‘OceanGate’ ผู้สร้างเรือไททัน คิดการใหญ่ ส่งคนไปอยู่ ‘ดาวศุกร์’ ภายในปี 2593

‘OceanGate’ ผู้สร้างเรือไททัน คิดการใหญ่ ส่งคนไปอยู่ ‘ดาวศุกร์’ ภายในปี 2593

แม้ผ่านเหตุการณ์เรือไททันระเบิดไปไม่นาน บริษัท OceanGate ออกโครงการใหม่ คิดแผนใหญ่ส่งมนุษย์ไปอยู่บนชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ ซึ่งเต็มไปด้วยกรดกำมะถัน แล้วอะไรที่ทำให้ OceanGate เลือกไปดาวศุกร์มากกว่าดาวอังคารและดวงจันทร์

Key Points

  • ภายในดาวศุกร์เต็มไปด้วยภูเขาไฟหลายพันแห่ง มีการปะทุอยู่เป็นระยะ และมีความกดอากาศสูงประมาณ 90 เท่าของความกดอากาศบนพื้นผิวโลก
  • ภาวะเรือนกระจกที่หนาแน่น ทำให้ดาวศุกร์กลายเป็นดาวร้อนที่สุดในระบบสุริยะ สูงถึง 480 องศาเซลเซียส
  • “แรงโน้มถ่วง” ของดาวศุกร์อยู่ที่ประมาณ 1G ใกล้เคียงโลกมากที่สุด ขณะที่ดวงจันทร์ มีแรงโน้มถ่วงเท่ากับ 0.17G และดาวอังคารมีแรงโน้มถ่วงที่ 0.38G


จากโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตผู้โดยสาร 5 คนในเรือไททันของบริษัท “OceanGate” ซึ่งลงไปสำรวจซากเรือไททานิกเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตรวมถึง “สต็อกตัน รัช” (Stockton Rush) ผู้ก่อตั้งบริษัท OceanGate ด้วยนั้น

แต่ล่าสุด กิลเยร์โม โซห์นไลน์ (Guillermo Söhnlein) ผู้ร่วมก่อตั้ง OceanGate ยังไม่ย่อท้อ และเตรียมแผนการใหญ่คือ การส่งมนุษย์ 1,000 คนขึ้นไปอาศัยบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ภายในปี 2593

สำหรับเหตุผลที่โซห์นไลน์ตัดสินใจส่งมนุษย์ไปดาวศุกร์ แทนที่จะเป็นดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด หรือดาวอังคารเหมือนกับแนวคิดของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัทสำรวจอวกาศ SpaceX นั้น เป็นเพราะ “แรงโน้มถ่วง” ซึ่งดาวศุกร์อยู่ที่ประมาณ 1G ใกล้เคียงโลกมากที่สุด ขณะที่ดวงจันทร์ มีแรงโน้มถ่วงเท่ากับ 0.17G และดาวอังคารมีแรงโน้มถ่วงที่ 0.38G

  • สภาพแวดล้อมดาวศุกร์เหมือน “เตาหลอม”

ดาวศุกร์นับเป็นดาวลำดับที่ 2 ในระบบสุริยะซึ่งอยู่ถัดจากดาวพุธที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด  ด้วยความที่ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกรดซัลฟิวริกหรือกรดกำมะถันอันหนาทึบ จึงทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่เข้ามาถูกกักเก็บไว้ภายใต้ผืนผิว ดาวศุกร์จึงกลายเป็นดาวร้อนที่สุดในระบบสุริยะ สูงถึง 480 องศาเซลเซียส จนได้ฉายาว่าเป็น “ดาวแห่งเตาหลอมเหล็ก”  

‘OceanGate’ ผู้สร้างเรือไททัน คิดการใหญ่ ส่งคนไปอยู่ ‘ดาวศุกร์’ ภายในปี 2593

- ลักษณะดาวศุกร์ (เครดิต: NASA) -

ยิ่งไปกว่านั้น ภายในดาวยังเต็มไปด้วยภูเขาไฟหลายพันแห่ง มีการปะทุอยู่เป็นระยะ และมีความกดอากาศสูงประมาณ 90 เท่าของความกดอากาศบนพื้นผิวโลก หรือเท่ากับความกดดันที่ระดับความลึก 1,000 เมตรใต้มหาสมุทรโลก

