไบเดนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดไตรภาคีร่วมกับผู้นำญี่ปุ่นและผู้นำเกาหลีใต้ โดยประเด็นเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่รวดเร็วของเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุม

ที่ผ่านมา รัฐบาลของไบเดนมีการพูดคุยกับรัฐบาลเกาหลีเหนือในเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ผ่านการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ใช่ในระดับผู้นำ ซึ่งแตกต่างจากสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้พบกับ คิมจองอึน ด้วยตัวเองถึง 3 ครั้ง ซึ่งขณะนี้ คณะทำงานของไบเดนกำลังพยายามทำงานอย่างหนักที่จะเชิญเกาหลีเหนือ กลับมาร่วมโต๊ะเจรจาเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวของทำเนียบขาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีขึ้นหลังจากเกาหลีเหนือเปิดเผยว่า พลทหารอเมริกันต้องการลี้ภัยในเกาหลีเหนือ หรือประเทศที่ 3 เพราะได้รับการฏิบัติที่ไม่ดี และถูกเหยียดผิวในกองทัพสหรัฐฯ

สำนักข่าวกลางของเกาหลีเหนือ (KCNA) รายงานว่า ทางการเกาหลีเหนือได้ข้อสรุปว่า พลทหารชาวอเมริกัน "ทราวิส คิง" วัย 23 ปี ต้องการลี้ภัยในเกาหลีเหนือ หรือประเทศที่ 3 เพราะได้รับการฏิบัติที่ไม่ดีและถูกเหยียดผิวในกองทัพสหรัฐฯ

รายงานของ KCNA ซึ่งถือเป็นการยอมรับต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของเกาหลีเหนือ เรื่องที่พลทหารคิงข้ามชายแดนเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ระบุว่า พลทหารคิงรับสารภาพว่า เขาตัดสินใจข้ามพรมแดนไปยังเกาหลีเหนือ หลังจากต้องทนเก็บงำความรู้สึกที่ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ถูกเลือกปฏิบัติด้านสีผิวในกองทัพสหรัฐฯ และต้องการลี้ภัยอยู่ในเกาหลีเหนือ หรือไม่ก็ประเทศที่ 3 เพราะเขาไม่แยแสสังคม อเมริกันที่ไม่เท่าเทียม