ไทยจะใช้ "วิธีอิเมลดา" แก้ปัญหาความยากจน?

ไทยจะใช้ "วิธีอิเมลดา" แก้ปัญหาความยากจน?

ท่ามกลางภาวะไร้ความกระจ่างของการจัดตั้งรัฐบาลหลังเวลาผ่านไปกว่า 3 เดือน จากวันที่ประชาชนออกเสียงว่าใครควรเป็นผู้นำ ปัญหาความยากจนของประชาชนมิได้ลดลง

ตรงข้าม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหากำลังหนักหนาสาหัสขึ้น ในขณะที่นักการเมืองถกกันเรื่องการปันผลประโยชน์และจะทำอะไรก่อนหลัง รวมทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ในภาวะนี้ มีผู้เสนอว่าปัญหาความยากจนจะหมดไปด้วยการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ในขณะที่นักการเมืองถกกันเรื่องการปันผลประโยชน์และจะทำอะไรก่อนหลัง รวมทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ในภาวะนี้ มีผู้เสนอว่าปัญหาความยากจนจะหมดไปด้วยการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

การแก้ปัญหาในแนวนี้ไม่น่าสำเร็จได้ นอกจากจะใช้วิธีที่นางอิเมลดา มาร์กอส เคยใช้ เนื่องจากเวลาได้ผ่านไปกว่า 50 ปีจากช่วงที่นางอิเมลดาเริ่มเรืองอำนาจและมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ และคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เกิด จึงขอเล่าเรื่องราวที่ให้กำเนิดแก่ “วิธีอิเมลดา”

นางอิเมลดา เป็นภรรยาของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2508-2529 ในช่วงเวลากว่า 20 ปีนั้นมีเหตุการณ์หลากหลายเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ ที่ส่งผลให้นายมาร์กอสบริหารประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จไม่ต่างกับเผด็จการทหาร

เช่น การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นเวลานาน การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และการสังหารคู่แข่งเมื่อแน่ใจว่าสู้ไม่ได้ เป้าหมายหลักของการบริหารประเทศแบบเผด็จการของเขา ได้แก่ การสร้างความร่ำรวยด้วยวิธีฉ้อฉลให้ครอบครัวของเขา ของญาติ และของพรรคพวก 

ความฉ้อฉลส่งผลให้อุตสาหกรรมมะพร้าวถูกทำลาย ทั้งที่มันมีขนาดใหญ่ถึงกับทำให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ส่งออกผลผลิตมะพร้าวมากที่สุดในโลก พร้อมกับการทำลายเศรษฐกิจจนเกิดวิกฤติซ้ำซาก จากสภาพล้มลุกคลุกคลานที่ดูจะไม่มีความหวังเหลืออยู่นั้น มีผู้ขนานนามฟิลิปปินส์ว่า “คนป่วยแห่งเอเชีย” (Sick Man of Asia)

ความล้มลุกคลุกคลานกับเหตุการณ์สังหารคู่ต่อสู้เมื่อรู้ว่าตนจะต้องพ่ายแพ้ นำไปสู่การประท้วงอย่างกว้างขวาง นายมาร์กอสถูกขับไล่จนต้องหนีไปลี้ภัยและตายในต่างประเทศ

ไทยจะใช้ \"วิธีอิเมลดา\" แก้ปัญหาความยากจน?

การสอบสวนพบว่าเขาสร้างความร่ำรวยด้วยการยักยอกเงินรัฐไปใกล้ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลต่อๆ มาพยายามค้นหาและยึดคืนจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งในธนาคารต่างประเทศ

การคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเอื้อให้นายมาร์กอสแต่งตั้งภรรยาเป็นผู้ว่าการกรุงมนิลาและปริมณฑลได้แบบไร้การต่อต้าน

ในระหว่างที่นางอีเมลดาดำรงตำแหน่งอยู่นั้น ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเลือกกรุงมะนิลาเป็นสถานที่ประชุมประจำปีขององค์กรในตอนต้นเดือนตุลาคม 2519

การประชุมนั้นเป็นงานใหญ่ซึ่งมีผู้ไปร่วมนับพันจากประเทศทั่วโลก พร้อมกับมีสื่อสำนักใหญ่ๆ ไปทำข่าว ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของนางอีเมลดาที่จะต้องบริหารการปัดกวาดทำความสะอาดกรุงมะนิลาให้หน้าตาสดใสพร้อมรับแขกเมืองได้อย่างสมเกียรติ

ขอเรียนว่าเมื่อใกล้ถึงเวลานั้น ผมได้ไปอาศัยอยู่ในกรุงมะนิลาเป็นเวลากว่าปีครึ่ง จึงรู้สภาพของกรุงมะนิลาว่าส่วนไหนดูสะอาดดีและส่วนไหนที่เสื่อมโทรมจนอยู่ในสภาพที่เรียกว่าสลัม ใกล้บ้านที่ผมเช่าอยู่มีสลัมขนาดใหญ่และถนนที่ผมเดินทางไปทำงานต้องผ่านหลายแห่งที่อยู่ในสภาพแออัดและรกตา

 ผมจึงเห็นวิธีการแก้ปัญหาของนางอิเมลดาโดยตรง เช่น ให้สร้างรั้วไม้ระแนงทาด้วยสีขาวพอบังสายตาของผู้ที่อยู่ในรถผ่านไปมาได้

ส่วนสลัมขนาดใหญ่ให้สร้างกำแพงสังกะสีทึบสูงท่วมหัวล้อมรอบพร้อมกับประตูหน้าขนาดใหญ่และตรงเหนือประตูมีป้ายเขียนข้อความไว้ว่า “ศูนย์สันทนาการ” (Recreation Center) เพียงเท่านั้น สลัมก็หมดไปพร้อมกับได้ศูนย์สันทนาการขึ้นมาแทน 

การสันทนาการเกิดผลเป็นที่ประจักษ์เนื่องจากมีเด็กจำนวนมากวิ่งเล่นให้เห็นอยู่เมื่อประตูเปิดค้างไว้ เมื่อใดที่มีใครอ้างถึงแหล่งเสื่อมโทรม นางอิเมลดามักตอบแบบหน้าตายว่า “ไม่มี”

สิ่งที่ได้เห็นในกรุงมะนิลามากับตา พอสรุปได้ว่า การแก้ปัญหาของนางอิเมลดามีทั้งทำจริงบ้าง ปิดบังบ้าง ปฏิเสธว่ามีปัญหาบ้างและเปลี่ยนนิยามบ้าง การเสนอว่าปัญหาความยากจนของคนไทยจะแก้ได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงทำได้โดยอาศัยวิธีที่นางอีเมลดาใช้ นั่นคือ เปลี่ยนนิยามของความยากจน.