จากสภาพอันหฤโหดของดาวศุกร์ดังกล่าว เบเลน โอ (Belen Ou) วิศวกรเครื่องกลแห่งมหาวิทยาลัย Northeastern ซึ่งทำงานด้านโดรนที่อาจใช้ในการลงจอดบนดาวศุกร์ กล่าวว่า “ดาวศุกร์เปรียบเหมือนนรกบนดิน

‘OceanGate’ ผู้สร้างเรือไททัน คิดการใหญ่ ส่งคนไปอยู่ ‘ดาวศุกร์’ ภายในปี 2593 - พื้นผิวดาวศุกร์ (เครดิต: NASA) -

  • ทำไมไป “ดาวศุกร์” ทั้งที่อันตราย

โซห์นไลน์ยังมองว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบัน เชื่อได้ว่าในอนาคต มนุษย์จะสามารถเอาชนะและปรับตัวกับสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายในดาวอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นรังสี อุณหภูมิ แรงกดดัน อาหาร น้ำ อากาศสำหรับหายใจ ฯลฯ แต่ไม่ใช่สำหรับ “แรงโน้มถ่วง” ที่มนุษย์จะสามารถสร้างได้เองบนดาว

โซห์นไลน์เสริมว่า แรงโน้มถ่วงที่น้อยกว่า 1G ถือเป็นความเสี่ยงที่มนุษย์ในปัจจุบันอาจไม่สามารถสืบพันธุ์ หรือทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ขึ้น ซึ่งจะทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์จบสิ้นลงในรุ่นแรก หากไปอาศัยในดาวอังคารหรือดวงจันทร์

  • แผนตั้งอาณานิคมบนดาวศุกร์

บริเวณที่บริษัท OceanGate จะส่งมนุษย์ไปอาศัย ไม่ใช่อยู่บนพื้นผิวดาวศุกร์ที่ร้อนถึง 480 องศาเซลเซียส แต่เป็นการอาศัยที่ “ชั้นบรรยากาศดาวศุกร์” ซึ่งอยู่เหนือพื้นผิวดาวขึ้นไป 50 กิโลเมตร ในรูปแบบ “เมืองลอยได้” คล้ายในภาพยนตร์ “Star Wars”

‘OceanGate’ ผู้สร้างเรือไททัน คิดการใหญ่ ส่งคนไปอยู่ ‘ดาวศุกร์’ ภายในปี 2593

- OceanGate จะส่งมนุษย์ไปอาศัยที่ชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ ซึ่งหนาแน่นไปด้วยกรดซัลฟิวริก (เครดิต: Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory) -

ที่ชั้นบรรยากาศนี้ แม้จะหนาแน่นไปด้วยกรดซัลฟิวริก แต่มีแรงโน้มถ่วงและความกดดันใกล้เคียงกับโลก อุณหภูมิประมาณ 25-50 องศาเซลเซียส และภาวะเรือนกระจกที่หนาของดาวยังช่วยกรองรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์

ส่วนอันตรายจากกรดซัลฟิวริกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทาง OceanGate กำลังพัฒนาอุปกรณ์ช่วยหายใจและเครื่องแบบทนทานต่อกรดสูง แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดมากนัก

จึงเป็นที่น่าติดตามต่อสำหรับโครงการแสวงหา “บ้านใหม่” ของบริษัท OceanGate ในยุคที่มนุษย์มีการบริโภคมหาศาล แต่โลกมีทรัพยากรจำกัด อีกทั้งยังมีความเสี่ยงทางภัยพิบัติครั้งใหญ่ในอนาคต การมีบ้านสำรองอาจจะช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสรอดให้กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้

อ้างอิง: humans2venushumans2venus(2)popularmechanicsnasa